คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7771/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 321, 1007 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 7
จำเลยชำระหนี้เดิมซึ่งเป็นหนี้ค่าซื้อขายผ้าด้วยเช็คซึ่งโจทก์ยอมรับเอาเช็คพิพาทนั้นแทนการชำระหนี้โดยการใช้เงินแต่เมื่อเช็คพิพาทและเช็คฉบับอื่น ๆ ที่มีการเปลี่ยนเช็คแทนกันมาตลอดธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน มูลหนี้เดิมจึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคท้ายประกอบการที่มีการเปลี่ยนเช็คพิพาทให้แทนเช็คเดิมซึ่งธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการระงับมูลหนี้เดิมจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ยังไม่ระงับ ศ. แก้ไขวันที่สั่งจ่ายซึ่งเป็นสาระสำคัญและจำเลยไม่ได้ยินยอมด้วย จำเลยกับ ศ.ได้ร่วมกันซื้อสินค้าจากโจทก์และจำเลยกับ ศ. มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์ด้วยเช็คพิพาท จำเลยและศ.มีสิทธิสั่งจ่ายเช็คตามบัญชีที่เปิดร่วมกันได้จึงถือได้ว่าจำเลยยินยอมให้ศ. เป็นผู้แก้ไขวันที่สั่งจ่ายแทนจำเลยแล้ว เช็คพิพาทยังคงใช้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1007 วรรคหนึ่ง และแม้จะมีการบังคับคดีแพ่งโดยมีการยึดทรัพย์ของจำเลยกับ ศ. สามีจำเลย แต่โจทก์ก็ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามเช็คพิพาทเพราะยังไม่มีการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไว้ ยังถือไม่ได้ว่าเช็คพิพาทสิ้นผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดคดีจึงยังไม่เกินกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ออกเช็คธนาคารทหารไทย จำกัดสาขาลาดหญ้า เช็คเลขที่ 2263329 ลงวันที่ 30 เมษายน 2537จำนวนเงิน 100,000 บาท ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ค่าสินค้าประเภทผ้าที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาบางบอนเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 โดยให้เหตุผลว่า"ยังไม่มีการตกลงกับธนาคาร" ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 จำคุก 10 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุกจำเลย 2 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า เดิมจำเลยชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าผ้าแก่โจทก์ด้วยเช็คหลายฉบับและหลายครั้งแต่เช็คส่วนใหญ่ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยจึงเปลี่ยนเช็คจำนวน 15 ฉบับให้แก่โจทก์แทน ซึ่งเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.3 นี้ เป็นส่วนหนึ่งของเช็คจำนวน15 ฉบับดังกล่าวที่ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.4 ดังนั้นเช็คพิพาทที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ถือได้ว่ามีมูลหนี้มาจากจำเลยซื้อสินค้าผ้ายืดของโจทก์นั่นเอง การออกเช็คพิพาทของจำเลยจึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่ายการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 แล้ว ส่วนการที่จำเลยกล่าวอ้างมาในฎีกาว่า ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนเช็ค 15ฉบับ ซึ่งรวมเช็คพิพาทอยู่ด้วยนั้น มีการเปลี่ยนเช็คมาก่อน3 ครั้งถือได้ว่ามีการตกลงประนีประนอมยอมความกันแล้วนั้นศาลฎีกาเห็นว่า มูลหนี้ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นมูลหนี้อันเกิดจากการซื้อขายสินค้าผ้า และเมื่อจำเลยชำระมูลหนี้เดิมซึ่งเป็นหนี้ค่าซื้อขายผ้าด้วยเช็คซึ่งโจทก์ยอมรับเอาเช็คพิพาทนั้นแทนการชำระหนี้โดยการใช้เงิน แต่เมื่อเช็คพิพาทและเช็คฉบับอื่น ๆ ที่มีการเปลี่ยนเช็คแทนกันมาตลอดธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน มูลหนี้เดิมจึงหาระงับไปไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคท้ายประกอบกับโจทก์จำเลยหาได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใดไม่ การที่มีการเปลี่ยนเช็คพิพาทให้แทนเช็คเดิม ซึ่งธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว กรณีเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการระงับมูลหนี้เดิม จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ยังไม่ระงับ ส่วนการที่จำเลยอ้างว่าเช็คพิพาทมีการแก้ไขวันที่สั่งจ่ายซึ่งเป็นสาระสำคัญและจำเลยไม่ได้ยินยอมด้วยนั้นเห็นว่า โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.3 ได้มีการแก้ไขวันเดือนที่สั่งจ่ายผู้แก้ไขคือนายศักดิ์ชัยซึ่งเป็นสามีจำเลยนั่นเอง เมื่อคดีนี้จำเลยกับศักดิ์ชัยได้ร่วมกันซื้อสินค้าผ้ายืดจากโจทก์ และทั้งจำเลยกับนายศักดิ์ชัยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์ด้วยเช็คพิพาท ประกอบกับบัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่ขอเปิดและบัตรตัวอย่างลายมือชื่อที่ทำไว้กับธนาคารทหารไทยจำกัด ตามเอกสารหมาย จ.18 ฟังได้ว่าจำเลยและนายศักดิ์ชัยทั้งสองคนมีสิทธิสั่งจ่ายเช็คตามบัญชีดังกล่าวได้ กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยได้ยินยอมให้ศักดิ์ชัยเป็นผู้แก้ไขวันที่สั่งจ่ายแทนจำเลยแล้ว เช็คพิพาทยังคงใช้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1007 วรรคหนึ่ง และที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ได้มีการดำเนินคดีทางแพ่งกับจำเลยและนายศักดิ์ชัยสามีแล้วโดยยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 38294ตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งโจทก์ยึดไว้เมื่อวันที่20 มีนาคม 2540 อยู่ระหว่างการขายทอดตลาด ตามสำเนารายงานการยึดทรัพย์ท้ายฎีกา ซึ่งการยึดทรัพย์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 นั้น เห็นว่า แม้จะฟังได้ว่ามีการบังคับคดีในคดีแพ่งโดยมีการยึดทรัพย์ของจำเลยกับนายศักดิ์ชัยสามีจำเลยก็ตาม แต่โจทก์ก็ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามเช็คพิพาทเพราะยังไม่มีการขายทอดตลาดที่ยึดไว้ข้างต้น กรณียังถือไม่ได้ว่าเช็คพิพาทสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงยังไม่เลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 7 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว"
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา เนติบัณฑิตยสภา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท ฉุนอี่ จำกัด จำเลย - นาง วัชราภรณ์ บุรพรัตน์
ชื่อองค์คณะ ประกาศ บูรพางกูร ปรีชา เฉลิมวณิชย์ ธีระจิต ไชยาคำ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan