คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 685/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 221
ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ที่ว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด นั้นกฎหมายมอบให้เป็นดุลพินิจอันเด็ดขาดของผู้พิพากษาผู้มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกา(วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2523)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งประทับฟ้อง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 9 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 เดือน 15 วัน ให้การรอการลงโทษไว้ตามมาตรา 56, 58 มีกำหนด 2 ปี
โจทก์อุทธรณ์ขอไม่ให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษโดยขออนุญาต ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งได้พิจารณาคดีนี้สั่งว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้น เป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดที่จะได้วินิจฉัย จึงอนุญาตให้จำเลยฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อความที่ตัดสินนั้น เป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดเช่นคดีนี้ จะถือว่าเป็นดุลพินิจที่เด็ดขาด หรือว่าศาลฎีกายังมีอำนาจพิเคราะห์อีกชั้นหนึ่งว่าเป็นปัญหาสำคัญเช่นนั้นจริงหรือไม่ ที่ประชุมใหญ่มีมติว่า ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 221 นั้น กฎหมายมอบให้เป็นดุลพินิจอันเด็ดขาดของผู้พิพากษาผู้มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกา ส่วนปัญหาตามฎีกาจำเลยนั้นศาลฎีกาเห็นสมควรรอการลงโทษให้จำเลย
พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท แพนอินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด จำเลย - นางยิ้ม สิทธิโสภา
ชื่อองค์คณะ ประทีป ชุ่มวัฒนะ สมบัติ วังตาล ทวี กสิยพงศ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan