สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 488/2523

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 488/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 369, 1600, 1737

สัญญามีใจความว่า เจ้าของที่ดินให้จำเลยสร้างอาคารในที่ดินแล้วเรียกค่าก่อสร้างจากผู้เช่าอาคารอาคารที่สร้างขึ้นยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้สร้าง สัญญานี้เป็นสัญญาต่างตอบแทนแม้ต่อมาผู้ให้สร้างจะตายตามกฎหมายหรือโดยสภาพก็ไม่ใช่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาย่อมตกทอดยังทายาท ทายาทต้องผูกพันตามสัญญานั้น ผู้จัดการมรดกถูกฟ้องตามสัญญาได้

เนื้อหาฉบับเต็ม

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามสัญญาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งโจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ชั้นอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์อ้างเหตุเป็นประเด็นหลายประการ ศาลอุทธรณ์ยกประเด็นที่ว่าสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับนางสาวสงวนศรี สามัคคีนนท์ ตกทอดมายังทายาทและผูกพันให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ต้องปฏิบัติตามสัญญานั้นหรือไม่ชั้นพิจารณาก่อนโดยวินิจฉัยว่า ตามฟ้องและข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบปรากฏว่าโจทก์ยังไม่ได้ลงมือก่อสร้างตึกแถวและตลาดที่โจทก์จะต้องก่อสร้างตามสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับนางสงวนศรี สามัคคีนนท์ จึงถือไม่ได้ว่าการดำเนินกิจการของโจทก์อยู่ในระหว่างก่อสร้าง สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจึงไม่ตกไปยังทายาทดังที่กำหนดไว้ตามสัญญาข้อ 11 ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับมรดกที่ดินโจทก์จะปลูกสร้างตามสัญญาโดยพินัยกรรม จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องผูกพันปฏิบัติตามสัญญาหมาย จ.3 ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ให้ความยินยอมให้นางสงวนศรี สามัคคีนนท์ ทำสัญญไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์ จึงไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาหมาย จ.3 ทั้งในฐานะส่วนตัวและใน ฐานะผู้จัดการมรดก ฯลฯ สิทธิอันเกิดจากสัญญาเป็นสิทธิผูกพันเฉพาะตัวนางสงวนศรี สามัคคีนนท์ เท่านั้น เมื่อโจทก์ยังมิได้ลงมือก่อสร้างตึกแถวและตลาดสดบนที่ดินของนางสงวนศรี สามัคคีนนท์ อันมีผลทำให้ตึกแถวและตลาดกลายเป็นส่วนควบของที่ดินในภายหน้าตามสัญญา ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินไว้ด้วย สิทธิตามสัญญาหมาย จ.3 ของนางสงวนศรี สามัคคีนนท์ จึงเป็นการเฉพาะตัว ไม่เป็นมรดกตกทอดไปยังทายาท โจทก์จึงฎีกาขึ้นมาเป็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าสิทธิตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 เป็นสิทธิเฉพาะตัวของนางสงวนศรี สามัคคีนนท์ ผู้ตายโดยแท้หรือไม่

ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์กับนางสงวนศรี สามัคคีนนท์ ได้ทำสัญญาหมาย จ.3 ไว้เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2510 นางสงวนศรี สามัคคีนนท์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2514 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกนางสงวนศรี สามัคคีนนท์ ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์รวมทั้งที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 สัญญาหมาย จ.3 มีใจความว่า ผู้ให้สร้าง(คือนางสงวนศรี สามัคคีนนท์) เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1498 ตำบลโสนลอย (หนองเชียงโคตร) อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ยอมให้ผู้รับสร้าง (คือโจทก์) มีสิทธิปลูกตึกแถว ตลาดสดและตลาดขายผ้าบนที่ดินโฉนดดังกล่าวโดยไม่เรียกร้องเอาค่าหน้าดิน เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ผู้รับสร้างมีสิทธิเรียกค่าก่อสร้างได้แต่ผู้เดียว ถ้าผู้รับสร้างเรียกค่าก่อสร้างยังไม่ครบทุนการก่อสร้าง ผู้ให้สร้างยินยอมให้ผู้รับสร้างเรียกค่าเช่าได้อีกต่อไปจนกว่าจะครบทุนการก่อสร้างสิทธิเรียกค่าเช่าจึงจะตกเป็นของผู้ให้สร้าง ผู้รับสร้างตกลงออกค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้เช่าผู้อาศัยปลูกอาคารอยู่เดิมในที่ดินในราคาพอสมควรที่ผู้รับสร้างจะพอใจ แล้วแต่ผู้ให้สร้างจะดำเนินการโดยวิธีหนึ่งวิธีใดเพื่อให้ที่ดินอยู่ในสภาพว่างเปล่า ตึกแถวและตลาดที่สร้างขึ้น ผู้รับสร้างยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้สร้างต่อเมื่อผู้รับสร้างได้เก็บเงินค่าก่อสร้างจากผู้เช่าเรียบร้อยแล้ว ผู้ให้สร้างจะเป็นผู้ทำสัญญาเช่าโดยตรงกับผู้เช่าโดยมีกำหนดการเช่า 30 ปี ในระหว่างก่อสร้างถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่กรรมลงไป สัญญานี้โอนให้ผู้รับมรดกตกทอดดำเนินการตามสัญญาต่อไปได้ ผู้รับสร้างจะทำการก่อสร้างตึกแถวและตลาดให้เสร็จภายใน 3 ปี นับจากวันได้รับมอบที่ดินในสภาพว่างเปล่าจากผู้ให้สร้างแล้วเป็นต้นไป ถ้าไม่เสร็จภายใน 3 ปี ยอมให้ผู้ให้สร้างปรับวันละ 100 บาท

ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาหมาย จ.3 ดังกล่าว เป็นสัญญาต่างตอบแทนระหว่างโจทก์และนางสงวนศรี สามัคคีนนท์ กล่าวคือ โจทก์และนางสงวนศรีสามัคคีนนท์ ต่างมีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติการชำระต่อกันตามที่กำหนดไว้ในสัญญา สัญญาเช่นนี้ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วไม่ใช่เป็นการเฉพาะตัวของนางสงวนศรี สามัคคีนนท์ ผู้ตายโดยแท้ สิทธิและหน้าที่ตามสัญญย่อมตกทอดแก่ทายาท ข้อความในสัญญาข้อ 11 ที่ว่า "ในระหว่างก่อสร้าง ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่กรรมลง สัญญานี้โอนให้ผู้รับมรดกตกทอดดำเนินการตามสัญญานี้ต่อไปได้" ไม่มีความหมายบังคับว่า ถ้ายังไม่มีการก่อสร้าง สัญญาจะต้องระงับไปโดยความตายของคู่สัญญา ฉะนั้นเมื่อนางสงวนศรี สามัคคีนนท์ ตาย สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาหมาย จ.3 ย่อมตกทอดแก่ทายาทตามบทบัญญัติของกฎหมาย คือจำเลยที่ 2 (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600) จำเลยที่ 2 ต้องผูกพันตามสัญญานั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสงวนศรี สามัคคีนนท์ ผู้ตายย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามสัญญาด้วยเพราะผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรมและเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719) ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1737 ก็บังคับว่า ในกรณีที่เจ้าหนี้กองมรดกเรียกร้องให้บังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาท ถ้ามีผู้จัดการมรดก ให้เจ้าหนี้เรียกเข้ามาในคดีด้วย สำหรับจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดหรือไม่เพียงใดขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงอีกส่วนหนึ่ง และโดยที่ยังมีประเด็นอีกหลายข้อที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัย สมควรส่งสำนวนคืนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อให้พิพากษาใหม่ในประเด็นอื่น ๆ ที่จำเลยอุทธรณ์

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ตามนัยที่กล่าวข้างต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นศาลฎีกาให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่"

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา เนติบัณฑิตยสภา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นายกุยเฮือก แซ่ลิ้ม หรือโกศล พฤกษศลานันนท์ จำเลย - นายไมตรี สามัคคีนนท์ กับพวก

ชื่อองค์คณะ จันทร์ ระรวยทรง สุวัฒน์ รัตรสาร สุไพศาล วิบุลศิลป์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE