สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5444/2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5444/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 29

ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานกองตรวจสอบภาษีอากรของจำเลย ทบทวนประเด็นการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของโจทก์โดยมิได้รับอนุมัติจากผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาษีอากรเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบและขั้นตอนของทางราชการ จำเลยจึงไม่มีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์นั้นอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวมิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ยกเลิกการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.2/1041/2/100146 ลงวันที่ 25 มกราคม 2536 ให้คืนเงินจำนวน 5,740,396 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2537 เป็นต้นไป

จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่มีข้อโต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบระยะบัญชี ปี 2528 โดยได้จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้เป็นเงิน 4,652,676 บาท เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยพบว่ามีรายการหนี้สูญซึ่งโจทก์มิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 159 (พ.ศ. 2526) จำนวน4,622,048.25 บาท โดยเป็นการจำหน่ายหนี้สูญรายบริษัทสยามพียู ออโต้พาร์ท จำกัดลูกหนี้ จำนวน 394,396 บาท รวมอยู่ด้วย และเห็นว่าเป็นการต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (9) จึงได้แจ้งการประเมินภาษีไปยังโจทก์ โจทก์อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาแล้ว มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์ได้จำหน่ายหนี้สูญรายบริษัทสยามพียู ออโตพาร์ท จำกัด จากบัญชีลูกหนี้หรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า บริษัทสยามพียู ออโต้พาร์ท จำกัด เป็นลูกหนี้โจทก์ และโจทก์ได้จำหน่ายหนี้สูญรายบริษัทสยามพียู ออโต้พาร์ท จำกัด ที่เป็นหนี้โจทก์จำนวน394,396 บาท จากบัญชีลูกหนี้จริง

ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อไปว่า เจ้าพนักงานกองตรวจสอบภาษีอากรของจำเลย ทบทวนประเด็นการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของโจทก์โดยมิได้รับอนุมัติจากผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาษีอากรเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบและขั้นตอนของทางราชการ จำเลยจึงไม่มีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์นั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวมิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528มาตรา 29 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท สยามเคมีคอล อินดัสตรี้ จำกัด จำเลย - กรมสรรพากร

ชื่อองค์คณะ ชลอ บุณยเนตร สุนพ กีรติยุติ สมพงษ์ สนธิเณร

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE