คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4725/2565
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 46 วรรคสาม ประมวลรัษฎากร ม. 4 ทศ, 27 ตรี, 40 (3), 54, 70 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 7 (3), 9, 17 ระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ.2539
แม้เอกสารที่โจทก์นำสืบจะเป็นภาษาต่างประเทศและไม่ได้ทำคำแปลเป็นภาษาไทย แต่คู่ความสามารถส่งพยานเอกสารที่ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศต่อศาลได้โดยไม่จำต้องทำคำแปลเป็นภาษาไทยเสมอไป เว้นเสียแต่ศาลสั่งให้ทำคำแปล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 46 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 กรณีจึงรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ได้ และเมื่อโจทก์ได้ส่งเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยตั้งแต่ในชั้นพิจารณาคำร้องขอคืนเงินภาษีและชั้นพิจารณาอุทธรณ์แล้ว ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจยกประเด็นตามเอกสารดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้
ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี ไม่ได้กำหนดบทนิยามของคำว่า "ผู้มีสิทธิขอคืน" ไว้แต่จำเลยมีระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ. 2539 ข้อ 4 (5) ให้นิยามของคำว่า "ผู้ขอคืน" หมายความรวมถึงผู้เสียประโยชน์จากการชำระหรือนำส่งภาษีไว้เกิน หรือผิด หรือซ้ำ หรือโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย มีสิทธิขอคืนเงินส่วนที่เกินได้ เมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายให้แก่บริษัท บ. ตามอัตราที่กฎหมายกำหนดแล้วนำส่งให้แก่จำเลย ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 70 การที่โจทก์โอนเงินในส่วนที่หักไว้เกินให้แก่บริษัท บ. แล้วจำเลยก็ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราที่ถูกต้องให้แก่บริษัท บ. เท่ากับจำเลยยอมรับว่าบริษัท บ. ได้ชำระภาษีไว้ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ข้อเท็จจริงดังกล่าวพอฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียประโยชน์จากการชำระหรือนำส่งภาษีไว้เกิน โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี
ป.รัษฎากร มาตรา 4 ทศ กำหนดให้ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร โดยไม่ใด้กำหนดว่าผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรจะต้องร้องขอดอกเบี้ยต่อจำเลยก่อนแต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าภาษีอากรที่ได้รับคืนตามที่โจทก์ขอ
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร ที่ กค 0719.04 (ภค)/4244 และที่ กค 0719.04 (ภค)/4245 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของสรรพากรภาค 1 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีจำเลย ตามหนังสือเลขที่ กค 0719.32.3/10831 ลงวันที่ 17 กันยายน 2561 และหนังสือเลขที่ กค 0719.32.3/11330 ลงวันที่ 25 กันยายน 2561 และให้จำเลยคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคล หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2560 จำนวน 261,082 บาท และ 2,499,156.96 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน นับแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันที่คดีถึงที่สุดเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งไม่คืนภาษีแก่โจทก์ตามหนังสือสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 4 เลขที่ กค 0719.04 (ภค)/4244 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 และเลขที่ กค 0719.04 (ภค)/4245 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 กับคำวินิจฉัยการอุทธรณ์คำสั่งไม่คืนเงินภาษีอากรตามหนังสือสำนักงานสรรพากรภาค 1 เลขที่ กค 0719.32.3/10831 ลงวันที่ 17 กันยายน 2561 และเลขที่ กค 0719.32.3/11330 ลงวันที่ 25 กันยายน 2561 ให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรรวม 2,760,238.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน นับแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันที่คดีถึงที่สุดเป็นต้นไปจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยต้องไม่เกินจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีภาษีอากรพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 โจทก์จ่ายเงินให้แก่บริษัท I เป็นค่าสิทธิตามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงค์โปร์ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ข้อ 12 ประกอบประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (3) จำนวน 2,610,820.20 บาท และ 24,991,563.55 บาท ตามลำดับ แล้วนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ในอัตราร้อยละ 15 เป็นเงิน 391,623.01 บาท และ 3,748,735.13 บาท ต่อมาโจทก์พบว่าได้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายไว้เกิน เนื่องจากมีการแก้ไขความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงค์โปร์เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ฉบับแก้ไข มีผลใช้บังคับวันที่ 1 มกราคม 2560 โจทก์มีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5 วันที่ 19 พฤษภาคม 2560 และวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีที่นำส่งไว้เกินจากจำเลยสำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2560 จำนวน 261,082 บาท และ 2,499,156.96 บาท ตามคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) ต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรที่ กค 0719.04 (ภค)/4244 และที่ กค 0719.04 (ภค)/4245 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 ถึงโจทก์ วันที่ 18 และ 22 พฤษภาคม 2561 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรดังกล่าว ต่อมาจำเลยมีหนังสือเลขที่ กค 0719.32.3/10831 ลงวันที่ 17 กันยายน 2561 และเลขที่ กค 0719.32.3/11330 ลงวันที่ 25 กันยายน 2561 วินิจฉัยว่า คำสั่งสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 4 ที่ไม่อนุมัติคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2560 แก่โจทก์ชอบแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรหรือไม่ และคำสั่งแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรตามหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรที่ กค 0719.04 (ภค)/4244 และที่ กค 0719.04 (ภค)/4245 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามหนังสือเลขที่ กค 0719.32.3/10831 ลงวันที่ 17 กันยายน 2561 และเลขที่ กค 0719.32.3/11330 ลงวันที่ 25 กันยายน 2561 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า พยานโจทก์ปากนางสาวสุพิชญนันทน์ เบิกความประกอบเอกสาร ซึ่งระบุว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 โจทก์โอนเงินตราต่างประเทศซึ่งคำนวณเป็นสกุลเงินบาท 253,149.05 บาท และ 2,407,248.62 บาท ไปยังบัญชีธนาคารของบริษัท I แม้เอกสารดังกล่าวจะเป็นภาษาต่างประเทศและโจทก์ไม่ได้ทำคำแปลเป็นภาษาไทยก็ตาม แต่คู่ความสามารถส่งพยานเอกสารที่ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศต่อศาลได้โดยไม่จำต้องทำคำแปลเป็นภาษาไทยเสมอไป เว้นเสียแต่ศาลสั่งให้ทำคำแปล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 กรณีจึงรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ได้ โดยโจทก์ได้แสดงหลักฐานดังกล่าวให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตั้งแต่ชั้นยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีและชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยแล้วว่า โจทก์คืนเงินค่าภาษีอากรส่วนที่หักไว้เกินให้แก่บริษัท I ซึ่งต่อมาวันที่ 30 มีนาคม 2560 จำเลยออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตราที่ถูกต้องให้แก่บริษัท I ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 41 หรือ 86 และ ล.2 แผ่นที่ 110 อันเป็นเวลาต่อเนื่องกับที่โจทก์โอนเงินให้แก่บริษัท I และเมื่อคำนวณจำนวนเงินภาษีที่โจทก์หัก ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 15 กับจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 แล้วปรากฏมีส่วนต่างตรงกับเงินที่โจทก์โอนไปให้แก่บริษัท I ประกอบกับได้ความจากนายสุภณัช พยานจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 86 และ ล.2 แผ่นที่ 110 แสดงว่าบริษัท I ได้ชำระภาษีไว้ถูกต้อง ไม่เป็นผู้เสียภาษีไว้เกิน ผิด หรือซ้ำ และเบิกความตอบทนายจำเลยถามติงว่า เอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 110 เป็นหนังสือรับรองซึ่งจำเลยออกเพื่อแสดงว่าโจทก์นำส่งเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้เกินจำนวน ทั้งโจทก์นำสืบโดยจำเลยไม่โต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า เงินค่าตอบแทนที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัท I เป็นเงินค่าแห่งลิขสิทธิ์อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (3) อันเป็นค่าสิทธิตามความในข้อ 12 วรรคสอง (ก) แห่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงค์โปร์ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ซึ่งกำหนดภาษีที่เรียกเก็บอัตราร้อยละ 5 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ของบริษัท I เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด แล้วโจทก์ได้โอนเงินให้แก่บริษัท I เพื่อชดเชยเงินภาษีส่วนที่หักไว้เกินและนำส่งให้แก่จำเลยเกินจำนวน และเมื่อโจทก์ได้ส่งหลักฐานดังกล่าวให้แก่จำเลยตั้งแต่ในชั้นพิจารณาคำร้องขอคืนเงินภาษีและชั้นพิจารณาอุทธรณ์แล้ว ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เงินภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ที่โจทก์นำส่งแก่จำเลยไม่ใช่เงินของโจทก์ แต่เป็นของบริษัท I ประมวลรัษฎากร มาตรา 54 เพียงกำหนดหน้าที่ให้โจทก์เป็นผู้หักภาษีเงินได้นำส่งให้แก่จำเลยไม่ได้กำหนดสิทธิในการขอคืนภาษีจากจำเลย โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียประโยชน์จากการนำเงินของบริษัท I มาชำระหรือนำส่งภาษีไว้แก่จำเลยบริษัท I ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเท่านั้นที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษี (ค.10) จากจำเลย การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีจากจำเลยไม่ตัดสิทธิบริษัท I ที่จะยื่นคำร้องขอคืนภาษีจากจำเลยอีก โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอคืนภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ตรี จากจำเลย นั้น เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ตรี วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น การขอคืนภาษีอากรและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรจะต้องเสียภาษี หรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด…" วรรคสอง บัญญัติว่า "คำร้องขอคืนตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนด และให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืน ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่ผู้มีสิทธิขอคืนมีภูมิลำเนาหรือ ณ สถานที่อื่นตามที่อธิบดีกำหนด" มาตรา 70 บัญญัติว่า "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 54 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" มาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าผู้จ่ายเงินตามมาตรา 50 และมาตรา 53 มิได้หักและนำเงินส่ง หรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่งหรือตามจำนวนที่ขาดไป แล้วแต่กรณี" เห็นได้ว่าประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ตรี ไม่ได้กำหนดบทนิยามของคำว่า "ผู้มีสิทธิขอคืน" ไว้แต่อย่างใด แต่จำเลยมีระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ. 2539 ให้นิยามของคำว่า "ผู้ขอคืน" หมายความว่า (1) ผู้เสียภาษีอากรซึ่งได้ชำระภาษีอากรไว้เกิน หรือ ผิด หรือซ้ำ (2) ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกิน และหรือมีภาษีเกินเนื่องจากได้รับการเครดิตภาษี (3) ผู้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีแต่ได้ชำระภาษีไว้ หรือถูกหักภาษีไว้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ (4) ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ที่นำเงินของตนส่งภาษีไว้ผิดหรือซ้ำ (5) ผู้เสียประโยชน์จากการชำระหรือนำส่งภาษีไว้เกิน หรือผิด หรือซ้ำ หรือโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย แสดงว่า ในทางปฏิบัติของจำเลย ผู้ขอคืนภาษีหาใช่หมายความถึงเฉพาะผู้มีเงินได้หรือผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเท่านั้น หากยังหมายความรวมถึง ผู้เสียประโยชน์จากการชำระหรือนำส่งภาษีไว้เกิน หรือผิด หรือซ้ำ หรือโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียก็มีสิทธิขอคืนเงินส่วนที่เกินได้ เมื่อโจทก์เป็นผู้จ่ายเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (3) จากประเทศไทยให้แก่บริษัท I โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายให้แก่บริษัท I ตามอัตราที่กฎหมายกำหนดแล้วนำส่งให้แก่จำเลย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 การที่โจทก์โอนเงินในส่วนที่หักไว้เกินให้แก่บริษัท I แล้วจำเลยก็ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราที่ถูกต้องให้แก่บริษัท I เท่ากับจำเลยยอมรับว่าบริษัท I ได้ชำระภาษีไว้ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ข้อเท็จจริงดังกล่าวพอฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เสียประโยชน์จากการชำระหรือนำส่งภาษีไว้เกิน โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ตรี คำสั่งแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรตามหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรที่ กค 0719.04 (ภค)/4244 และที่ กค 0719.04 (ภค)/4245 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามหนังสือเลขที่ กค 0719.32.3/10831 ลงวันที่ 17 กันยายน 2561 และเลขที่ กค 0719.32.3/11330 ลงวันที่ 25 กันยายน 2561 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า จำเลยต้องคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 บัญญัติว่า "ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งในเรื่องต่อไปนี้…(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร…" และมาตรา 9 บัญญัติว่า "คดีตามมาตรา 7 (3) ในกรณีที่กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้ขอคืนค่าภาษีอากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ จะดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาเช่นว่านั้น" เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีที่นำส่งไว้เกินจากจำเลยและฟังได้ว่า คำสั่งแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรตามหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรที่ กค 0719.04 (ภค)/4244 และที่ กค 0719.04 (ภค)/4245 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามหนังสือเลขที่ กค 0719.32.3/10831 ลงวันที่ 17 กันยายน 2561 และเลขที่ กค 0719.32.3/11330 ลงวันที่ 25 กันยายน 2561 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงต้องคืนเงินภาษีส่วนเกินให้แก่โจทก์ ซึ่งทางนำสืบของจำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าจำนวนเงินที่โจทก์ขอคืนไม่ถูกต้องอย่างไร ที่ศาลภาษีอากรกลางและศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้จำเลยคืนต้นเงินภาษีตามฟ้องจึงชอบ ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 4 ทศ กำหนดให้ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร โดยไม่ได้กำหนดว่าผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรจะต้องร้องขอดอกเบี้ยต่อจำเลยก่อนแต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องและได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าภาษีอากรที่ได้รับคืนตามที่โจทก์ขอ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ภษ.48/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท อ. จำเลย - กรมสรรพากร
ชื่อองค์คณะ พอพันธุ์ คิดจิตต์ อุดม วัตตธรรม สุนทร ทรงฤกษ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลภาษีอากรกลาง - นายกฤษฎา สกุลศรีประเสริฐ
- นายบุญเขตร์ พุ่มทิพย์