สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4041/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4041/2563

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 170

ป.วิ.อ. มาตรา 170 บัญญัติว่า คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด ซึ่งหมายถึงคู่ความไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลได้ แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามทางไต่สวนมูลฟ้องไม่เป็นความผิดตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูล ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามทางไต่สวนไม่เป็นความผิด และพิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ประทับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาตลอดไปจนถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย ซึ่งมีผลเท่ากับยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 192 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 213 และมาตรา 215 จึงชอบแล้ว

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 268

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 คดีมีมูลเฉพาะข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก, 83 ให้ประทับฟ้องในข้อหาดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 4

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสี่ทั้งหมด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 641 จำเลยที่ 1 เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล จำเลยที่ 2 เป็นผู้ใหญ่บ้าน จำเลยที่ 3 เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และจำเลยที่ 4 เป็นปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2556 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสี่ร่วมกันจัดให้มีการประชุมประชาคม จัดทำแผนหมู่บ้าน (พ.ศ.2557) และแผนพัฒนาสามปี (พ.ศ.2557 - 2559)

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 4 มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก, 83 หรือไม่ เห็นว่า แม้นายนพรัตน์ นายสมศักดิ์ และนางเปรมใจ พยานโจทก์ทั้งสามจะยืนยันว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการประชุม แต่ขณะที่ประชาชนลงลายมือชื่อในเอกสารผู้เข้าร่วมประชุมเอกสารหมาย จ. 6 และหนังสือร้องเรียนเอกสารหมาย จ.7 ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นเป็นใจในการลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 มาถึงห้องประชุมหลังเริ่มประชุมไปแล้วไม่ได้อยู่ขณะที่ประชาชนลงลายมือชื่อในเอกสาร ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ชี้แจงว่า จะเป็นผู้รับผิดชอบหากผู้ใดไม่ประสงค์ให้นำลายมือชื่อไปร้องเรียนจะนำลายมือชื่อออกจากเอกสารดังกล่าว จำเลยที่ 1 เป็นประธานในที่ประชุมเมื่อมีผู้คัดค้านก็ย่อมต้องชี้แจงเท่านั้น เพียงเหตุดังกล่าวจึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนรู้เห็นในการปลอมเอกสาร ส่วนเอกสารหมาย จ.9 จำเลยที่ 1 ก็รับมาจากจำเลยที่ 4 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้แก้ไขเพิ่มเติมหรือมีส่วนรู้เห็นการแก้ไขเพิ่มเติมของจำเลยที่ 4 เมื่อโจทก์ไม่มีพยานยืนยันว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมในการปลอมเอกสารดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานปลอมเอกสาร การที่จำเลยที่ 1 นำเอกสารดังกล่าวไปยื่นต่อศาลปกครองระยอง ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการใช้เอกสารปลอม ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก, 83 คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีมูล ส่วนกรณีคำฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 มีมูลหรือไม่นั้น ได้ความจากพยานโจทก์ว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 นำเอกสารหมาย จ.8 มาให้จำเลยที่ 4 ในฐานะปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเสนอต่อจำเลยที่ 1 เพื่อพิจารณา จำเลยที่ 4 ได้แก้ไขโดยตัดทิ้งและเพิ่มเติมข้อความในเอกสารหมาย จ.8 แล้วเขียนด้วยลายมือชื่อของตน จำเลยที่ 4 ได้จัดพิมพ์ข้อความที่แก้ไขใหม่ตามเอกสารหมาย จ.9 สอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 4 ตามเอกสารหมาย จ.24 จำเลยที่ 4 ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในวันเกิดเหตุด้วย เห็นว่า การที่จำเลยที่ 4 แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือร้องเรียนเอกสารหมาย จ.8 เมื่อพิจารณาเนื้อหาในเอกสารหมาย จ.8 เทียบกับเอกสารหมาย จ.9 แล้วพบว่าไม่ได้เป็นการตัดเนื้อหาเรื่องการร้องเรียนเปลี่ยนแปลงไปให้มีความหมายเป็นอย่างอื่นหรือเพิ่มเติมข้อความใหม่ให้แตกต่างไปแทนที่ข้อเท็จจริงเดิม การที่จำเลยที่ 4 จัดพิมพ์เอกสารหมาย จ.9 ขึ้นใหม่แทนเอกสารหมาย จ.8 เพราะเอกสารดังกล่าวยังไม่มีข้อความครบถ้วนตามระเบียบของทางราชการไม่ใช่เอกสารที่จำเลยที่ 4 จัดทำขึ้นโดยมีเจตนาลอกเลียนแบบหรือปลอมเอกสารหมาย จ.8 การแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารดังกล่าวขณะที่เอกสารอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 4 ซึ่งมีหน้าที่ในการรับหนังสือเพื่อเสนอต่อจำเลยที่ 1 จึงเป็นการปฏิบัติไปตามหน้าที่ ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหลังจากลงรับเอกสารดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 4 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารอีก จึงถือไม่ได้ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมตัดทอนและจัดพิมพ์เอกสารขึ้นใหม่แทนเอกสารฉบับเดิมเป็นการปลอมเอกสาร นอกจากนี้การกระทำของจำเลยที่ 4 อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ใหญ่บ้านและจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวบ้าน ให้นำเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 มามอบให้จำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้คัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติมของจำเลยที่ 4 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะตัวแทนของชาวบ้าน ยินยอมให้จำเลยที่ 4 แก้ไขเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.8 และจัดพิมพ์เอกสารหมาย จ.9 ขึ้นใหม่ โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.8 และจัดทำเอกสารหมาย จ.9 ขึ้นใหม่โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร การกระทำดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดหรือไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน การกระทำของจำเลยที่ 4 ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารหมาย จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร การที่จำเลยที่ 4 นำเอกสารดังกล่าวไปลงรับในหนังสือทางทะเบียน แล้วนำไปให้จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก, 83 คดีสำหรับจำเลยที่ 4 จึงไม่มีมูล กรณีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า คดีตามคำฟ้องสำหรับจำเลยทั้งสี่ ในความผิดฐานปลอมเอกสารราชการมีมูลหรือไม่ เห็นว่า ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำการปลอมเอกสารหมาย จ.7 ก่อนเสนอเอกสารดังกล่าวให้จำเลยที่ 4 เพื่อเสนอต่อจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.7 จึงมิใช่เป็นเอกสารราชการที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ หลังจากการลงรับในหนังสือทางทะเบียน เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารราชการ พยานโจทก์ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารดังกล่าวหลังจากที่เอกสารหมาย จ.9 เป็นเอกสารราชการแล้ว จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 การที่จำเลยที่ 1 นำเอกสารดังกล่าวไปยื่นต่อศาลปกครองระยอง ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวก จำเลยทั้งสี่ จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม คดีสำหรับจำเลยทั้งสี่จึงไม่มีมูล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 ประกอบมาตรา 265, 83 ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคำฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีมูลเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 83 คำสั่งของศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์ตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เมื่อพฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวบ้าน ให้นำเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 มามอบให้แก่จำเลยที่ 4 ในฐานะปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเสนอต่อจำเลยที่ 1 ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อพิจารณา การที่จำเลยที่ 4 แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือร้องเรียน เอกสารหมาย จ.8 โดยจัดพิมพ์เอกสารหมาย จ.9 ขึ้นมาใหม่แทนเอกสารหมาย จ.8 ก็ไม่ทำให้เนื้อหาการร้องเรียนเปลี่ยนแปลงให้มีความหมายเป็นอย่างอื่นตามที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น ส่วนเอกสารหมาย จ.9 นั้นจำเลยที่ 1 รับมาจากจำเลยที่ 4 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ใหญ่บ้านและจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เมื่อจำเลยที่ 1 ชี้แจงในที่ประชุมประชาคมว่าจะนำเอกสารดังกล่าวไปร้องเรียนโจทก์ได้มีชาวบ้านบางคนคัดค้านมิให้นำเอกสารที่ตนมีลายมือชื่ออยู่ไปร้องเรียนโจทก์ จึงได้มีการนำเอกสารที่มีลายมือชื่อผู้คัดค้านออกไป ส่วนกรณีชาวบ้านที่ไม่คัดค้านก็นำเอกสารในส่วนนี้ไปใช้ร้องเรียนโจทก์กรณีปิดกันทางสาธารณะประโยชน์ต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงในคดีฟังเป็นยุติว่าคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไม่มีมูลในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 83 ตามที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น ศาลฎีกาเห็นว่าเหตุดังกล่าวตามฟ้องเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี และเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีความผิดในข้อหาดังกล่าวด้วย แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170 บัญญัติว่า คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด ซึ่งหมายถึงคู่ความไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลได้ เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามทางไต่สวนมูลฟ้องไม่เป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก มาตรา 268 ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 83 ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ ตามทางไต่สวนไม่เป็นความผิดในข้อหาดังกล่าวข้างต้น และพิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ประทับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อหาดังกล่าว โดยยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาตลอดไปจนถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย จึงมีผลเท่ากับยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 192 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 213 และมาตรา 215 นั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1370/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พันตำรวจเอก อ. จำเลย - นาย บ. กับพวก

ชื่อองค์คณะ กษิดิ์เดช จีนสลุต ธราธร ศิลปโอสถ สุริยง ลิ้มสถิรานันท์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดจันทบุรี - นายธวัชชัย หมื่นนาวี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 - นายกิตติ อารีรักษ์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE