คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5980/2564
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1474 (1)
จำเลยกับผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2521 และจดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 ในระหว่างจำเลยกับผู้ร้องอยู่กินเป็นสามีภริยากัน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2538 ผู้ร้องดำเนินการจัดให้มีการทำสัญญาประกันภัยเอาประกันชีวิตของจำเลยกับบริษัทประกันภัย ในลักษณะสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท ชำระเบี้ยประกันปีละ 75,000 บาท มีระยะเวลา 20 ปี ระบุให้บุตร 2 คน เป็นผู้รับผลประโยชน์ โดยจำเลยเป็นคนลงนามในคำขอเอาประกันชีวิต และบริษัทประกันภัย ออกกรมธรรม์ให้ในชื่อจำเลย แสดงว่า ผู้ร้องกับจำเลยร่วมรับรู้ในการทำประกันชีวิตจำเลย สัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) มีลักษณะเป็นการประกันความเสี่ยง ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเสียชีวิตของจำเลยเพื่อความมั่นคงของครอบครัว ทั้งยังมีลักษณะเป็นการออมทรัพย์และการลงทุนเพื่อผลประโยชน์ที่บริษัทตกลงจะจ่ายคืนในอนาคตด้วย ประกอบกับได้ความว่าผู้ร้องได้นำเงินรายได้ที่ทำมาหาได้ในระหว่างสมรสกับจำเลยไปชำระเบี้ยประกันก่อนมีการหย่า งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 5 งวดละ 75,000 บาท งวดที่ 6 ถึงงวดที่ 9 และงวดที่ 11 งวดละ 54,400 บาท รวม 10 งวด เป็นเงิน 647,000 บาท สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) ตามกรมธรรม์ จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยและผู้ร้องได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) และเป็นสินสมรสที่มีอยู่ขณะที่มีการหย่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าภายหลังมีการหย่า จำเลยกับผู้ร้องได้มีการตกลงแบ่งสินสมรสตามสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) ตามกรมธรรม์ สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) ตามกรมธรรม์ จึงยังคงมีสภาพเป็นสินสมรสที่ยังมิได้แบ่ง และเมื่อกรมธรรม์ ครบกำหนดในวันที่ 26 ธันวาคม 2558 บริษัทผู้รับประกันภัยจ่ายเงินคืนตามกรมธรรม์ จำนวน 671,000 บาท เป็นสินสมรสที่จำเลยกับผู้ร้องมีส่วนคนละครึ่ง ผู้คัดค้านคงมีอำนาจจัดการและรวบรวมทรัพย์สินของจำเลย แต่ไม่มีอำนาจรวบรวมเอาเงินส่วนของผู้ร้องเข้ากองทรัพย์สินของจำเลย และต้องคืนเงินส่วนนี้ให้แก่ผู้ร้องครึ่งหนึ่ง ส่วนที่จำเลยและผู้ร้องจดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 อันทำให้การสมรสสิ้นสุดลง ต่อมาในวันที่ 30 มกราคม 2550 ผู้ร้องนำเงินส่วนตัวไปชำระเงินค่าเบี้ยประกันจำนวน 54,400 บาท เป็นการที่ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้าชำระหนี้แทนจำเลย เงินจำนวนนี้มิใช่เงินที่ผู้ร้องจะได้รับในฐานเป็นสินสมรสในคดีนี้ หากแต่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องไปว่ากล่าวเป็นกรณีอื่นต่างหาก เมื่อผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับเงินที่ชำระไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2550 คืนในคดีนี้และเงินที่บริษัทผู้รับประกันภัยคืนมาจำนวน 671,000 บาท รวมเงินจำนวนดังกล่าวไว้ด้วย จึงต้องหักเงิน 54,400 บาท ออกจากเงินบริษัทผู้รับประกันภัยคืนมา โดยคำนวณเทียบเป็นสัดส่วนร้อยละ คงเหลือเงินสินสมรส 618,957.80 บาท และผู้ร้องมีสิทธิได้รับคืนครึ่งหนึ่งจำนวน 309,478.90 บาท
คดีสืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2558 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 มีคำพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้าน ขอให้เพิกถอนการยึดและคืนเงินครบกำหนดสัญญาประกันภัย ตามกรมธรรม์ เป็นเงิน 671,000 บาท และค่าสินไหมมรณกรรมซึ่งจำเลยมีสิทธิได้รับในฐานะผู้รับประโยชน์ ตามสัญญาประกันภัยกรมธรรม์ เป็นเงิน 117,025.50 บาท ผู้คัดค้านมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งกลับคำสั่งผู้คัดค้านและคืนเงินตามกรมธรรม์ทั้งสองฉบับแก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้อง คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังยุติว่า ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับจำเลยเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2521 และจดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 ระหว่างอยู่กินด้วยกันเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2538 ได้มีการทำสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) กับบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด มีจำเลยเป็นผู้เอาประกันภัย มีเด็กชายยิ่งยง และเด็กชายพิชิต บุตรของจำเลยกับผู้ร้องเป็นผู้รับประโยชน์ ระยะเวลาประกันภัย 20 ปี เริ่มสัญญาประกันภัยวันที่ 26 ธันวาคม 2538 ครบกำหนดสัญญาวันที่ 26 ธันวาคม 2558 เบี้ยประกันภัยราย 12 เดือน งวดละ 75,000 บาท ระหว่างที่จำเลยกับผู้ร้องยังเป็นสามีภริยากัน มีการชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด จำนวน 647,000 บาท และภายหลังจำเลยกับผู้ร้องหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา มีการชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด จำนวน 54,400 บาท วันที่ 31 สิงหาคม 2558 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยรวมทั้งเงินที่บริษัทประกันภัย จ่ายให้จำเลยเมื่อกรมธรรม์ ครบกำหนดอายุสัญญา เข้ากองทรัพย์สินของจำเลยด้วย สำหรับกรมธรรม์ ผู้ร้องไม่อุทธรณ์ คดีในส่วนนี้จึงเป็นยุติไปตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า กรมธรรม์ทำในระหว่างผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภริยา เงินที่ชำระเบี้ยประกันภัยกรมธรรม์ ส่วนหนึ่งเป็นเงินสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย ผู้ร้องมีสิทธิในเงินที่บริษัทประกันภัย ผู้รับประกันภัยคืนเมื่อกรมธรรม์ ครบกำหนดหรือไม่ ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างในคำร้องและคำร้องขอจึงถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นสอบสวนของผู้คัดค้านและในศาลล้มละลายกลางต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ จึงไม่รับวินิจฉัย คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยก่อนว่า ปัญหาข้อนี้ต้องห้ามอุทธรณ์เพราะเหตุมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นสอบสวนของผู้คัดค้านและในศาลล้มละลายกลางหรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้ร้องมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้ในชั้นสอบสวนของผู้คัดค้านโดยตรง แต่ผู้ร้องก็ได้ให้การชั้นสอบสวนแล้วว่า ผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภริยากัน หากจำเลยถึงแก่ความตายจะทำให้ผู้ร้องและครอบครัวได้รับความเดือดร้อน จึงได้มีการทำคำขอเอาประกันภัยชีวิตจำเลย เป็นการสร้างหลักประกันให้แก่ครอบครัว และผู้ร้องได้ชำระเบี้ยประกันภัยอยู่ช่วงหนึ่งก่อนที่ผู้ร้องจะหย่าขาดจากจำเลยในปี 2549 และเมื่อผู้คัดค้านมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้มีคำสั่งกลับคำสั่งของผู้คัดค้านและมีคำสั่งคืนเงินที่ยึดตามกรมธรรม์แก่ผู้ร้อง โดยคำร้องหน้าที่ 14 และ 15 กล่าวว่า กรมธรรม์ประกันชีวิตที่พิพาทมีส่วนแรกที่เกิดขึ้นในวันเริ่มต้นทำประกันเกิดขึ้นในขณะที่ผู้ร้องและจำเลยนั้นยังมีชีวิตคู่ดังเช่นสามีภริยา ทั้งผู้ร้องและจำเลยได้ร่วมกันประกอบอาชีพ การจัดทำประกันขึ้นถือได้ว่าเป็นสินสมรส ซึ่งแปลได้แล้วว่าผู้ร้องได้อ้างสิทธิรับเงินคืนตามกรมธรรม์ในฐานที่เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ร้องด้วย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล้มละลายกลาง แม้ศาลล้มละลายกลางจะมิได้วินิจฉัยปัญหานี้ ผู้ร้องก็มีสิทธิยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า ปัญหานี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นสอบสวนของผู้คัดค้านและในศาลล้มละลายกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ จึงไม่รับวินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าเงินที่ชำระเบี้ยประกันภัยกรมธรรม์ ส่วนหนึ่งเป็นเงินสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย ผู้ร้องมีสิทธิในเงินที่บริษัทประกันภัย ผู้รับประกันภัยคืนเมื่อกรมธรรม์ครบกำหนดหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษยังไม่ได้วินิจฉัยปัญหานี้ แต่คดีได้มีการสืบพยานมาครบถ้วนแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไป โดยไม่ต้องย้อนสำนวน เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในระหว่างจำเลยกับผู้ร้องอยู่กินเป็นสามีภริยากัน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2538 ผู้ร้องดำเนินการจัดให้มีการทำสัญญาประกันภัยเอาประกันชีวิตของจำเลยกับบริษัทประกันภัย ในลักษณะสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท ชำระเบี้ยประกันภัยราย 12 เดือนหรือปีละ 75,000 บาท มีระยะเวลา 20 ปี ระบุให้บุตร 2 คน เป็นผู้รับประโยชน์ โดยจำเลยเป็นคนลงนามในคำขอเอาประกันภัย และบริษัทประกันภัย ออกกรมธรรม์ ให้ในชื่อจำเลย แสดงว่าผู้ร้องกับจำเลยร่วมรับรู้ในการทำประกันชีวิตจำเลยครั้งนี้ สัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) มีลักษณะเป็นการประกันความเสี่ยง ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเสียชีวิตของจำเลยเพื่อความมั่นคงของครอบครัว ทั้งยังมีลักษณะเป็นการออมทรัพย์และการลงทุนเพื่อผลประโยชน์ที่บริษัทตกลงจะจ่ายคืนในอนาคตด้วย ประกอบกับได้ความว่าผู้ร้องได้นำเงินรายได้ที่ทำมาหาได้ในระหว่างสมรสกับจำเลยไปชำระเบี้ยประกันภัยก่อนมีการหย่า งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 5 งวดละ 75,000 บาท งวดที่ 6 ถึงงวดที่ 9 และงวดที่ 11 งวดละ 54,400 บาท รวม 10 งวด เป็นเงิน 647,000 บาท สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) ตามกรมธรรม์ จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยและผู้ร้องได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) และเป็นสินสมรสที่มีอยู่ขณะที่มีการหย่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าภายหลังมีการหย่าจำเลยกับผู้ร้องได้มีการตกลงแบ่งสินสมรสตามสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) ตามกรมธรรม์ สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) ตามกรมธรรม์ พิพาทจึงยังคงมีสภาพเป็นสินสมรสที่ยังมิได้แบ่ง และเมื่อกรมธรรม์ครบกำหนดในวันที่ 26 ธันวาคม 2558 บริษัทผู้รับประกันภัยจ่ายเงินคืนตามกรมธรรม์ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เงินที่บริษัทผู้รับประกันภัยจ่ายคืนจำนวน 671,000 บาท นี้เป็นสินสมรสที่จำเลยกับผู้ร้องมีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ด้วย ผู้คัดค้านคงมีอำนาจจัดการและรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของจำเลย แต่ไม่มีอำนาจรวบรวมเอาเงินส่วนของผู้ร้องเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลาย และต้องคืนเงินส่วนนี้ให้แก่ผู้ร้อง ส่วนที่จำเลยและผู้ร้องจดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 อันทำให้การสมรสสิ้นสุดลง ต่อมาในวันที่ 30 มกราคม 2550 ผู้ร้องนำเงินส่วนตัวไปชำระค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 54,400 บาท เป็นการที่ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้าชำระหนี้แทนจำเลย เงินจำนวนนี้มิใช่เงินที่ผู้ร้องจะได้รับในฐานเป็นสินสมรสในคดีนี้ หากแต่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องไปว่ากล่าวเป็นกรณีอื่นต่างหาก เมื่อผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับเงินที่ชำระไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2550 คืนในคดีนี้และเงินที่บริษัทผู้รับประกันภัยคืนมาจำนวน 671,000 บาท รวมเงินจำนวนดังกล่าวไว้ด้วย จึงต้องหักเงิน 54,400 บาท ออกจากเงินที่ผู้รับประกับภัยคืนมา โดยคำนวณเทียบเป็นสัดส่วนคงเหลือเงินสินสมรส 618,957.80 บาท และผู้ร้องมีสิทธิได้รับคืนครึ่งหนึ่งจำนวน 309,478.90 บาท ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งหมด ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และแก้คำสั่งศาลล้มละลายกลางเป็นว่า ให้ถอนการยึดและคืนเงินตามกรมธรรม์ จำนวน 309,478.90 บาท ให้แก่ผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ล.6/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - กรมสรรพากร ผู้ร้อง - นาง จ. ผู้คัดค้าน - เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลย - นาย ช.
ชื่อองค์คณะ อำพันธ์ สมบัติสถาพรกุล เอกศักดิ์ ยันตรปกรณ์ นวลทิพย์ ฉัตรชัยสกุล
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลล้มละลายกลาง - นายชัลวาลย์ สุวรรณศักดิ์
- นายสถาพร วิสาพรหม