สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7641/2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7641/2560

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 247 (เดิม) พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ม. 6, 11

โจทก์ยื่นฟ้องก่อนวันที่ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 ใช้บังคับ (วันที่ 14 ธันวาคม 2558) และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก่อนวันเปิดทำการของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ (วันที่ 1 ตุลาคม 2559) จึงต้องนำกฎหมายที่มีผลบังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้องมาใช้บังคับแก่กรณี พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่นไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุด และวรรคสอง บัญญัติว่า การขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดตามวรรคหนึ่ง คู่ความจะต้องร้องขอก่อนวันสืบพยาน แต่ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรให้กระทำได้ ก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว" เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การโดยตั้งประเด็นว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดก่อนวันนัดสืบพยาน และศาลชั้นต้นก็ไม่ได้ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยก่อนมีคำพิพากษา แล้วศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยเสียเองว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะปัญหาดังกล่าวเป็นอำนาจของประธานศาลฎีกาที่จะวินิจฉัย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งแต่เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 (เดิม) และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดจนล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด กรณีจึงไม่มีปัญหาว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมการให้เงินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 รวม 12 ครั้ง โดยให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 428,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 100356 ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างจำเลยทั้งสองและให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนให้แก่โจทก์โดยไม่มีค่าตอบแทน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าธรรมเนียม ค่าอากร ค่าภาษีเงินได้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 และหากไม่สามารถดำเนินการได้ให้จำเลยทั้งสองใช้เงินคืน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จสิ้น

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการให้โดยเสน่หาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 2 คืนเงิน 2,328,000 บาท กลับเข้าสู่กองสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,328,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 มิถุนายน 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท (ที่ถูก คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก)

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 อยู่กินกันฉันสามีภริยากันตั้งแต่ปี 2540 มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนซึ่งเกิดเมื่อปี 2544 ต่อมา วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 โจทก์และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกัน จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนพระรามที่ 2 บัญชีเลขที่ 711-1-03XXX-X จำเลยที่ 2 เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเซ็นทรัลพระรามที่ 3 บัญชีเลขที่ 748-2-53XXX-X จำเลยที่ 1 โอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 เข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่ 2 รวม 9 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 428,000 บาท วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเสนอซื้อที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 100356 ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ราคา 2,000,000 บาท ได้วางเงินจอง 20,000 บาท ต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโดยวางเงินสด 180,000 บาท ให้แก่ผู้จะขาย วันที่ 19 มีนาคม 2558 จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนพระรามที่ 2 จำนวน 1,900,000 บาท จากในบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 นำเช็คฉบับดังกล่าวไปเข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม 2558 จำเลยที่ 2 ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ 1,830,000 บาท เพื่อไปซื้อเช็คเงินสดธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางบอน รวม 3 ฉบับ และในวันที่ 27 มีนาคม 2558 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 100356 ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 ใช้บังคับ (วันที่ 14 ธันวาคม 2558) และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก่อนวันเปิดทำการของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ (วันที่ 1 ตุลาคม 2559) จึงต้องนำกฎหมายที่มีผลบังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้องมาใช้บังคับแก่กรณี พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่นไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุดและวรรคสอง บัญญัติว่า การขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดตามวรรคหนึ่ง คู่ความจะต้องร้องขอก่อนวันสืบพยาน แต่ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรให้กระทำได้ ก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว" คดีนี้ จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การโดยตั้งประเด็นว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดก่อนวันนัดสืบพยาน และศาลชั้นต้นก็ไม่ได้ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยก่อนมีคำพิพากษา แล้วศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยเสียเองว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะปัญหาดังกล่าวเป็นอำนาจของประธานศาลฎีกาที่จะวินิจฉัย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้ง แต่เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 (เดิม) และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดจนล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด กรณีจึงไม่มีปัญหาว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า เงิน 12 จำนวน และเงินที่ใช้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 100356 เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ตามรายการบัญชีเงินฝากกระแสรายวันธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนพระรามที่ 2 เลขที่ 711-1-03XXX-X เงิน 12 จำนวน และเงินที่ชำระค่าเช่าซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 100356 ล้วนเบิกถอนจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวหลังจากที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกันแล้ว จำเลยที่ 2 ฎีกาต่อสู้เพียงว่าเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 เปิดบัญชีตั้งแต่ปี 2544 ก่อนจดทะเบียนสมรสกับโจทก์และเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 จำเลยที่ 1 ใช้เงินสินส่วนตัวซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 90963 ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดกรุงเทพมหานคร แล้วระหว่างปี 2544 ถึง 2558 จำเลยที่ 1 นำที่ดินดังกล่าวจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนพระราม 2 เพื่อค้ำประกันสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ 711-1-03XXX-X ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน ซึ่งได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เดินสะพัดทางบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของห้างหุ้นส่วนจำกัด ท.สิริพัฒนา (2000) มีจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นหุ้นส่วนร่วมกัน การจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 90963 ก็เพื่อค้ำประกันสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจเท่านั้น แสดงว่า เงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ 711-1-03XXX-X มาจากเงินกู้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและเงินจากการประกอบธุรกิจร่วมกันของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ การจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 90963 เป็นเพียงการค้ำประกันสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เงินในบัญชีเงินฝากไม่ใช่เงินที่ได้จากการจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินดังกล่าว แม้ที่ดินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 2 อ้าง เงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ 711-1-03XXX-X ย่อมเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งทำมาหาได้ร่วมกัน จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องโจทก์ให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมให้โดยเสน่หาตามฟ้อง จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ให้เงิน 12 จำนวน และเงินที่นำไปซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 100356 แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์คู่สมรส กรณีไม่ใช่การให้ที่พอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศลเพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 (5) โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ ตามมาตรา 1480 เมื่อนิติกรรมการให้โดยเสน่หาถูกเพิกถอนแล้ว เงินทั้ง 12 จำนวน และเงินที่ใช้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 100356 ต้องกลับคืนสู่เป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 เต็มจำนวน อย่างไรก็ดี การจัดการสินสมรสที่ถูกเพิกถอนคือนิติกรรมการให้โดยเสน่หาที่จำเลยที่ 1 ให้เงินแก่จำเลยที่ 2 ไปซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 100356 ไม่ใช่นิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างเจ้าของที่ดินเดิมกับจำเลยที่ 2 ดังนั้น ทรัพย์สินที่จะต้องกลับคืนมาเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 คือ เงินที่ใช้ชำระค่าที่ดิน ไม่ใช่ตัวที่ดิน แม้โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 100356 คืนแก่โจทก์ แต่โจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่าจำเลยที่ 1 นำเงินสินสมรสไปให้จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินและมีคำขอท้ายฟ้องด้วยว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการคืนที่ดินดังกล่าวได้ ให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินคืน คดีนี้เมื่อนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างเจ้าของเดิมกับจำเลยที่ 2 ไม่ได้ถูกเพิกถอนด้วย กรณีจึงไม่สามารถโอนที่ดินแก่โจทก์ได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 คืนเงินแก่โจทก์ย่อมไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาอื่นที่จำเลยที่ 2 ฎีกามาด้วยนั้น เป็นข้อปลีกย่อยไม่เป็นสาระแก่คดี ไม่ทำให้ผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

อนึ่ง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ไม่สามารถเพิกถอนการโอนที่ดินได้ จึงต้องพิพากษายกคำขอในส่วนนี้ ที่ศาลชั้นต้นไม่พิพากษายกคำขอในส่วนนี้ เป็นการไม่ชอบและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ได้แก้ไข เป็นการไม่ชอบเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ได้สั่งไว้จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไข

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอให้โอนที่ดิน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ยชพ.39/2560

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง พ. จำเลย - นาย ท.

ชื่อองค์คณะ จิรนิติ หะวานนท์ บุญมี ฐิตะศิริ พิศิฏฐ์ สุดลาภา

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรสาคร - นายบรรพต วิภูภิญโญ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 - นางวราภรณ์ สหัสโพธิ์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE