สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4748/2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4748/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 341, 352 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158

ตามคำฟ้องแยกข้อหาฉ้อโกงไว้ข้อก. ข. และง. และข้อหายักยอกไว้ข้อค. เมื่อพิเคราะห์คำฟ้องข้อก. ข. และง. แล้วมีความหมายพอเข้าใจได้ว่าประกาศกระทรวงได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้งโดยหลอกลวงโจทก์ร่วมในฟ้องข้อก.ว่าโจทก์ร่วมต้องเสียภาษีต่อกรมสรรพากรเป็นจำนวน147,053บาทและในฟ้องข้อข. และง. ว่าโจทก์ร่วมต้องเสียภาษีต่อกรมสรรพากรเป็นจำนวน60,813.58บาทและ71,999.20บาทซึ่งเป็นความเท็จส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องตอนต่อมาในข้อก.ว่าจำเลยกลับไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีต่อกรมสรรพากรเพียง122,543.65บาทและในข. และง. ว่าจำเลยกลับทำแบบแสดงรายการภาษีโดยไม่ต้องชำระภาษีต่อกรมสรรพากรนั้นเท่ากับโจทก์ได้บรรยายว่าความจริงแล้วโจทก์ต้องเสียภาษีในฟ้องข้อก. เพียงใดหรือไม่หรือเสียภาษีในฟ้องข้อข. และง.เลยจนโจทก์ร่วมหลงเชื่อได้จ่ายเงินให้จำเลยไปตามที่จำเลยขอเบิกแล้วจำเลยได้เอาเงินส่วนที่เบิกเกินไปตามข้อก. และส่วนที่ไม่ได้ชำระภาษีเลยตามข้อข. และง. ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวจึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดในข้อหาฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา341แล้ว การบรรยายคำฟ้องในการกระทำผิดข้อหายักยอกนั้นต้องระบุถึงวันเวลาที่จำเลยเบียดบังเอาทรัพย์ซึ่งเป็นวันกระทำผิดมาในฟ้องด้วยส่วนวันที่จำเลยครอบครองทรัพย์ไม่ใช่วันกระทำผิดเพราะผู้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นไว้แต่ไม่ได้เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริตผู้นั้นย่อมไม่มีความผิดข้อหายักยอกตามคำฟ้องข้อค. ที่กล่าวแต่เพียงวันที่จำเลยครอบครองทรัพย์ที่โจทก์แต่ไม่มีข้อความแสดงว่าจำเลยได้เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนวันเวลาใดจะถือเอาวันที่จำเลยครอบครองทรัพย์เป็นวันที่จำเลยกระทำผิดหาได้ไม่เพราะไม่มีข้อความตอนใดที่จะให้เข้าใจได้เช่นนั้นจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา158(5)

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เป็นความผิดฐานฉ้อโกง 3 กระทง และความผิดฐานยักยอก 1 กระทง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 341, 352 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ฉ้อโกงและยักยอกจำนวน 199,322.13 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา บริษัทอาณาจักรสุโขทัยหินอ่อน จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 352 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ความผิดฐานฉ้อโกง ให้จำคุกกระทงละ 4 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก12 เดือน ความผิดฐานยักยอกจำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 16 เดือนให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 199,322.13 บาท แก่โจทก์ร่วม

จำเลย อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง

โจทก์ และ โจทก์ร่วม ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า คำฟ้องโจทก์และโจทก์ทั้งหมดเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องแยกข้อหาฉ้อโกงไว้ข้อ ก. ข. และ ง. และข้อหายักยอกไว้ ข้อ ค.เมื่อพิเคราะห์คำฟ้องข้อ ก. ข. และ ง. และ มีความหมายพอเข้าใจได้ว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตแสดงข้อความอันเป็นเท็จจริงอันควรบอกให้แจ้งโดยหลอกลวงโจทก์ร่วมในฟ้องข้อ ก. ว่า โจทก์ร่วมต้องเสียภาษีต่อกรมสรรพากร เป็นจำนวน 147,053 บาท และในฟ้องข้อ ข. และ ง. ว่า โจทก์ร่วมต้องเสียภาษีต่อกรมสรรพากรเป็นจำนวน 60,813.58 บาท และ71,999.20 บาท ซึ่งเป็นความเท็จ ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องตอนต่อมาในข้อ ก. ว่า จำเลยกลับไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีต่อกรมสรรพากรเพียง 122,543.65 บาท และใน ข. และ ง. ว่า จำเลยกลับทำแบบแสดงรายการภาษีโดยไม่ต้องชำระภาษีต่อกรมสรรพากร นั้นเท่ากับโจทก์ได้บรรยายว่า ความจริงแล้วโจทก์ต้องเสียภาษีในฟ้องข้อ ก.เพียงใดหรือไม่ต้องเสียภาษีในฟ้องข้อ ข. และ ง.เลยจนโจทก์ร่วมหลงเชื่อได้จ่ายเงินให้จำเลยไปตามที่จำเลยขอเบิก แล้วจำเลยได้เอาเงินส่วนที่เบิกเกินไปตามข้อ ก. และส่วนที่ไม่ได้ชำระภาษีเลยตามข้อ ข. และง. ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดในข้อหาฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 แล้วที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำฟ้องข้อ ก. ข. และ ง. ไม่เข้าลักษณะเป็นความผิดข้อหาฉ้อโกงนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นฟ้องด้วย สำหรับคำฟ้องข้อ ค. นั้น เห็นว่า การบรรยายคำฟ้องในการกระทำผิดข้อหายักยอกนั้น ต้องระบุถึงวันเวลาที่จำเลยเบียดบังเอาทรัพย์ซึ่งเป็นวันกระทำผิดมาในฟ้องด้วย ส่วนวันที่จำเลยครอบครองทรัพย์ไม่ใช่วันกระทำผิดเพราะผู้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นไว้ แต่ไม่ได้เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริตผู้นั้นย่อมไม่มีความผิด ข้อหายักยอกตามคำฟ้องข้อ ค. ที่กล่าวแต่เพียงวันที่จำเลยครอบครองทรัพย์ของโจทก์ แต่ไม่มีข้อความแสดงว่าจำเลยได้เบียดบังเอาทรัพย์นั้น เป็นของตนวันเวลาใด จะถือเอาวันที่จำเลยครอบครองทรัพย์เป็นวันที่จำเลยกระทำผิดหาได้ไม่ เพราะไม่มีข้อความตอนใดที่จะให้เข้าใจได้เช่นนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำฟ้องข้อ ค.เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ - โจทก์ร่วม โจทก์ - บริษัท อาณาจักรสุโขทัยหินอ่อน จำกัด จำเลย - นาง สุจิรา ม่วงวิเชียร

ชื่อองค์คณะ ไพฑูรย์ แสงจันทร์เทศ จองทรัพย์ เที่ยงธรรม ธวัชชัย พิทักษ์พล

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE