คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3831/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 70, 192 เดิม, 193/14, 204, 224, 456, 797 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2518 ม. 86 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2521
โจทก์กล่าวในฎีกาเพียงว่า จำเลยที่ 3 ได้สั่งซื้อสินค้าและได้รับสินค้าไปจากโจทก์เพื่อนำไปใช้ในราชการเรียบร้อยแล้ว จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์โดยมิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงให้ชัดแจ้งในฎีกาว่าเหตุใดจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะตัวแทนจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ตามฟ้องฎีกาโจทก์ข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อพัสดุของใช้ในราชการของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 ซึ่งเป็นส่วนราชการที่อยู่ในสังกัดของกรมตำรวจจำเลยที่ 1เมื่อปรากฏว่าการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในสำนักงานหัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้จัดซื้อการสั่งซื้อสินค้าของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 เป็นการสั่งการตามลำดับการบังคับบัญชาคือ ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 เป็นผู้มีอำนาจในการสั่งซื้อและสั่งจ้างเป็นการทำแทนหรือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ก็เท่ากับทวงถามให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้ด้วย จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดต่อโจทก์นับตั้งแต่วันครบกำหนดตามที่ระบุไว้ในหนังสือทวงถาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยของหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างแทนจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 3 จัดซื้อสินค้าเพื่อใช้ในราชการของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32จึงเป็นการกระทำในนามของจำเลยที่ 1 โดยใช้งบประมาณที่จำเลยที่ 1 จัดสรรมาให้เป็นรายปี ส่วนการที่จำเลยที่ 3ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จัดซื้อสินค้าโดยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2521 และระเบียบกรมตำรวจว่าด้วยการมอบอำนาจในการสั่งซื้อและสั่งจ้าง ฉบับที่ 14 พ.ศ. 2528ก็เป็นเรื่องผิดระเบียบภายในวงราชการของจำเลยที่ 1ซึ่งผู้ปฏิบัติผิดระเบียบต้องรับผิดชอบต่อจำเลยที่ 1อีกส่วนหนึ่งต่างหากไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากภาระที่จะต้องรับผิดชำระหนี้ที่จำเลยที่ 3 ก่อขึ้นแก่โจทก์ แม้หนี้ค่าซื้อสินค้าเชื่อขาดอายุความไปแล้ว แต่ต่อมาจำเลยที่ 3 ในฐานะที่เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือรับว่าจะชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่โจทก์ จึงเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 เดิมจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการหาอาจยกเหตุการขาดอายุความนั้นขึ้นอ้างเพื่อบอกปัดการชำระหนี้ได้ไม่
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโดยเป็นกรมในรัฐบาลสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีจำเลยที่ 2เป็นอธิบดี จำเลยที่ 3 เป็นผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 จังหวัดพะเยา ของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาจำเลยที่ 2 เมื่อระหว่างวันที่ 28 มกราคม 2530 ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2532 จำเลยที่ 3 สั่งซื้อสินค้าต่าง ๆไปจากโจทก์รวมเป็นเงิน 984,939 บาท โดยสัญญาว่าจะชำระเงินค่าสินค้าให้โจทก์หลังจากได้รับสินค้าแล้ว 30 วันซึ่งจำเลยที่ 3 ได้รับสินค้าดังกล่าวไว้แล้ว ครั้นครบกำหนดโจทก์ได้ทวงถามจากจำเลยที่ 3 หลายครั้ง แต่จำเลยที่ 3เพิกเฉยโจทก์จึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 มีหนังสือรับสภาพหนี้มายังโจทก์ หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 เพิกเฉย โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับหนังสือทวงถามแล้วแต่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน1,055,975 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 984,939 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า การสั่งซื้อสินค้าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 3 และไม่ได้กระทำการในนามของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งไม่ได้นำสินค้าดังกล่าวมาใช้ในราชการของจำเลยที่ 1 เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการซึ่งมีระเบียบว่าหากราคาไม่เกิน 20,000 บาทก่อนที่จะสั่งซื้อต้องมีการตกลงราคา จัดทำใบสั่งซื้อไปยังผู้ขาย และในกรณีที่การซื้อมีราคากว่า 20,000 บาท ต้องทำการประกวดราคา(ที่ถูกคือสอบราคา) เมื่อผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตให้ซื้อจึงจะซื้อได้ต้องมีใบสั่งซื้อ และมีคณะกรรมการตรวจรับ ซึ่งโจทก์เป็นร้านค้าที่เคยค้ากับทางราชการย่อมทราบวิธีการซื้อขายได้ดีการที่จำเลยที่ 3 มีหนังสือรับสภาพหนี้ถึงโจทก์ ไม่เกี่ยวข้องหรือกระทำในนามจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกราคาสินค้าที่ได้ส่งมอบตามใบส่งของชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2530 ถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2531 จากจำเลยที่ 1และที่ 2 เนื่องจากคดีขาดอายุความ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 กระทำกิจการต่าง ๆในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในขณะดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 จังหวัดพะเยา เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อได้สั่งซื้อสินค้าตามฟ้องจากโจทก์เพื่อนำมาใช้ในกิจการของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32ซึ่งเป็นส่วนราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1 มิได้สั่งซื้อเพื่อใช้ในกิจการส่วนตัวของจำเลยที่ 3 การชำระค่าสินค้าจำเลยที่ 3กระทำในฐานะผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 และได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำต้องรองบประมาณที่จะได้รับจากการจัดสรรในงวดที่ 3/2533 ก่อน ในระหว่างรองบประมาณจำเลยที่ 3 ได้เกษียณอายุราชการจึงไม่มีอำนาจชำระค่าสินค้าให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 984,939 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 695,297 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ควรได้รับชำระหนี้ค่าสินค้าตามใบส่งของชั่วคราวที่เป็นการส่งสินค้าประเภทสุรา เบียร์ เครื่องดื่ม และอาหารกับใบส่งของชั่วคราวที่ไม่มีผู้ลงลายมือชื่อรับสินค้าหรือไม่เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นการเรียกเอาราคาสินค้าเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 3 สั่งซื้อจากโจทก์เพื่อนำไปใช้ในราชการของจำเลยที่ 1 แต่เกี่ยวกับสินค้าตามใบส่งของชั่วคราวที่เป็นประเภทสุรา เบียร์ เครื่องดื่มและอาหาร ตามพยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลเชื่อได้ว่า สินค้าประเภทสุรา เบียร์เครื่องดื่ม และอาหารมิใช่สินค้าที่นำไปใช้ในราชการของจำเลยที่ 1และฟังไม่ได้ว่าหนี้ส่วนนี้เป็นหนี้ค่าซื้อสินค้าดังฟ้อง กรณีเป็นหนี้เงินทดรองที่โจทก์จ่ายไปโดยโจทก์มิได้บรรยายมาในฟ้องจึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง สำหรับใบส่งของชั่วคราวที่ไม่มีผู้ลงลายมือชื่อรับสินค้านั้น ในเมื่อใบส่งของชั่วคราวส่วนใหญ่ที่โจทก์ส่งสินค้าแก่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32แล้วมีผู้ลงลายมือชื่อรับสินค้าใบส่งของชั่วคราวเป็นเอกสารที่โจทก์เป็นผู้ทำขึ้นฝ่ายเดียวโดยมีช่องให้ผู้รับสินค้าลงลายมือชื่อรับสินค้าไว้ด้วย การมีลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 ลงไว้ในช่องผู้รับสินค้าย่อมเป็นข้อยืนยันว่าโจทก์ได้ส่งสินค้าถูกต้องแล้ว การที่ใบส่งของชั่วคราวของโจทก์จำนวนหนึ่งไม่มีลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 ลงชื่อรับสินค้าไว้ จึงไม่อาจฟังว่าโจทก์ส่งสินค้าดังปรากฏในใบส่งของชั่วคราวดังกล่าวแก่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 ทำให้ไม่มีเหตุผลที่โจทก์ควรได้รับชำระหนี้ทั้งสองประเภทดังกล่าวในคดีนี้
สำหรับข้อที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยนั้น โจทก์กล่าวในฎีกาเพียงว่า จำเลยที่ 3ได้สั่งซื้อสินค้าและได้รับสินค้าไปจากโจทก์เพื่อนำไปใช้ในราชการเรียบร้อยแล้ว จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เห็นว่า โจทก์มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขั้นอ้างอิงให้ชัดแจ้งในฎีกาว่าเหตุใดจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะตัวแทนจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ตามฟ้อง ฎีกาโจทก์ข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในหนี้ที่จะได้รับชำระนับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2532 ตามฟ้องหรือไม่เห็นว่า ที่หนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งเป็นหนังสือที่จำเลยที่ 3 มีถึงทนายโจทก์ อ้างว่าโจทก์ยินยอมยกเว้นค่าดอกเบี้ยให้แล้วนั้นเป็นแต่เพียงข้อที่จำเลยที่ 3 กล่าวอ้างขึ้นซึ่งนายบุณยรัตน์ ศรีจงใจ ทนายความของโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านเป็นการปฏิเสธข้อกล่าวอ้างในเอกสารหมาย จ.4 ของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวแล้วว่าตามเอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 3 ขอลดดอกเบี้ยมาด้วยแต่โจทก์ไม่ได้ลดให้ และจำเลยที่ 3 มิได้นำพยานหลักฐานอื่นใดมาแสดงให้เห็นว่าโจทก์ลดดอกเบี้ยให้ จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ลดดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 3 ตามที่กล่าวอ้าง และตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าทนายโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ภายใน 15 วัน ตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้รับหนังสือทวงถามในวันที่ 7 พฤษภาคม 2533 ตามเอกสารหมาย จ.3จึงครบกำหนดที่จำเลยที่ 3 จะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ในวันที่22 พฤษภาคม 2533 เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวต้องถือว่า จำเลยที่ 3 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2533 เป็นต้นไป และพันตำรวจโทสุพจน์ เจริญสุขพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 คือจำเลยที่ 3เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อพัสดุของใช้ในราชการของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 ถ้าผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32สั่งซื้อก็ถือว่าเป็นการซื้อมาใช้ในราชการที่ชอบด้วยระเบียบทั้งพลตำรวจเอกแสวง ธีระสวัสดิ์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นอธิบดีของจำเลยที่ 1 อยู่ในขณะเกิดเหตุเบิกความว่า การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในสำนักงาน หัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้จัดซื้อการสั่งซื้อสินค้าของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32เป็นการสั่งการตามลำดับการบังคับบัญชาคือ ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 เป็นผู้มีอำนาจในการสั่งซื้อและสั่งจ้างอันเป็นการยืนยันว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการทำแทนหรือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่ทนายโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ก็เท่ากับทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ด้วยดังนั้น จึงถือว่าจำเลยที่ 1ผิดนัดต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2533 เป็นต้นไปโจทก์จึงมีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยของหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่วันที่23 พฤษภาคม 2533 เป็นต้นไป จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ ปัญหานี้จำเลยที่ 1 ฎีกาโต้แย้งว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์เพราะการที่จำเลยที่ 3 ซื้อสินค้าจากโจทก์นั้นจำเลยที่ 3 มิได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการคือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 และระเบียบกรมตำรวจว่าด้วยการมอบอำนาจในการสั่งซื้อและสั่งจ้างฉบับที่ 14 พ.ศ. 2528เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างแทนจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 3 จัดซื้อสินค้าเพื่อใช้ในราชการของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 จึงเป็นการกระทำในนามของจำเลยที่ 1 โดยใช้งบประมาณที่จำเลยที่ 1 จัดสรรมาให้เป็นรายปี เมื่อนายดาบตำรวจสมศักดิ์ สุคนธชื่นนายดาบตำรวจอินทร์พล อุดมศรี นายดาบตำรวจวัชรินทร์ อุดมศรีจ่าสิบตำรวจอภิเดช แสงสว่าง จ่าสิบตำรวจชูศักดิ์ พิลึกและจ่าสิบตำรวจสุริยา มหิสนันท์ เจ้าหน้าที่แผนก 4กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 ซึ่งต่างเป็นผู้ลงนามรับสินค้าตามใบส่งของชั่วคราวบางส่วนที่โจทก์นำส่งแก่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 ต่างเบิกความยืนยันว่าสินค้าที่จำเลยที่ 3 จัดซื้อมานั้น ส่วนใหญ่นำไปใช้ในราชการของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 ยกเว้นสินค้าบางประเภทคือ สุรา เบียร์ เครื่องดื่ม และอาหาร และสินค้าที่ไม่มีหลักฐานการนำส่งแก่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 ดังนั้น เมื่อตัดราคาสินค้าทั้งสองประเภทดังกล่าวออกแล้วก็คงเหลือแต่ราคาสินค้าที่นำมาใช้ในราชการกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ ส่วนการที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1จัดซื้อสินค้าโดยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 และระเบียบกรมตำรวจว่าด้วยการมอบอำนาจในการสั่งซื้อและสั่งจ้าง ฉบับที่ 14 พ.ศ. 2528 ก็เป็นเรื่องผิดระเบียบภายในวงราชการของจำเลยที่ 1 ซึ่งผู้ปฏิบัติผิดระเบียบต้องรับผิดชอบต่อจำเลยที่ 1 อีกส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากภาระที่จะต้องรับผิดชำระหนี้ที่จำเลยที่ 3ก่อขึ้นแก่โจทก์ โจทก์ฟ้องเรียกให้ชำระหนี้ค่าสินค้ารวม984,939 บาท ศาลฎีกาตรวจสอบใบส่งของชั่วคราวที่โจทก์อ้างส่งตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.255 แล้วได้ความว่าเอกสารที่มีรายการเกี่ยวกับสินค้าประเภทสุรา เบียร์ เครื่องดื่มและอาหารได้แก่เอกสารหมาย จ.8 จ.18 ถึง จ.20 จ.30 จ.52จ.56 จ.62 จ.67 จ.81 จ.99 จ.116 จ.118 ถึง จ.120จ.122 ถึง จ.124 จ.127 ถึง จ.128 จ.133 จ.137 จ.143จ.183 จ.187 และ จ.212 รวมเป็นราคาสินค้าจำนวน 75,961 บาทส่วนใบส่งของชั่วคราวที่ไม่มีผู้ลงลายมือชื่อรับสินค้าปรากฏตามเอกสารหมาย จ.25 จ.41 จ.43 จ.45 จ.47 จ.50 จ.63 ถึง จ.64 จ.66 จ.77 ถึง จ.80 จ.83 จ.86 จ.90 ถึง จ.98 จ.100จ.104 จ.108 ถึง จ.110 จ.121 จ.136 จ.153 ถึง จ.155 จ.211/2 จ.249 ถึง จ.251 และ จ.255 รวมเป็นราคาสินค้าจำนวน 241,345 บาท เมื่อนำราคาสินค้าทั้งสองยอดดังกล่าวไปหักออกจากยอดหนี้ที่โจทก์เรียกร้องจำนวน 984,939 บาทก็คงเหลือยอดราคาสินค้าที่จำเลยที่ 3 จัดซื้อจากโจทก์เพื่อนำไปใช้ในราชการกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระแก่โจทก์เป็นจำนวน 667,633 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1ข้อสุดท้ายว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2533 ดังนั้น สินค้าตามใบส่งของชั่วคราวก่อนฟ้องคดีนี้เกิน 2 ปี กล่าวคือระหว่างวันที่ 28 มกราคม 2530 ถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2531จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า แม้หนี้ค่าซื้อสินค้าเชื่อดังกล่าวขาดอายุความไปแล้ว แต่ต่อมาจำเลยที่ 3 ในฐานะที่เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2533ตามเอกสารหมาย จ.4 รับว่าจะชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่โจทก์จึงเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 เดิม จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นตัวการหาอาจยกเหตุการขาดอายุความนั้นขึ้นอ้างเพื่อบอกปัดการชำระหนี้ได้ไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน667,633 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางสาว อัปสร เด่นวรรณกุล จำเลย - กรมตำรวจ กับพวก
ชื่อองค์คณะ ดำรุพงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ทวีชัย เจริญบัณ ฑิตพิชัย เตโชพิทยากูล
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan