คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7773/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 225, 291 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ม. 8, 55 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการเพื่อความปลอดภัยฯ
จำเลยเป็นเจ้าของสถานประกอบการโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีจักรเย็บผ้าไฟฟ้า 21 ตัว และมีคนงานหญิง 15 คนจำเลยจึงเป็นนายจ้างและเป็นเจ้าของโรงงานจำพวกที่ 1ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ลำดับที่ 28(1) ในอันที่จะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงมหาดไทย โรงงานของจำเลยเป็นตึกแถว 3 ชั้นต่อเติมเป็น 4 ชั้นมีประตูเหล็กยึดที่ชั้นล่างใช้เป็นทางเข้าออกทางเดียวส่วนทางขึ้นดาดฟ้านั้นโดยสภาพไม่ใช่ทางเข้าออก นอกจากนี้ยังปรากฏว่าทางขึ้นดาดฟ้าครอบด้วยตะแกรงเหล็กมีประตูเปิดปิด แต่ล็อกกุญแจไว้ ส่วนหน้าต่างของตึกแถวแต่ละชั้นติดเหล็กดัดทุกบาน เหล็กดัดดังกล่าวปิดตายไว้ทุกบานไม่สามารถเปิดออกได้ เกี่ยวกับการจัดเก็บรักษาวัตถุหรือสิ่งของภายในอาคารที่เกิดเหตุนั้น โรงงานของจำเลยไม่มีห้องจัดเก็บพัสดุที่ใช้ แต่ได้วางไว้ทั่วไปตามพื้นที่ปฏิบัติงาน รวมทั้งตามบันไดขึ้นลงด้วย โดยจำเลยไม่ได้จัดเก็บรักษาเสื้อผ้าซึ่งเป็นวัตถุที่เป็นสื่อให้เกิดอัคคีภัยได้ง่ายให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและในที่ปลอดภัยการกระทำของจำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ฉบับที่ 2(พ.ศ. 2535) ข้อ 5(3)(10) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานสำหรับลูกจ้าง ฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2534 ข้อ 4 ระบุให้นายจ้างจัดให้มีแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการเกี่ยวกับการตรวจตรา การอบรม การรณรงค์ป้องกันอัคคีภัย การดับเพลิง การอพยพหนีไฟ การบรรเทาทุกข์และการปฏิรูปพื้นฟูเมื่อเกิดอัคคีภัยขึ้นแล้ว และให้นายจ้างเก็บแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยไว้ ณ สถานที่ทำงานพร้อมที่จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ และข้อ 33ระบุให้นายจ้างจัดให้มีระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ในสถานประกอบการโดยให้ปฏิบัติ ดังต่อไปนี้คือ สถานประกอบการตั้งแต่สองชั้นไปต้องติดตั้งระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ชนิดเปล่งเสียงให้ลูกจ้างที่ทำงานในอาคารได้ยินอย่างทั่วถึง โดยมีระดับความดังของเสียงไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยเดซิเบล(เอ) วัดห่างจากจุดกำเนิดของเสียงหนึ่งเมตรโดยรอบ แต่จำเลยไม่ได้จัดทำแผนป้องกันหรือระงับอัคคีภัย ไม่มีระบบสัญญาณเตือนภัย นอกจากนี้เมื่อสำนักงานจัดหลักสูตรอบรมอาสาสมัครป้องกันพลเรือนเกี่ยวกับการป้องกันหรือระงับอัคคีภัยโดยมีการประกาศเชิญชวนทางหนังสือพิมพ์และเครื่องขยายเสียง แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้สมัครเข้ารับการอบรมแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยซักซ้อมกับคนงานว่าหากมีเหตุเพลิงไหม้บริเวณชั้นบนให้หนีออกทางประตูชั้นล่าง หากเพลิงไหม้บริเวณชั้นล่างให้หนีออกทางดาดฟ้าการซักซ้อมวิธีหนีไฟของจำเลยดังกล่าวไม่อาจจัดว่าเป็นแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยตามความมุ่งหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวเช่นกัน
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225, 291, 91 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 8, 45กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ข้อ 5(3)(10) ออกตามความในมาตรา 6, 8 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานสำหรับลูกจ้าง ฉบับลงวันที่21 พฤศจิกายน 2534 ข้อ 4 ข้อ 33(1) และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 8
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 8, 45 กฎกระทรวง ฉบับที่ 2(พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535ข้อ 5(3)(10) ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานสำหรับลูกจ้าง ฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2534 ข้อ 4 ข้อ 33(1) และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 8 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงานปรับ200,000 บาท ความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศของคณะปฏิวัติ จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 6 เดือน และปรับ 200,000 บาทไม่ชำระค่าปรับบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันและไม่โต้เถียงกันว่า จำเลยเป็นเจ้าของสถานประกอบการโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีจักรเย็บผ้าไฟฟ้าจำนวน 21 ตัว คนงานหญิง 15 คน ตึกแถวที่เกิดเหตุเป็นอาคาร 3 ชั้น แต่ได้ต่อเติมเป็น 4 ชั้น ชั้นล่างใช้วางเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ตัดเย็บเสร็จแล้ว มีประตูเหล็กยึดใช้เป็นทางผ่านเข้าออกทางเดียว ไม่มีบันไดหนีไฟ ชั้นล่างทำเป็นชั้นลอยมีการต่อเติมส่วนนี้จดด้านหน้าของตัวอาคาร ด้านหน้าเป็นห้องพักของนายซ่งซิวกับนางเง็กหง อัศวนนทวงศ์ บิดามารดาจำเลยด้านหลังใช้ตั้งจักรเย็บผ้า 11 ตัว ชั้น 2 ใช้เป็นที่ตั้งจักรเย็บผ้า 10 ตัว ชั้น 3 มีห้องพัก 2 ห้อง ห้องหนึ่งเป็นห้องพักของนายวิโรจน์น้องชายจำเลย อีกห้องหนึ่งเป็นห้องพักของคนงานหญิงจำนวน 11 คน ชั้น 4 มีห้องพระและห้องพักของนายวิสุทธิ์น้องชายจำเลย มีทางขึ้นดาดฟ้าทำเป็นตะแกรงเหล็กครอบ มีประตูเปิดออกสู่ดาดฟ้าล็อกด้วยกุญแจ ส่วนหน้าต่างของอาคารทุกชั้นติดเหล็กดัดไว้ทุกบาน ตามวันเวลาเกิดเหตุดังฟ้องได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นที่ชั้นลอยหน้าห้องพักของนายซ่งซิวซึ่งมีกองผ้าวางสุมอยู่บริเวณจักรเย็บผ้าตัวที่ 2และที่ 3 แล้วลุกลามไปตามกองผ้าที่วางตามขั้นบันไดขึ้นถึงชั้น 2 และชั้น 3 ขณะเกิดเหตุเพื่อนบ้านช่วยกันทุกช่องลมชั้นล่างและนำตัวนายซ่งซิงกับนางเง็กหงอออกมาได้ส่วนนายวิโรจน์ นายวิสุทธิ์ และนางสาวพิศมัยคนงานคนหนึ่งได้หนีไฟออกมาทางดาดฟ้า ภายหลังที่เจ้าพนักงานตำรวจดับเพลิงได้ทำการควบคุมเพลิงจนสงบแล้ว พบว่าคนงานของจำเลยหลบหนีไฟไม่ทันถูกไฟคลอกถึงแก่ความตาย 210 คน มีรายนามตามฟ้อง
มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ข้อ 5(3)(10)ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 6 และมาตรา 8 กับฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานสำหรับลูกจ้าง ฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2534 ข้อ 4 ข้อ 33(1) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของสถานประกอบการโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีจักรเย็บผ้าไฟฟ้า 21 ตัว และมีคนงานหญิง 15 คน จำเลยจึงเป็นนายจ้างและเป็นเจ้าของโรงงานจำพวกที่ 1 ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวง(พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535ลำดับที่ 28(1) ในอันที่จะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวข้างต้น ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ข้อ 5(3) ระบุว่า "มีประตูหรือทางออกให้พอกับจำนวนคนในโรงงานที่จะหลบหนีภัยออกไปได้ทันท่วงทีเมื่อมีเหตุฉุกเฉินขึ้นอย่างน้อยสองแห่งอยู่ห่างกันพอสมควร บานประตูเปิดออกได้ง่ายมีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 110 เซ็นติเมตร และสูงไม่น้อยกว่า200 เซนติเมตร" และข้อ 5(10) ระบุว่า "จัดให้มีที่เก็บรักษาวัตถุหรือสิ่งของที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรืออัคคีภัยได้ง่ายไว้ในที่ปลอดภัย" สำหรับโรงงานของจำเลยเป็นตึกแถว 3 ชั้นต่อเติมเป็น 4 ชั้น มีประตูเหล็กยึดที่ชั้นล่างใช้เป็นทางเข้าออกทางเดียว ส่วนทางขึ้นดาดฟ้านั้นโดยสภาพหาใช่ทางเข้าออกไม่ นอกจากนี้ยังปรากฏว่าทางขึ้นดาดฟ้าครอบด้วยตะแกรงเหล็ก มีประตูเปิดปิด แต่ล็อกกุญแจไว้ ส่วนหน้าต่างของตึกแถวแต่ละชั้นติดเหล็กดัดทุกบาน ซึ่งโจทก์มีนางสาวพิศมัย จู่มา ลูกจ้างของจำเลยเบิกความว่า เหล็กดัดดังกล่าวปิดตายไว้ทุกบาน ไม่สามารถเปิดออกได้ ความข้อนี้โจทก์มีนายธีระพันธุ์ สนิมทอง ช่างโยธา 3 ประจำสำนักงานเขตบางคอแหลม ร้อยตำรวจเอกดุสิต ภูกาสร เจ้าพนักงานตำรวจดับเพลิง และร้อยตำรวจโทภักดี ศุภวิริยกุล ประจำกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ เป็นต้น ซึ่งไปตรวจสถานที่เกิดเหตุเบิกความสนับสนุนที่จำเลยนำสืบว่า บานหน้าต่างที่ติดเหล็กดัดไว้สามารถเปิดออกได้นั้น เป็นการนำสืบกล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ หากเป็นจริงคนงานหญิงที่ถูกไฟคลอกจนถึงแก่ความตายอยู่ตามขั้นบันได 1 ศพ อยู่ในห้องพักชั้น 4 จำนวน 1 ศพ และอยู่ในห้องพักชั้น 3 อีก 8 ศพ ก็น่าจะดิ้นรนใช้หน้าต่างเป็นทางหนีไฟโดยขอความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอกอาคารได้ เกี่ยวกับการจัดเก็บรักษาวัตถุหรือสิ่งของภายในอาคารที่เกิดเหตุนั้น ได้ความตามคำเบิกความของร้อยตำรวจโทภักดีซึ่งไปตรวจสถานที่เกิดเหตุในทันทีหลังเกิดเหตุว่า ภายหลังเกิดเหตุแล้วพบซากเสื้อผ้าที่ถูกเพลิงไหม้วางอยู่กระจัดกระจายทั่วบริเวณชั้นลอย ไฟลุกลามจากชั้นลอยขึ้นไปตามกองผ้าที่วางอยู่ตามขั้นบันไดถึงชั้น 2 ไหม้จักรเย็บผ้าและกองเสื้อผ้าชั้น 2 จากชั้น 2 ไฟได้ลุกลามไปตามกองด้ายที่วางไว้ตามขั้นบันไดจนถึงชั้น 3 สภาพความเสียหายปรากฏตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.14 และภาพถ่ายหมาย จ.4 จ.7 จ.9 จ.10 และ จ.13 ข้อนี้โจทก์ยังมีนายสมเกียรติ ไหมคง เบิกความสนับสนุนว่า โรงงานของจำเลยไม่มีห้องจัดเก็บพัสดุที่ใช้ แต่ได้วางไว้ทั่วไปตามพื้นที่ปฏิบัติงานรวมทั้งตามบันไดขึ้นลงด้วย แสดงว่าจำเลยไม่ได้จัดเก็บรักษาเสื้อผ้าซึ่งเป็นวัตถุที่เป็นสื่อให้เกิดอัคคีภัยได้ง่ายให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและในที่ปลอดภัย ที่จำเลยนำสืบว่าได้สั่งการให้ลูกจ้างจัดเก็บเสื้อผ้าไว้เป็นระเบียบเรียบร้อยภายหลังเลิกงานแล้ว จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว
สำหรับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานสำหรับลูกจ้างฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2534 ข้อ 4 วรรคแรกระบุว่า "ให้นายจ้างจัดให้มีแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการเกี่ยวกับการตรวจตราการอบรม การรณรงค์ป้องกันอัคคีภัย การอพยพหนีไฟ การบรรเทาทุกข์และการปฏิรูปพื้นฟูเมื่อเกิดอัคคีภัยขึ้นแล้ว" วรรคสองระบุว่า "ให้นายจ้างเก็บแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยไว้ ณ สถานที่ทำงานพร้อมที่จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้" และข้อ 33 ระบุว่า "ให้นายจ้างจัดให้มีระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ในสถานประกอบการโดยให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้ (1) สถานประกอบการตั้งแต่สองชั้นขึ้นไปต้องติดตั้งระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ชนิดเปล่งเสียงให้ลูกจ้างที่ทำงานภายในอาคารได้ยินอย่างทั่วถึง โดยมีระดับความดังของเสียงไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยเดซิเบล (เอ) วัดห่างจากจุดกำเนิดของเสียงหนึ่งเมตรโดยชอบ" เรื่องนี้โจทก์มีนายสิงขร สุหร่ายรัฐหัวหน้าสำนักงานแรงงานกรุงเทพมหานคร ประจำเขตบางคอแหลมเบิกความว่าพยานไปตรวจดูสถานที่เกิดเหตุแล้วพบว่า จำเลยไม่ได้จัดทำแผนป้องกันหรือระงับอัคคีภัย ไม่มีระบบสัญญาณเตือนภัย นอกจากนี้เมื่อสำนักงานเขตบางคอแหลม ร่วมกับสำนักงานแรงงานกรุงเทพมหานคร เขตบางคอแหลมจัดหลักสูตรอบรมอาสาสมัครป้องกันพลเรือนเกี่ยวกับการป้องกันหรือระงับอัคคีภัย โดยมีการประกาศเชิญชวนทางหนังสือพิมพ์และเครื่องขยายเสียง แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้สมัครเข้ารับการอบรมแต่อย่างใด โจทก์ยังมีนางสาวพิศมัย จู่มาลูกจ้างจำเลยซึ่งรอดชีวิตจากเพลิงไหม้ครั้งนี้เบิกความสอดคล้องกันว่า โรงงานของจำเลยไม่มีสัญญาณเตือนภัยและไม่มีการซักซ้อมว่าหากเกิดอัคคีภัยจะหลบหนีไปทางใด ข้อนี้จำเลยเพียงแต่นำสืบว่ามีการซักซ้อมกับคนงานว่าหากมีเหตุเพลิงไหม้บริเวณชั้นบนให้หนีออกทางประตูชั้นล่าง หากเพลิงไหม้บริเวณชั้นล่างให้หนีออกทางดาดฟ้า นอกจากนี้จำเลยยังติดตั้งสัญญาณเตือนภัยและเครื่องดับเพลิงอยู่บริเวณอาคารด้านหน้าอีกด้วย เห็นว่า จำเลยในฐานะนายจ้างซึ่งมีลูกจ้างจำนวน 15 คน ไม่มีแผนป้องกันและระงับอัคคีภัย การดับเพลิงและการอพยพหนีไฟแต่อย่างใด การซักซ้อมวิธีหนีไฟของจำเลยดังกล่าวไม่อาจจัดว่าเป็นแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยตามความมุ่งหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว แม้แต่การอพยพหนีไฟก็ไม่เกิดประสิทธิผลดังที่ปรากฏส่วนการติดตั้งสัญญาณเตือนภัยและเครื่องดับเพลิงที่จำเลยนำสืบว่าได้ปฏิบัติตามแล้วนั้น หากมีก็น่าจะปรากฏจากภาพถ่ายที่อ้างส่งศาลหรือจากสายตาของเจ้าพนักงานหลายฝ่ายที่ไปตรวจดูสถานที่เกิดเหตุ ดังนั้นพยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ฟังได้ว่า จำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวเช่นกัน การกระทำของจำเลยมีความผิดตามฟ้องดังข้อหาที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษแก่จำเลยนั้น เห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีนับว่าร้ายแรง ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่รอการลงโทษชอบแล้ว อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทายาทของผู้ตายจนเป็นที่พอใจแล้ว ตามบันทึกการชดใช้ค่าเสียหายเอกสารหมาย จ.27 จ.28 สำเนาคำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความท้ายคำแถลงประกอบฎีกาฉบับลงวันที่26 กุมภาพันธ์ 2540 อันเป็นการพยายามบรรเทาผลร้าย แสดงว่าจำเลยมีความสำนึกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงมีเหตุอันควรปรานีลดหย่อนโทษให้
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดต่อพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ. 2535 มาตรา 8, 45 ให้ปรับจำเลย 100,000 บาท ความผิดต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 8 ให้จำคุกจำเลย 4 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงาน อัยการ สูงสุด จำเลย - นาง พัชรี อัศวนนท วงศ์
ชื่อองค์คณะ ณรงค์ ตันติเตมิท บุญธรรม อยู่พุก ปรีชา บูรณะไทย
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan