สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4507/2533

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4507/2533

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249, 296 วรรคสอง, 309 วรรคสอง

คำสั่งของศาลที่จะเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 วรรคสอง จะต้องเป็นกรณีที่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมหรือแยกทรัพย์สินหรือขอให้ขายทรัพย์สินนั้นตามลำดับที่กำหนดไว้ หรือร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่สั่งให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินตามมาตรา 309(1)(2) หรือ (3) และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยอมปฏิบัติตามคำร้องขอหรือคำคัดค้านเช่นว่านั้น ผู้ร้องได้ยื่นคำขอต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องภายใน 2 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิเสธ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งชี้ขาดในเรื่องนั้น คำสั่งชี้ขาดของศาลจึงจะเป็นที่สุดแต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการชั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อน ให้ยกคำร้อง จึงมิใช่คำสั่งชี้ขาดในเรื่องรวมหรือแยกทรัพย์สินขายทอดตลาด อันจะทำให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุดตามบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อคำสั่งของศาลชั้นต้น มิใช่คำสั่งชี้ขาดในเรื่องให้รวมหรือแยกทรัพย์สินขายทอดตลาด อันจะทำให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบที่จะเลื่อนการขายทอดตลาดไปจนกว่าศาลจะได้มีคำสั่งชี้ขาดในเรื่องนี้ตามมาตรา 309 วรรคสองและจำเลยที่ 1 ก็ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมไม่มีอำนาจขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ไปในระหว่างที่ยังไม่มีคำสั่งของศาลในเรื่องให้รวมหรือแยกทรัพย์สินขายทอดตลาดซึ่งเป็นที่สุด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไปในขณะที่คดีเรื่องนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เช่นนี้จึงเป็นการกระทำโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดี จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา296 วรรคสอง ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในคำร้องเป็นลายมือปลอมนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

เนื้อหาฉบับเต็ม

คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน 7 แปลง และสิทธิการเช่าโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 ขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อได้จากการขายทอดตลาด

จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่า ราคาทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปต่ำกว่าราคาที่แท้จริงเกือบสามล้านบาท และการขายทอดตลาดกระทำไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ทั้งหมด

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า การขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีนี้เสีย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งในคำร้องของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 15 กันยายน 2530 ที่ขอให้ขายที่ดินทีละแปลงเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 วรรคสอง หรือไม่เห็นว่า คำสั่งของศาลที่จะเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 วรรคสอง จะต้องเป็นกรณีที่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมหรือแยกทรัพย์สินหรือขอให้ขายทรัพย์สินนั้นตามลำดับที่กำหนดไว้ หรือร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่สั่งให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินตามมาตรา 309(1)(2) หรือ (3) และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยอมปฏิบัติตามคำต้องขอหรือคำคัดค้านเช่นว่านั้น ผู้ร้องได้ยื่นคำขอต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องภายใน2 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิเสธ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งชี้ขาดในเรื่องนั้น คำสั่งชี้ขาดของศาลจึงจะเป็นที่สุดแต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการชั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อนให้ยกคำร้องจึงมิใช่คำสั่งชี้ขาดในเรื่องให้รวมหรือแยกทรัพย์สินขายทอดตลาดอันจะทำให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะเลื่อนการขายไปจนกว่าศาลจะได้มีคำสั่งชี้ขาดในเรื่องนี้ ตามมาตรา 309 วรรคสอง และจำเลยที่ 1 ก็ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมไม่มีอำนาจขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ไปในระหว่างที่ยังไม่มีคำสั่งของศาลในเรื่องให้รวมหรือแยกทรัพย์สินขายทอดตลาดซึ่งเป็นที่สุด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไปในขณะที่คดีเรื่องนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์เช่นนี้ การขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดี จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา296 วรรคสอง ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1ในคำร้องกรณีนี้เป็นลายมือปลอมนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง อรพินท์ เนติกฤษฎา จำเลย - นาย สำอาง ค์ เทพ สง่า กับพวก

ชื่อองค์คณะ พัลลภ พิสิษฐ์สังฆการ สวิน อักขรายุธ ปิ่นทิพย์ สุจริตกุล

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE