สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4630/2565

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4630/2565

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49

การเลิกจ้างที่จะถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น ต้องพิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่านายจ้างมีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่

โจทก์ทำงานบกพร่องและล่าช้า จำเลยจึงออกหนังสือเตือน โจทก์ยอมรับว่า เป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยอดเงินขาดทุนของจำเลย ซึ่งแปลความได้ว่า โจทก์ยังคงทำงานบกพร่องและล่าช้ามิใช่เพียงจำเลยทวงถามงาน

โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงินมีผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคนและได้รับค่าจ้างในอัตราสูง จึงต้องมีความรู้ความสามารถและความรับผิดชอบมากกว่าพนักงานทั่วไป จำเลยย่อมคาดหวังว่าโจทก์จะสามารถควบคุมดูแลงานในความรับผิดชอบของจำเลยให้ดำเนินงานไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความเรียบร้อยและรวดเร็ว งานฝ่ายบัญชีและการเงินนับว่าเป็นส่วนสำคัญแก่การประกอบธุรกิจของจำเลย หากงานยังบกพร่องย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหายได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ภายหลังมีหนังสือเตือนโจทก์ประมาณ 2 เดือน นับว่าให้โอกาสโจทก์ในการแก้ไขปรับปรุงการทำงานเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว แต่โจทก์ยังคงทำงานบกพร่องและล่าช้าจำเลยย่อมไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไป เมื่อไม่ปรากฏว่า การเลิกจ้างเป็นไปโดยมีเจตนากลั่นแกล้ง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว ถือว่าจำเลยมีเหตุอันสมควรและเพียงพอ ที่จะเลิกจ้างแล้ว จึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 2,238,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 375,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 8 มกราคม 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2558 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 226,200 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 โดยอ้างว่าโจทก์ปฏิบัติงานไม่เป็นที่น่าพอใจ ล่าช้าและละเลยการรายงานต่อแผนกการเงิน ละเลยการทำบัญชีลูกหนี้การค้าของบริษัท ความแม่นยำในคุณภาพข้อมูล (ขาดการตรวจพิสูจน์ทางบัญชี) ไม่มีการปรับปรุงหลังจากได้รับการแจ้งเตือนเป็นหนังสือเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 และขาดการให้ความร่วมมือกับแผนกอื่น ๆ ซึ่งปิดกั้นการพัฒนาบริษัท โดยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และเงินอื่นตามกฎหมาย รวมเป็นเงิน 1,816,689 บาท แก่โจทก์ แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทำงานบกพร่องจนจำเลยต้องออกหนังสือเตือน หลังจากนั้นโจทก์ยังคงทำงานตามหน้าที่ เพียงแต่สำนักงานภูมิภาคของจำเลยมีการทวงถามงานจากโจทก์ ไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำผิดอย่างอื่นหรือจำเลยได้ตักเตือนโจทก์อีก และจำเลยไม่ได้ให้โอกาสโจทก์แก้ไขปรับปรุงจนกระทั่งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ภายหลังออกหนังสือเตือนครั้งเดียวเพียง 2 เดือนเศษ ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า ภายหลังโจทก์ได้รับหนังสือเตือนแล้วโจทก์ทำงานต่อไปโดยไม่ได้กระทำผิดอย่างอื่นและไม่พบความบกพร่องของงานเช่นที่ผ่านมานอกจากการถูกทวงถามงาน เมื่อไม่ปรากฏว่าเกิดความเสียหายแก่จำเลย จำเลยควรให้เวลาสำหรับการปรับปรุงการทำงานที่นานกว่านี้ ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ทำงานบกพร่องล่าช้าและไม่สามารถทำงานร่วมกับบุคคลอื่นในองค์กรได้ ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเมลตักเตือนโจทก์ 2 ครั้ง ต่อมาจำเลยได้ทำหนังสือตักเตือนโจทก์อย่างเป็นทางการ โจทก์ไม่ยอมรับหนังสือเตือน แสดงว่าโจทก์ไม่ต้องการแก้ไขความบกพร่องในการทำงาน และโจทก์ก็ยังคงทำงานบกพร่องล่าช้า การกระทำของโจทก์ทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยในด้านความน่าเชื่อถือต่อสำนักงานประจำภูมิภาคของจำเลย และจำเลยอาจต้องรับผิดต่อหน่วยงานรัฐในประเทศไทยเนื่องจากการรายงานข้อมูลทางการเงินที่บกพร่องล่าช้า จำเลยให้เวลาโจทก์พอสมควรแล้วจึงเลิกจ้างโจทก์ เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควรนั้น เห็นว่า การเลิกจ้างที่จะถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น ต้องพิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่านายจ้างมีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ คดีนี้โจทก์ทำงานบกพร่องและล่าช้า จำเลยจึงออกหนังสือเตือนโจทก์ ต่อมาสำนักงานภูมิภาคของจำเลยติดต่อโจทก์ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเมลเกี่ยวกับงานของโจทก์ที่เสนอต่อสำนักงานภูมิภาคของจำเลย ตามเอกสารหมาย ล.12 และ ล.13 โดยเอกสารหมาย ล.12 เป็นการติดต่อระหว่างนายประวิน ผู้จัดการฝ่ายการควบคุมการขนส่งทางอากาศและทะเล ประจำสำนักงานภูมิภาคของจำเลย กับโจทก์ โดยนายประวิน ส่งข้อความทวงถามรายงานทางการเงิน (โอพีอา) ประจำปี 2561 จากโจทก์ ถึง 4 ครั้ง แต่โจทก์ไม่ตอบกลับ ส่วนเอกสารหมาย ล.13 เป็นการติดต่อระหว่างนายนิพัล ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน ประจำสำนักงานภูมิภาคของจำเลย กับโจทก์ โดยนายนิพัลส่งข้อความให้โจทก์แก้ไขการทำงบทางการเงินของจำเลย และให้โจทก์ชี้แจงรายละเอียดความบกพร่องของการทำงบการเงินดังกล่าว โจทก์ยอมรับว่า เป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยอดเงินขาดทุนของจำเลย ซึ่งแปลความได้ว่าโจทก์ยังคงทำงานบกพร่องและล่าช้า มิใช่เพียงจำเลยทวงถามงานดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมา ดังนั้น เมื่อโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงินมีผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคนและได้รับค่าจ้างในอัตราสูง จึงต้องมีความรู้ความสามารถและความรับผิดชอบมากกว่าพนักงานทั่วไป จำเลยย่อมคาดหวังว่าโจทก์จะสามารถควบคุมดูแลงานในความรับผิดชอบของจำเลยให้ดำเนินงานไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความเรียบร้อยและรวดเร็ว งานฝ่ายบัญชีและการเงินนับว่าเป็นส่วนสำคัญแก่การประกอบธุรกิจของจำเลย หากงานยังบกพร่องย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหายได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ภายหลังมีหนังสือเตือนโจทก์ประมาณ 2 เดือน นับว่าให้โอกาสโจทก์ในการแก้ไขปรับปรุงการทำงานเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว แต่โจทก์ยังคงทำงานบกพร่องและล่าช้า จำเลยย่อมไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไป เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การเลิกจ้างเป็นไปโดยมีเจตนากลั่นแกล้ง ทั้งจำเลยได้จ่ายเงินค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้ รวมเป็นเงิน 1,816,689 บาท แก่โจทก์แล้ว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว ถือว่าจำเลยมีเหตุอันสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างแล้ว จึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ร.24/2565

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง ป. จำเลย - บริษัท ด.

ชื่อองค์คณะ จักษ์ชัย เยพิทักษ์ กิตติพงษ์ ศิริโรจน์ สมจิตร์ ทองศรี

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแรงงานกลาง - นายเกริกเกียรติ พุทธสถิตย์

  • นางสาวผจงธรณ์ วรินทรเวช
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE