คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7556/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ม. 62 ตรี, 106 ตรี พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 157 ทวิ
เมื่อศาลลงโทษจำเลยตาม พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แล้ว ศาลก็จะอาศัยบทเบาตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157 ทวิ มาเพื่อสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยหาได้ไม่ เพราะศาลมิได้ลงโทษจำเลยตามบทเบานี้
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2539 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อได้เสพเมทแอมเฟตามีน (ยาม้า) ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ (ขับรถ) ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 62 ตรี, 106 ตรี พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ตรี), 127 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 62 ตรี, 106 ตรี พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ตรี), 127 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคแรก, 157 ทวิ วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โดยให้จำเลยมารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติรวม 4 ครั้ง มีกำหนดเวลา 1 ปี เนื่องจากศาลให้คุมความประพฤติจำเลยจึงให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ และให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับ ไม่คุมความประพฤติ และไม่รอการลงโทษให้จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาขอให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยอ้างข้อกฎหมายว่าตามมาตรา 157 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522ศาลจะต้องลงโทษจำเลยทั้งจำคุกและสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยจะเลือกลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ และอ้างข้อเท็จจริงโต้เถียงดุลพินิจว่าหากขืนปล่อยให้จำเลยมีใบอนุญาตขับขี่ไว้ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีกนั้น เห็นว่าโดยข้อกฎหมายเมื่อศาลลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แล้ว ศาลก็จะอาศัยบทเบาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาเพื่อสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยหาได้ไม่ เพราะศาลมิได้ลงโทษจำเลยตามบทเบานี้ และโดยเหตุที่พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจศาลพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยไว้ ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาต่อไปว่า ข้อเท็จจริงควรจะพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยหรือไม่ รูปคดีไม่อาจพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยได้
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ จำเลย - นาย ชินกรณ์ สุวรรณศรี
ชื่อองค์คณะ สมศักดิ์ วงศ์ยืน สุชาติ ถาวรวงษ์ ระพิณ บุญสิทธิ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan