คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 590/2532
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 6 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 102 ตรี
โจทก์เป็นผู้แจ้งความนำจับของกลาง และการจับกุมดังกล่าวเป็นผลสำเร็จก็เนื่องจากการแจ้งความของโจทก์ อันเข้าหลักเกณฑ์ตามระเบียบของจำเลยว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ. 2517ที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินสินบนแก่โจทก์ แม้โจทก์เป็นลูกจ้างของเจ้าของของกลางและรู้เห็นในการกระทำผิดนั้น ก็มิได้เป็นข้อห้ามหรือข้อยกเว้นตามระเบียบดังกล่าว ที่จำเลยจะยกขึ้นเป็นเหตุเพื่อปฏิเสธการจ่ายเงินสินบนนำจับในกรณีนี้ได้ โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเงินสินบนตามระเบียบดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตามระเบียบของจำเลยว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัลพ.ศ. 2517 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 102 ตรีแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินสินบนนำจับไว้ตามข้อ 4,5 และให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรในการจ่ายเงินสินบนไว้ในข้อ 10 ว่า ในกรณีที่เห็นสมควรอธิบดีกรมศุลกากรจะรอการจ่ายเงินสินบนและรางวัลทั้งหมดหรือบางส่วนไว้พลางก่อนก็ได้ เมื่อการขายของกลางรายนี้มีกรณีพิพาทและมีการฟ้องกรมศุลกากรเป็นจำเลย คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เห็นได้ว่าเงินค่าขายของกลางมีปัญหาที่ยังไม่ยุติไม่แน่ว่าคดีดังกล่าวกรมศุลกากรจะแพ้หรือชนะ ทั้งการจ่ายเงินสินบนตามกฎหมายและระเบียบของจำเลยจะต้องจ่ายจากเงินของกลางนั้นเอง ที่จำเลยยังไม่จ่ายเงินสินบนแก่โจทก์ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงมีเหตุอันสมควรซึ่งอาจยกขึ้นอ้างได้โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของจำเลย โจทก์ยังไม่มีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยให้จ่ายเงินสินบน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 3,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 26พฤศจิกายน 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ สำหรับประเด็นข้อนี้จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้ 2 ประการ ประการแรกต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทกรุงเทพมหานครไทยเจริญ จำกัดเจ้าของไม้แจ้งความนำจับเพื่อที่บริษัทกรุงเทพมหานครไทยเจริญจำกัด จะได้ติดต่อซื้อคืนจากจำเลยให้เป็นไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมายประการที่ 2 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะการจ่ายเงินสินบนนำจับตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายสินบนและรางวัลนั้นเป็นอำนาจของอธิบดีกรมศุลกากรโดยเฉพาะซึ่งอาจจะให้รอการจ่ายเงินสินบนและรางวัลทั้งหมดหรือบางส่วนไว้พลางก่อนก็ได้ และอธิบดีกรมศุลกากรพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีของโจทก์ที่ยังไม่สมควรจ่ายเงินสินบนแก่ผู้แจ้งความนำจับอันเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการโดยถูกต้องแล้ว
ปัญหาประการแรกที่ว่า โจทก์เป็นผู้แจ้งความนำจับ มีสิทธิได้รับเงินสินบนนำจับหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์เป็นผู้แจ้งความนำจับไม้ซุงสักของกลางรายนี้จริง และการจับกุมดังกล่าวเป็นผลสำเร็จก็เนื่องมาจากการแจ้งความของโจทก์อันเข้าหลักเกณฑ์ตามระเบียบของจำเลยว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ. 2517 ที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินสินบนแก่โจทก์ที่จำเลยยกเป็นข้อต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินสินบนเพราะโจทก์เป็นลูกจ้างของเจ้าของไม้และรู้เห็นในการกระทำผิดนั้นเห็นว่า เหตุผลที่อ้างมิได้เป็นข้อห้ามหรือข้อยกเว้นตามระเบียบดังกล่าวที่จำเลยจะยกขึ้นเป็นเหตุเพื่อปฏิเสธการจ่ายเงินสินบนนำจับในกรณีเช่นนี้ได้ โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเงินสินบนตามระเบียบดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินสินบนนำจับจากจำเลยได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามระเบียบของจำเลยว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ. 2517 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 102 ตรี แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินสินบนนำจับไว้ตามข้อ 4 ข้อ 5 และให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรในการจ่ายเงินสินบนไว้ในข้อ 10 ว่า ในกรณีที่เห็นสมควร อธิบดีกรมศุลกากรจะรอการจ่ายเงินสินบนและรางวัลทั้งหมดหรือบางส่วนไว้พลางก่อนก็ได้ปัญหาจึงมีว่า การที่อธิบดีกรมศุลกากรให้รอการจ่ายเงินสินบนกรณีของโจทก์เป็นการสมควรหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการขายไม้ซุงสักของกลางรายนี้ บริษัทกรุงเทพมหานครไทยเจริญ จำกัดซึ่งเป็นผู้ซื้อไม้ของกลางยังชำระราคาไม้ไม่ครบขาดอยู่อีก 1 งวดเป็นเงิน 5,000,000 บาท และมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับไม้ของกลางระหว่างบริษัทกรุงเทพมหานครไทยเจริญ จำกัด ผู้ซื้อ กับบริษัทส่งเสริมเกษตรไทย จำกัด ผู้ชำระเงินค่าไม้ของกลาง ทั้งบริษัทส่งเสริมเกษตรไทย จำกัด ยังได้ฟ้องกรมศุลกากรเป็นจำเลยเรียกให้ส่งไม้ของกลาง 2 งวด ที่ได้ชำระราคาไปแล้ว หรือมิฉะนั้นก็ให้กรมศุลกากรคืนเงินค่าไม้ที่ได้ชำระไปแล้ว 10,000,000 บาท แก่บริษัทส่งเสริมเกษตรไทย จำกัดด้วย คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าเงินค่าขายไม้ของกลางในคดีนี้มีปัญหาที่ยังไม่ยุติไม่แน่ว่าคดีดังกล่าวกรมศุลกากรจะแพ้หรือชนะทั้งการจ่ายเงินสินบนตามกฎหมายและระเบียบของจำเลยจะต้องจ่ายจากเงินของกลางนั้นเอง ฉะนั้นที่จำเลยยังไม่จ่ายเงินสินบนแก่โจทก์ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงมีเหตุอันสมควรซึ่งอาจยกขึ้นอ้างได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และระเบียบปฏิบัติของจำเลย โจทก์ยังไม่มีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยให้จ่ายเงินสินบนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโดยโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นศาลฎีกาเห็นด้วยในผล จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นอีก"
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา เนติบัณฑิตยสภา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย เลียง ภู่ วิจิตร จำเลย - กรมศุลกากร
ชื่อองค์คณะ ดุสิต วราโห เสริมพงศ์ วรยิ่งยง เกียรติ จาตนิลพันธุ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan