คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4072/2530
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 583 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 10, 12 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. ,
การที่โจทก์ยินยอมมาทำงานในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ และมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานนั้น โจทก์ย่อมมีหน้าที่ปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลยและต้องอยู่ในบังคับของระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำำานของจำเลยด้วย
ระเบียบข้อบังคับของจำเลยระบุว่า 'บุคคลที่ถูกลงโทษโดยตักเตือนด้วยวาจาหรือตักเตือนด้วยหนังสือ หรือทำหนังสือทัณฑ์บนได้แก่ผู้ที่กระทำผิดในสถานเบา ผู้ที่ได้รับการลงโทษดังกล่าวรวม 3 ครั้ง บริษัทฯ จะถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับและจะพิจารณาลงโทษในสถานหนักตามที่เห็นสมควร' ดังนี้จำเลยจะอาศัยความข้อนี้เลิกจ้างโจทก์ได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้รับการลงโทษด้วยการตักเตือนมาก่อนแล้วรวม 3 ครั้ง
โจทก์ละทิ้งหน้าที่มาแล้ว 2 ครั้ง และถูกตักเตือนเป็นหนังสือแล้วทั้งสองครั้ง ต่อมาโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นครั้งที่ 3ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยมีสิทธิลงโทษโจทก์ด้วยการตักเตือนอีกได้ เช่นนี้ แม้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) จะให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยก็ตาม แต่เมื่อระเบียบข้อบังคับดังกล่าวเป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งจำเลยจะต้องถือปฏิบัติตาม จำเลยจึงไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย แต่จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583.
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต่อมาวันที่ 26มีนาคม 2530 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2530 โจทก์ละทิ้งหน้าที่และออกนอกบริเวณโรงงานโดยมิได้รับอนุญาต และเป็นการกระทำผิดซ้ำเป็นครั้งที่สามภายในเวลา 1 ปี คือครั้งที่หนึ่งโจทก์ถูกเตือนด้วยวาจาเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2529 ครั้งที่สองถูกเตือนเป็นหนังสือเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2530 จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวและจ่ายค่าชดเชยขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การละทิ้งหน้าที่ของโจทก์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2529 ซึ่งเป็นวันเสาร์อันมิใช่เวลาทำงานปกติคำเตือนครั้งแรกจึงไม่มีผลต้องถือว่าโจทก์ถูกเตือนเพียงครั้งเดียว การเลิกจ้างของจำเลยจึงขัดต่อระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย และกรณีไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การที่โจทก์มาทำงานในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์นี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 40 (1) คือได้ค่าทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่าสองเท่าของค่าจ้างในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุดนั้น เมื่อโจทก์ยินยอมมาทำงานเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลยและต้องอยู่ในบังคับของระเบียบและข้อบังคับของจำเลย อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วย ดังนั้น เมื่อโจทก์ละทิ้งหน้าที่ในระหว่างเวลาทำงาน กรณีจึงต้องด้วยระเบียบและข้อบังคับของจำเลยที่กำหนดว่า 'พนักงานของบริษัท ฯ ทุกคนต้องไม่ละทิ้งหน้าที่ ฯลฯ' จำเลยจึงมีสิทธิลงโทษโจทก์โดยการตักเตือนได้อันเป็นการลงโทษที่ชอบด้วยระเบียบและข้อบังคับของจำเลยแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อไปว่า ตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 7 เรื่อง วินัยและโทษทางวินัย ข้อ 16 นั้นลูกจ้างซึ่งกระทำผิดวินัยแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ ละทิ้งหน้าที่กับขาดงานเป็นเวลาสามวันทำงานการละทิ้งหน้าที่หาใช่กรณีต้องติดต่อกันเป็นเวลาสามวันทำงานไม่ เมื่อโจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปแม้เป็นเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งวันก็เป็นการปฏิบัติผิดระเบียบและข้อบังคับดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงลงโทษตักเตือนโจทก์ได้ พิเคราะห์แล้ว ตามระเบียบและข้อบังคับของจำเลย ฯ ข้อ 16 กำหนดไว้ว่า
'พนักงานบริษัททุกคนต้องไม่ละทิ้งหน้าที่หรือขาดงานติดต่อกันเป็นเวลา 3 วันทำงาน ในกรณีที่มีแขกมาพบหรือจะออกนอกบริเวณโรงงานจะต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบก่อนทุกครั้ง'
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้กำหนดความในข้อนี้โดยให้มีความหมายถึงข้อห้ามไว้ 2 ประการคือ ต้องไม่ละทิ้งหน้าที่และต้องไม่ขาดงานการละทิ้งหน้าที่หมายถึงกรณีที่ลูกจ้างของจำเลยได้มาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติแล้วได้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ของตนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นชั่วระยะเวลาหนึ่งเวลาใดก็ตาม และเมื่อพิจารณาความในวรรคท้ายแล้วจะเห็นได้ชัดว่า แม้จะมีบุคคลภายนอกมาพบลูกจ้างของจำเลยในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ก็ดี หรือลูกจ้างของจำเลยมีกิจธุระจะต้องออกไปนอกบริเวณโรงงานที่ตนปฏิบัติหน้าที่ก็ดี ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ต่างเป็นเรื่องที่ลูกจ้างของจำเลยจำเป็นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น จำเลยก็ได้กำหนดให้ต้องรายงานผู้บังคับบัญชาทราบก่อนทุกครั้ง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีการละทิ้งหน้าที่ติดต่อกันเป็นเวลา 3 วันทำงาน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2529 โจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่ไปเตะตะกร้อจำเลยจึงลงโทษตักเตือนโจทก์ ตามเอกสารหมาย ล.1 และเมื่อวันที่13 มีนาคม 2530 โจทก์มาปฏิบัติงานแล้วละทิ้งหน้าที่ไป จำเลยได้ลงโทษโจทก์โดยมีหนังสือตักเตือนตามเอกสารหมาย ล.11ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2530 โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นครั้งที่สาม ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยจะลงโทษโจทก์โดยการตักเตือนอีกได้ ปัญหาต่อไปมีว่าจำเลยจะลงโทษโจทก์ในสถานหนักถึงขั้นเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยให้การว่าโจทก์ได้กระทำผิดฐานละทิ้งหน้าที่เป็นครั้งที่สามอันเป็นการแสดงว่าโจทก์ไม่เอาใจใส่ในหน้าที่การงาน เป็นเหตุให้เกิดความบกพร่องในหน้าที่ จึงให้เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ซึ่งเป็นการเลิกจ้างตามระเบียบและข้อบังคับของจำเลย ข้อ 28 ซึ่งมีข้อความว่า 'บุคคลที่ถูกลงโทษโดยตักเตือนด้วยวาจาหรือตักเตือนด้วยหนังสือหรือทำหนังสือทัณฑ์บนได้แก่ผู้ที่กระทำผิดในสถานเบา ผู้ที่ได้รับการลงโทษดังกล่าวรวม 3 ครั้ง บริษัท ฯจะถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับและจะพิจารณาลงโทษในสถานหนักตามที่เห็นสมควร' ความในข้อนี้มีความหมายว่า จำเลยจะเลิกจ้างลูกจ้างผู้กระทำผิดได้ต่อเมื่อผู้นั้นได้รับการลงโทษด้วยการตักเตือนมาก่อนแล้วรวม 3 ครั้ง จำเลยจึงจะมีสิทธิเลิกจ้างได้ แต่โจทก์ได้กระทำผิดและถูกลงโทษด้วยการตักเตือนมาแล้วเพียง 2 ครั้ง แม้จำเลยจะมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3) แต่เมื่อจำเลยมีระเบียบและข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นและเป็นคุณแก่โจทก์ จำเลยก็จะต้องถือปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับของจำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิลงโทษโจทก์ในสถานหนักด้วยการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยในการกระทำความผิดครั้งที่สามได้ ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่การงาน กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ชัยรัตน์ ปริทัศนชัย ฯ จำเลย - บริษัท หลอด ไฟฟ้า ไทย จำกัด
ชื่อองค์คณะ มาโนช เพียรสนอง จุนท์ จันทรวงศ์ สุพจน์ นาถะพินธุ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan