คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3724/2564
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 445
ค่าขาดแรงงานในครัวเรือน ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 445 เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 บรรยายคำร้องว่า ค่าขาดทำการงานให้เป็นคุณแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลในครัวเรือน และนำสืบว่า ผู้ตายประกอบอาชีพทำสวน มีสวนยางพารา 15 ไร่ มีรายได้เดือนละประมาณ 25,000 บาท จึงฟังได้ว่า ก่อนผู้ตายถึงแก่ความตายได้ประกอบอาชีพทำสวนยางพาราเลี้ยงดูโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นการงานที่ผู้ตายกระทำในครัวเรือนเป็นประโยชน์แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 แต่ผู้ตายหามีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้เป็นคุณในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 445 โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามคำร้อง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาว ก. และเด็กชาย ธ. บุตรนายสุรชัย ผู้ตาย กับนาย ส. บิดาผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาฆ่าผู้อื่น ส่วนข้อหามีและพาอาวุธปืน โจทก์ร่วมทั้งสามไม่เป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต และโจทก์ร่วมทั้งสามยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะนางสาว ก. และเด็กชาย ธ. คนละ 500,000 บาท ค่าขาดทำงานให้เป็นคุณแก่นางสาว ก. และเด็กชาย ธ. ซึ่งเป็นบุคคลในครัวเรือน คนละ 250,000 บาท ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการทำศพและค่าปลงศพเป็นเงิน 250,000 บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทนของนางสาว ก. เป็นเงิน 1,000,000 บาท เด็กชาย ธ. เป็นเงิน 1,000,000 บาท และนาย ส. เป็นเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ร่วมที่ 3 ถึงแก่ความตาย นางสาวอุบลรัตน์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 43 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288 ประกอบมาตรา 80, 60, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นและฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาด เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ริบของกลาง ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 700,000 บาท (ที่ถูก ให้จำเลยชำระค่าปลงศพแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 กับผู้ร้อง 100,000 บาท และชำระค่าขาดไร้อุปการะกับค่าขาดแรงงานในครัวเรือนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 เป็นเงินคนละ 300,000 บาท) พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 ธันวาคม 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสามและผู้ร้อง (ที่ถูก โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 กับผู้ร้อง) ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 ผู้ร้อง และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 ผู้ร้อง และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตเป็นประหารชีวิตนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง ฎีกาโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว และที่จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องซึ่งรวมถึงความผิดฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตด้วย เมื่อความผิดฐานดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาจำเลยเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยในข้อดังกล่าว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาดกับจำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 กับผู้ร้องตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 มีพิรุธไม่สามารถเชื่อได้โดยสนิทใจว่าผู้เสียหายที่ 2 เห็นเหตุการณ์ตามที่เบิกความ คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ขัดกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 นายเพชร และนายสมพร ซึ่งฟังได้ว่าขณะที่เสียงปืนดังขึ้น 3 นัด ผู้เสียหายที่ 2 กำลังร้องเพลงคู่กับผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งต้องหันหลังให้ผู้ที่นั่งรับประทานอาหารจึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้เสียหายที่ 2 จะหันไปเห็นจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย เมื่อพิเคราะห์บาดแผลของผู้เสียหายทั้งสองแล้ว แสดงว่าขณะผู้เสียหายทั้งสองถูกกระสุนปืนนั้น ผู้เสียหายทั้งสองต้องยืนอยู่ใกล้กัน คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ที่ว่าไม่ได้ยืนใกล้ผู้เสียหายที่ 1 จึงเชื่อถือไม่ได้ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ยืนใกล้ผู้เสียหายที่ 1 และกำลังร่วมกันร้องเพลงจึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้เสียหายที่ 2 จะเห็นคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ผู้เสียหายที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวนไม่ตรงกับที่เบิกความในเรื่องสีของอาวุธปืนและการนั่งในงานเลี้ยง หากผู้เสียหายที่ 2 เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงต้องให้การต่อพนักงานสอบสวนและเบิกความตรงกัน พยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มีพิรุธไม่อาจเชื่อถือได้ว่าจำเลยเป็นคนร้าย เมื่อจำเลยไม่ใช่ผู้กระทำความผิดจึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 กับผู้ร้องนั้น โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มีผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุผู้ตายนั่งอยู่ใกล้นายศุภพงศ์ ส่วนจำเลยนั่งฝั่งตรงข้าม ต่อมาเวลาประมาณ 22 นาฬิกา ผู้ตายขยับจากฝั่งตรงข้ามมานั่งใกล้จำเลย ผู้เสียหายที่ 2 เดินออกไปขอเพลงที่นายเพชร เมื่อเดินกลับมาเห็นจำเลยกับผู้ตายลุกขึ้นยืนคุยกอดกันแล้วผู้เสียหายที่ 2 ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด จำเลยกับผู้ตายล้มลงไปด้วยกันและมีเสียงปืนดังขึ้นอีก 1 นัด จากนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นอีก 1 นัด กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 2 แล้วจำเลยลุกขึ้นยืนเดินออกจากที่เกิดเหตุไป และผู้เสียหายที่ 2 ให้การชั้นสอบสวนว่า จำเลยและผู้ตายนั่งดื่มสุราติดกันแล้วทั้งคู่ลุกขึ้นยืน ผู้ตายกอดคอจำเลย แล้วจำเลยชักอาวุธปืนออกจากกระเป๋ากางเกงมาถือด้วยมือซ้ายทิ่มไปที่หน้าอกของผู้ตายแล้วเหนี่ยวไกปืนทันที ทำให้จำเลยและผู้ตายล้มลงไปด้วยกัน แล้วจำเลยได้ขึ้นนั่งทับผู้ตายและยิงซ้ำอีกนัด และมีการยิงอีกนัด กระสุนปืนจึงไปถูกผู้เสียหายทั้งสอง เห็นว่า แม้โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มีผู้เสียหายที่ 2 เป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียว แต่หากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 มีน้ำหนักมั่นคงประกอบด้วยเหตุผลน่าเชื่อถือก็สามารถรับฟังลงโทษจำเลยได้ เมื่อพิเคราะห์รายงานการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งระบุว่า บาดแผลกระสุนทางเข้า รวม 2 แห่ง บริเวณ 3.1 หน้าใบหูขวา ระดับหางตา ห่างจากหางตาขวา 2.0 เซนติเมตร ขนาด 0.9 X 0.6 เซนติเมตร ร่วมกับพบรอยสักดินปืนและรอยแดง ๆ ที่เกิดจากการไหม้รอบบาดแผล กระสุนปืนทะลุหนังศีรษะและกะโหลกศีรษะบริเวณกระดูกขมับขวาและกระดูกเบ้าตาขวา ถากสมองกลีบขมับขวาแล้วไปฝังอยู่บริเวณฐานกะโหลกศีรษะซีกขวาหลังกระดูกเบ้าตา 3.2 หน้าอกด้านขวา ห่างจากแนวกึ่งกลางหน้าอกมาทางด้านขวา 2.0 เซนติเมตร สูงจากระดับราวนม 9.5 เซนติเมตร ขนาด 0.9 X 0.4 เซนติเมตร ร่วมกับพบรอยประทับปากกระบอกปืนรอบบาดแผล กระสุนปืนทะลุผิวหนังและกล้ามเนื้อหน้าอกด้านขวา ทะลุกระดูกซี่โครงซีกขวาด้านหน้าซี่ที่ 1 และที่ 2 ตัดขั้วหัวใจบริเวณห้องบนขวา ทะลุปอดขวากลีบบนและข้อต่อระหว่างกระดูกซี่โครงซีกขวาซี่ที่ 7 และกระดูกสันหลังระดับอกข้อที่ 7 ทะลุกล้ามเนื้อหลังแล้วไปฝังอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณใต้สะบักขวา เช่นนี้ การที่พบรอยสักดินปืนและรอยแดง ๆ ที่เกิดจากการไหม้รอบบาดแผลกับรอยประทับปากกระบอกปืนรอบบาดแผลของผู้ตาย บ่งชี้ให้เห็นว่าขณะที่คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายนั้น คนร้ายต้องอยู่ประชิดตัวผู้ตาย ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 2 ดังกล่าวข้างต้นที่ว่าผู้ตายและจำเลยยืนกอดกันแล้วจำเลยยิงผู้ตาย เมื่อจำเลยกับผู้ตายล้มลงแล้ว จำเลยนั่งทับผู้ตายแล้วยิงผู้ตายอีก ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ถามค้านว่า ขณะเกิดเหตุภายในบ้านที่เกิดเหตุเปิดไฟประมาณ 3 ดวง ซึ่งแสงไฟส่องสว่างสามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจน เป็นหลอดไฟนีออนยาว ส่วนด้านหน้าเป็นหลอดสั้น เมื่อจำเลยไม่ได้ฎีกาโต้เถียงเกี่ยวกับแสงสว่างจากไฟฟ้าในที่เกิดเหตุ จึงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากไฟฟ้าสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 อยู่ห่างจากจุดที่จำเลยยิงผู้ตายประมาณ 2 เมตรดังคำเบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ถามค้าน เชื่อว่าผู้เสียหายที่ 2 เห็นเหตุการณ์ขณะที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 จึงมีน้ำหนักมั่นคงประกอบด้วยเหตุผลน่าเชื่อถือ ส่วนที่ผู้เสียหายที่ 1 นายเพชร และนายสมพร เบิกความว่า ขณะเสียงปืนดังขึ้น 3 นัด ผู้เสียหายที่ 2 กำลังร้องเพลงคู่กับผู้เสียหายที่ 1 นั้น เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า เวลาประมาณ 22 นาฬิกา ผู้เสียหายที่ 1 ลุกขึ้นไปขอเพลงกับนายเพชร ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ และได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 2 ถึง 3 นัด กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 1 ที่ขาขวา แต่เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านและทนายโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ถามติงว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ร้องเพลงคู่อยู่กับผู้เสียหายที่ 2 นายเพชร เบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายทั้งสองยืนร้องเพลงอยู่ด้วยกัน และผู้เสียหายที่ 2 ได้เดินลงจากบริเวณที่พยานอยู่แล้ว แต่เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ผู้เสียหายทั้งสองร้องเพลงยังไม่ทันจบจึงมีการแตกตื่นชุลมุน ซึ่งมีการวิ่งออกทางประตูด้านหน้าเพียงทางเดียว ซึ่งพยานก็เช่นกัน นายสมพร เบิกความว่า ขณะที่พยานกำลังเต้นรำอยู่ที่หน้าคาราโอเกะ มีผู้เสียหายทั้งสองร้องเพลง พยานได้ยินเสียงปืนดังขึ้นมาจากด้านหลัง 3 นัด พยานได้วิ่งออกไปข้างนอก แต่ให้การชั้นสอบสวน ว่า เวลาประมาณ 22 นาฬิกา ขณะที่พยานนั่งดื่มสุราและรู้สึกมึนเมาแล้วเนื่องจากดื่มสุราขาวและสุราแดง พยานได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 3 นัด ติด ๆ กัน ดังมาจากทางที่ผู้ตายนั่ง พยานรู้สึกตกใจลุกจากโต๊ะยืนขึ้น เห็นร่างของผู้ตายนอนที่พื้นแล้ว ซึ่งนายสมพรเบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ว่า พยานอ่านบันทึกคำให้การ และเข้าใจข้อความดี แสดงให้เห็นถึงคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 นายเพชร และนายสมพร ไม่อยู่กับร่องกับรอยจึงไม่มีน้ำหนักอันควรแก่การเชื่อถือรับฟังไม่ได้ว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 กำลังร้องเพลงคู่กับผู้เสียหายที่ 1 และที่ผู้เสียหายที่ 2 ให้การชั้นสอบสวนต่อพนักงานสอบสวนไม่ตรงกับที่เบิกความในเรื่องสีของอาวุธปืนและการนั่งในงานเลี้ยงนั้นก็เป็นเพียงรายละเอียดมิใช่สาระสำคัญจนถึงกับทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 มีน้ำหนักลดน้อยลงไป พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 นำสืบจึงมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตายและกระสุนพลาดไปถูกผู้เสียหายทั้งสองได้รับอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาด เมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 กับผู้ร้อง จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 กับผู้ร้อง ฎีกาจำเลยข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาว่ามีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาดกับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 กับผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 กับผู้ร้องมีว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 กับผู้ร้องเพียงใด โดยโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 กับผู้ร้องฎีกาขอให้ศาลฎีกากำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 กับผู้ร้องตามคำร้องนั้น โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 กับผู้ร้องมีนางสาวอรอุมา ผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 เบิกความว่า ก่อนตายผู้ตายส่งเสียโจทก์ร่วมที่ 1 เดือนละประมาณ 6,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 2 เดือนละประมาณ 4,000 บาท ผู้ตายไม่มีโรคประจำตัว ประกอบอาชีพทำสวน มีสวนยางพารา 15 ไร่ มีรายได้เดือนละประมาณ 25,000 บาท พยานประกอบพิธีศพผู้ตายประมาณ 5 วัน เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 100,000 บาท แต่ไม่ได้ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน สำหรับค่าปลงศพ เห็นว่า นางสาวอรอุมา เบิกความถึงค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น โดยไม่มีพยานหลักฐานภาพถ่ายและหลักฐานการชำระเงินหรือรายละเอียดค่าใช้จ่ายใด ๆ มาแสดงต่อศาล ทั้งยังเบิกความรับว่าเสียค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพเป็นเงินประมาณ 100,000 บาทด้วย ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น เป็นเงิน 100,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว ค่าขาดไร้อุปการะ เห็นว่า เมื่อผู้ตายมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามกฎหมาย โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม ซึ่งศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามสมควรได้ เมื่อพิจารณาถึงอายุของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ซึ่งขณะเกิดเหตุมีอายุ 16 ปี และ 3 ปี ตามลำดับ ส่วนผู้ตายมีอายุ 37 ปี ย่อมเห็นได้ว่า โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มีโอกาสได้รับอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 4 ปี และ 17 ปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 คนละ 200,000 บาทนั้น จึงยังไม่เหมาะสม เห็นสมควรกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นเงิน 300,000 บาท และโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเงิน 500,000 บาท ส่วนค่าขาดแรงงานในครัวเรือน ซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 445 เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 บรรยายคำร้องว่า ค่าขาดทำการงานให้เป็นคุณแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลในครัวเรือน และนำสืบว่า ผู้ตายประกอบอาชีพทำสวน มีสวนยางพารา 15 ไร่ มีรายได้เดือนละประมาณ 25,000 บาท จึงฟังได้ว่า ก่อนผู้ตายถึงแก่ความตายได้ประกอบอาชีพทำสวนยางพาราเลี้ยงดูโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นการงานที่ผู้ตายกระทำในครัวเรือนเป็นประโยชน์แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 แต่ผู้ตายหามีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้เป็นคุณในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 445 โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามคำร้อง กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ที่ขอให้ศาลฎีกากำหนดค่าขาดแรงงานเพิ่มขึ้น ฎีกาโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2564 มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ใช้บังคับ โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งมีผลให้กรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือบทกฎหมายอันชัดแจ้งให้ใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละสามต่อปี และในกรณีหนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จำเลยต้องร่วมกันรับผิดจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทน 900,000 บาทและให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 ธันวาคม 2559) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมทั้งสองและผู้ร้องแต่อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 หากกระทรวงการคลังออกพระราชกฤษฎีกาปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปตามนั้น ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1164/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดทุ่งสง โจทก์ร่วม - นางสาว ก. กับพวก ผู้ร้อง - นาย ส. โดยนางสาว อ. ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน จำเลย - นาย ธ.
ชื่อองค์คณะ เทพ อิงคสิทธิ์ พงษ์ศักดิ์ กิติสมเกียรติ จาตุรงค์ สรนุวัตร
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดทุ่งสง - นายศุภโชค ก่อเกื้อ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายกฤษฎิ์ สามิบัติ