คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2531
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2505 ม. 15
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตนเป็นผู้มีสัญชาติไทยอันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 ดังนี้แม้จะมิได้ระบุชื่อของเจ้าพนักงานผู้รับแจ้งก็ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158.(ที่มา-ส่งเสริม)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,86, 91, 137, 157, 162, 267 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2505 มาตรา 15
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 267, 86, 137, 90 อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 157, 86 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 4 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 267, 83, 90 อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 7 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 162 (4), 83, 90 อันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 7ปี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะโทษที่ลงเป็นว่า จำคุกจำเลยที่1 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีกำหนดคนละ5 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย 'เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตนเป็นผู้มีสัญชาติไทย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 แม้จะมิได้ระบุชื่อของเจ้าพนักงานผู้รับแจ้งมาด้วย ก็ถือว่าเป็นฟ้องที่เพียงพอให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 หาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ ฎีกาจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น'
พิพากษายืน.
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ จังหวัด ราชบุรี จำเลย - นาง เซิน หวูถิ กับพวก
ชื่อองค์คณะ ถาวร ตันตราภรณ์ ชูเชิด รักตะบุตร์ สง่า ศิลปประสิทธิ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan