คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4413/2565
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 44/2 วรรคหนึ่ง
แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีส่วนแพ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีส่วนอาญานั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงเป็นความบกพร่องเฉพาะในคดีส่วนแพ่ง มิได้มีผลกระทบต่อคดีส่วนอาญา ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนอาญาไปก่อนแล้วพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งในภายหลังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/2 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 283 ทวิ, 317
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหากระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางสาว ร. เป็นผู้แทนเฉพาะคดีของผู้เสียหายที่ 1 เนื่องจากนาง อ. มารดาผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ไม่สามารถจะทำการตามหน้าที่ได้
เด็กหญิง น. ผู้เสียหายที่ 1 โดยนางสาว ร. ผู้แทนเฉพาะคดี ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการทำละเมิดของจำเลย ทำให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับความเสียหายแก่ร่างกายและจิตใจเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหายที่ 1
จำเลยให้การในส่วนแพ่งว่า ค่าเสียหายที่ผู้เสียหายที่ 1 เรียกร้องมาสูงเกินไป จำเลยนำเงิน 20,000 บาท มาวางต่อศาลเพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 1 ในความผิดที่ให้การรับสารภาพแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง (เดิม), 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม (ที่ถูก วรรคสองและวรรคสาม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ฐานโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งถูกพรากไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี รวมจำคุก 7 ปี กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มจากเงินที่นำมาวางศาลแล้วอีกจำนวน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหายที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานโดยทุจริต รับตัวเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งถูกพรากไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร คงจำคุก 2 ปี ในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และยกคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียหายที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่สมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 และการไม่ส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยให้ผู้ร้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เด็กหญิง น. ผู้เสียหายที่ 1 โดยนางสาว ร. ผู้แทนเฉพาะคดี ผู้ร้อง ยื่นคำร้องในส่วนแพ่งขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมิได้แจ้งวันนัดให้ผู้ร้องมาฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ทั้งไม่ได้อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ผู้ร้องฟัง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182 และมาตรา 182 ประกอบมาตรา 215 และกระทบต่อสิทธิในการอุทธรณ์และฎีกาของผู้ร้อง นอกจากนี้เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นเพียงแต่สั่งให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้พนักงานอัยการโจทก์โดยไม่ได้สั่งให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง ย่อมทำให้ผู้ร้องเสียสิทธิในการทำคำแก้อุทธรณ์ตามกฎหมายจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 237 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาคดีโดยมิได้มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเสียก่อน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีส่วนแพ่งจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีส่วนอาญานั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวกับผู้ร้องให้ถูกต้องดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นความบกพร่องเฉพาะในคดีส่วนแพ่ง มิได้มีผลกระทบต่อคดีส่วนอาญา เมื่อศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนอาญาไปก่อนแล้วพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งในภายหลังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/2 วรรคหนึ่ง จึงชอบที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยคดีในส่วนอาญาต่อไป
ข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า เด็กหญิง น. ผู้เสียหายที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2548 เป็นบุตรของนาง อ. ผู้เสียหายที่ 2 และนาย ป. ซึ่งถึงแก่กรรม ขณะเกิดเหตุคดีนี้ผู้เสียหายที่ 1 มีอายุ 13 ปีเศษ สำหรับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม กับฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร แม้เด็กนั้นจะยินยอมก็ตาม โจทก์และจำเลยไม่ได้ฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานโดยทุจริต รับตัวเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งถูกพรากไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ผู้เสียหายที่ 1 ยังอยู่ในความปกครองของผู้เสียหายที่ 2 การที่จำเลยซื้อประเวณีผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานโดยทุจริต รับตัวเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งถูกพรากไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า มีการกระทำความผิดฐานพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารหรือไม่ เห็นว่า คำว่า "พราก" ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 หมายความว่า พาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแล โดยไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน โดยบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก ทั้งนี้ ไม่ว่าเด็กจะไปอยู่ที่ใด หากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลยังเอาใจใส่ เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตลอดเวลา ดังนี้ การพรากเด็กไม่ว่าเด็กจะออกจากบ้านเองหรือมีผู้ชักนำเด็กก็ย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น ข้อเท็จจริงได้ความจากผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า นับตั้งแต่เด็กจนโตผู้เสียหายที่ 1 มีย่าของผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้ดูแล เนื่องจากผู้เสียหายที่ 2 และนายปี บิดาผู้เสียหายที่ 1 ต้องไปทำงานรับจ้างที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ผู้เสียหายที่ 2 จะกลับมาเยี่ยมเดือนละประมาณ 2 ครั้ง ทั้งคอยส่งค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนให้กับผู้เสียหายที่ 1 จนกระทั่งผู้เสียหายที่ 1 เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ผู้เสียหายที่ 1 จึงได้เดินทางไปอยู่อาศัยกับผู้เสียหายที่ 2 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากย่าผู้เสียหายที่ 1 ถึงแก่กรรม แสดงว่าแม้ผู้เสียหายที่ 1 มีย่าดูแลตั้งแต่เด็กจนโต แต่ผู้เสียหายที่ 2 ก็ยังคงดูแลช่วยส่งเสียในการศึกษาเล่าเรียนไม่ได้ทอดทิ้ง ดังนั้น อำนาจปกครองผู้เสียหายที่ 1 จึงอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ตลอดมา แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้จากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่า ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 มีปากเสียงกับผู้เสียหายที่ 2 จนผู้เสียหายที่ 1 ต้องไปอยู่กับป้า ก็เป็นการไปโดยความยินยอมของผู้เสียหายที่ 2 หลังจากนั้นเมื่อผู้เสียหายที่ 1 หนีออกจากบ้านป้า โดยผู้เสียหายที่ 2 และป้าไม่ทราบเรื่อง แล้วผู้เสียหายที่ 1 ไปอยู่กับนางสาว น. เป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า หลังจากผู้เสียหายที่ 1 ไปอยู่กับป้าชื่อนาง ส. ได้ประมาณ 3 วัน ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับการติดต่อจากนาง ส. ว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้หนีออกจากบ้านไป เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ทราบเรื่องก็ได้พยายามติดตามหาตัวผู้เสียหายที่ 1 แต่ไม่พบ ต่อมาผู้เสียหายที่ 2 ทราบจากเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดแม่ฮ่องสอนว่าผู้เสียหายที่ 1 ป่วยอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้เสียหายที่ 2 รีบเดินทางไปพบผู้เสียหายที่ 1 ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้เสียหายที่ 1 เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ผู้เสียหายที่ 2 ฟัง ผู้เสียหายที่ 2 จึงได้เข้าพบเจ้าพนักงานตำรวจและแจ้งความ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 ยังติดตามตัวผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งหนีออกจากบ้านโดยไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้ผู้เสียหายที่ 1 มีอิสระตามใจชอบ เมื่อทราบเหตุก็ไปแจ้งความอันแสดงถึงความประสงค์ให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีแก่จำเลย จึงถือได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 ยังคงอยู่ในความปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และเมื่อผู้เสียหายที่ 1 ยังคงอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 กับได้ความจากคำเบิกความผู้เสียหายที่ 1 ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ได้ยินนางสาว พ. พูดคุยกับจำเลยและพวกเกี่ยวกับเรื่องเงินและได้ยินมีการต่อรองราคากันด้วย แต่จะเป็นเงินค่าอะไรผู้เสียหายที่ 1 ไม่ทราบ ผู้เสียหายที่ 1 ได้ยินนางสาว พ. พูดว่า 3,000 บาท ต่อเด็ก 2 คน จำเลยกับพวกตอบตกลง และนาย ย. โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้แก่นางสาว พ. ซึ่งคำเบิกความส่วนนี้ของผู้เสียหายที่ 1 ย่อมหมายความว่า นางสาว พ. ตกลงให้ผู้เสียหายที่ 1 ค้าประเวณีแก่จำเลยกับพวกโดยนางสาว พ. ได้รับเงินจากค่าตัวของผู้เสียหายที่ 1 การที่นางสาว พ. ให้ผู้เสียหายที่ 1 ค้าประเวณีโดยรับเงินค่าตัวของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าว ย่อมเป็นการทำโดยปราศจากอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นการพรากตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 และเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อหากำไรและเพื่อการอนาจาร เมื่อต่อมาจำเลยซึ่งให้การรับสารภาพในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม รับตัวผู้เสียหายที่ 1 ไว้ เพื่อกระทำดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการรับตัวผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กที่ถูกพรากไปเพื่อการอนาจาร เป็นความผิดฐานโดยทุจริต รับตัวเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งถูกพรากไปเพื่อการอนาจารตามฟ้องอีกกระทงหนึ่งด้วย ที่จำเลยแก้ฎีกาในทำนองว่า ผู้เสียหายที่ 1 พ้นจากอำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 แล้ว จึงไม่เป็นการพรากตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 นั้น ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่แก้ฎีกาว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีคำพิพากษายกฟ้องนางสาว น. ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว นั้น เห็นว่า เมื่อวินิจฉัยข้างต้นแล้วว่านางสาว พ. กระทำผิดฐานพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 แม้ฟังได้ว่านางสาว น. ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดคำแก้ฎีกาของจำเลยส่วนนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า คดีส่วนอาญาให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 เฉพาะคดีส่วนแพ่ง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องฟังและส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยให้ผู้ร้องแก้ หากผู้ร้องอุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น แก้อุทธรณ์หรือไม่แก้อุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นรวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมให้รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งใหม่
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.976/2565
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัด ผู้ร้อง - เด็กหญิง น. โดยนางสาว ร. ผู้แทนเฉพาะคดี จำเลย - นาย อ.
ชื่อองค์คณะ พงษ์ธร จันทร์อุดม จักรกฤษณ์ อนันต์สุชาติกุล สวัสดิ์ สุรวัฒนานันท์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน - นางสาวจิตเมตต์ เพ็ญธิสาร ศาลอุทธรณ์ภาค 5 - นายสมศักดิ์ เชื่อมไพบูลย์