สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5518/2564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5518/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1307 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 53, 55, 56, 59

มาตรการทางแพ่งตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มุ่งป้องปรามมิให้มีการนำทรัพย์สินที่ได้มาหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดไปใช้สนับสนุนการก่ออาชญากรรมต่อไป จึงมิใช่การดำเนินคดีแพ่งโดยทั่วไป แม้ตามมาตรา 56 และ 59 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จะบัญญัติให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินในหมวด 6 ให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ก็ต้องเป็นกรณีที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ไม่ได้มีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ และสามารถนำมาปรับใช้ได้เท่าที่ไม่ขัดกับหลักการแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติเกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองชั่วคราว ตาม ป.วิ.พ. มาปรับใช้กับการยึดหรืออายัดทรัพย์สินชั่วคราวในคดีฟอกเงินได้

แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องบัญชีเงินฝากของจำเลยไว้ก่อนที่ศาลชั้นต้นในคดีฟอกเงินจะมีคำสั่งให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินก็ตาม แต่หากเจ้าหนี้สามัญมีสิทธิยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งอายัดไว้ชั่วคราวได้ อาจทำให้ทรัพย์สินดังกล่าวไม่มีอยู่ จนไม่มีเหตุที่จะไต่สวนและมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน และหากต่อมาศาลในคดีฟอกเงินมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของจำเลยรวมถึงสิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยตกเป็นของแผ่นดิน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นต้นไป ห้ามมิให้ยึดหรืออายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยดังกล่าวเพื่อการบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 หากโจทก์เห็นว่าตนเป็นผู้มีสิทธิในเงินตามบัญชีเงินฝากของจำเลย โจทก์ต้องไปดำเนินการในคดีฟอกเงินตามมาตรา 53 ซึ่งบัญญัติถึงขั้นตอนในการดำเนินการไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในหนี้สามัญ ไม่อาจดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้มีผลถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีฟอกเงินได้

เนื้อหาฉบับเต็ม

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 213,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 พฤษภาคม 2560) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ธนาคารส่งเงินจำนวนตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องบัญชีเงินฝากธนาคาร จำนวน 243,537.61 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งอายัดบัญชีดังกล่าวแก่ธนาคารแล้ว แต่ธนาคารไม่ส่งเงินให้ โดยแจ้งว่าสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีดังกล่าวชั่วคราว ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีเกี่ยวด้วยความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ธนาคารต้องส่งเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของบัญชีแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งอายัดหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดทั้งความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน โดยความผิดอาญาและโทษทางอาญามุ่งบังคับแก่ตัวบุคคล ส่วนมาตรการทางแพ่งมุ่งบังคับแก่ตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดมูลฐานโดยตัดวงจรการกระทำความผิด มิให้ทรัพย์สินที่ได้มาหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของผู้กระทำความผิด ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ใด เพื่อมิให้มีการนำทรัพย์สินนั้นไปใช้สนับสนุนการก่ออาชญากรรมต่อไป ดังนั้น หากปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐาน ไม่ว่าจะจับตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกิดขึ้น และแม้เจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดและไม่ได้ถูกฟ้องก็ดำเนินมาตรการทางแพ่งแก่ตัวทรัพย์สินนั้นได้ จึงไม่ใช่เป็นการดำเนินคดีแพ่งทั่วไป แม้มาตรา 56 และ 59 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินในหมวด 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ก็ต้องเป็นกรณีที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ไม่ได้มีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะและสามารถนำมาปรับใช้ได้เพียงเท่าที่ไม่ขัดกับหลักการแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เมื่อมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวเป็นการเฉพาะแล้ว ทั้งเป็นคำสั่งที่ออกโดยมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่ายหรือยักย้ายไปเสียซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด อันเป็นมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งย่อมจะมีผลบังคับอยู่ตราบใดที่ศาลชั้นต้นในคดีฟอกเงินยังไม่มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และแม้ในคดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องบัญชีเงินฝากของจำเลย ก่อนที่ศาลชั้นต้นในคดีฟอกเงินจะมีคำสั่งให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินก็ตาม แต่หากเจ้าหนี้สามัญมีสิทธิยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้ชั่วคราวตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ได้ อาจทำให้ทรัพย์สินดังกล่าวไม่มีอยู่จนไม่มีเหตุที่จะทำการไต่สวนและมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติดังกล่าวและหากต่อมาศาลชั้นต้นในคดีฟอกเงินมีคำสั่งให้ทรัพย์สินซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยตกเป็นของแผ่นดิน ก็จะมีผลเป็นว่านับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นต้นไปห้ามมิให้ยึดหรืออายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยดังกล่าวเพื่อการบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1307 ดังนี้แล้ว กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองชั่วคราวโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้ก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาปรับใช้กับการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวในคดีฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ได้ คำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีนี้จึงไม่อาจทำให้คำสั่งอายัดชั่วคราวในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.220/2560 ของศาลแพ่งสิ้นผล แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาในคำฟ้องฎีกามีข้อเท็จจริงแตกต่างจากคดีนี้ ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกับคดีนี้ได้ ธนาคารจึงไม่ต้องส่งเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของบัญชีแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งอายัดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากต่อมาศาลชั้นต้นในคดีฟอกเงินมีคำสั่งให้สิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยตกเป็นของแผ่นดินแล้ว แต่โจทก์เห็นว่า ตนเป็นผู้มีสิทธิในเงินตามบัญชีเงินฝากของจำเลยโดยเป็นเจ้าของ ผู้รับโอน หรือผู้รับประโยชน์ โจทก์ต้องไปดำเนินการในคดีฟอกเงินดังกล่าวตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนในการดำเนินการเป็นการเฉพาะแล้วโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในหนี้สามัญไม่อาจดำเนินการบังคับคดีในคดีนี้เพื่อให้มีผลถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีฟอกเงินดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)6/2564

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ส. จำเลย - บริษัท ก.

ชื่อองค์คณะ ชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ประทีป อ่าววิจิตรกุล อนันต์ เสนคุ้ม

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแขวงพระนครเหนือ - นายชาตรี ใหม่วิจิตร ศาลอุทธรณ์ - นายอุทิศ สุภาพ

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE