สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3616/2564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3616/2564

พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ม. 33, 39, 42, 76, 104 วรรคสอง

แม้โจทก์จะเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ใช้บังคับก็ตาม แต่โจทก์จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีต่าง ๆ นั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามกฎหมายดังกล่าว โดยเรื่องประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 76 กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพต่อเมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบเดือน ไม่ว่าระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบเดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ซึ่งตามบทเฉพาะกาล มาตรา 104 วรรคสอง กำหนดให้การจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจะเริ่มดำเนินการเมื่อใดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ทั้งนี้ต้องไม่ช้ากว่าวันที่ 31 ธันวาคม 2541 การจัดเก็บเงินสมทบเพื่อให้ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพนี้จึงหาได้นับตั้งแต่วันที่โจทก์เริ่มจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมงวดแรก เนื่องจากวันดังกล่าวโจทก์ยังไม่ได้มีการจ่ายเงินสมทบเพื่อให้ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย เมื่อ พ.ร.ฎ.กำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ พ.ศ.2541 มาตรา 3 กำหนดให้ดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไป จึงต้องนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 เป็นวันเริ่มการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย บทบัญญัติดังกล่าวหาใช่เป็นการตัดสิทธิการนับระยะเวลาส่งเงินสมทบเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพของโจทก์ และมิใช่มีผลเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงหรือเลื่อนกำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ ดังนั้น ตามคำสั่งสำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานี ลงวันที่ 16 เมษายน 2560 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1345/2560 ลงวันที่ 28 กันยายน 2560 ที่กำหนดให้คำนวณจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้แก่โจทก์ โดยคำนวณจำนวนการส่งเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 จึงชอบแล้ว ส่วนการจ่ายเงินบำนาญชราภาพนั้น ตามกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พ.ศ.2550 ข้อ 2 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้จ่ายเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละยี่สิบของค่าจ้างเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงนั้น เมื่อผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพอาจเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 ก็ได้ แล้วแต่กรณี การคำนวณจ่ายเงินบำนาญชราภาพจึงต้องคำนวณจากจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนในแต่ละกรณี หรือทั้งสองกรณีประกอบกัน หาใช่คำนวณจากค่าจ้างเฉพาะที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ มิฉะนั้น การเป็นผู้ประกันตนเฉพาะแต่เพียงตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ผู้ประกันตนมิได้เป็นลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง ก็มิอาจมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพไปได้ เนื่องจากไม่มีค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณจ่ายเงินดังกล่าว ดังนั้น ค่าจ้างเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบเพื่อจ่ายเงินบำนาญชราภาพตามกฎกระทรวงดังกล่าวจึงหมายถึงค่าจ้างที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้รับจากนายจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ และจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งไม่มีนายจ้างด้วย และตามมาตรา 39 วรรคสอง ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ.2538) ออกตามความใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ข้อ 1 กำหนดให้เป็นจำนวนเดือนละ 4,800 บาท เมื่อมาตรา 42 ให้นับระยะเวลาประกันตนตามมาตรา 33 และหรือมาตรา 39 ทุกช่วงเวลาเข้าด้วยกันเพื่อก่อสิทธิในการขอรับประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตน การที่โจทก์เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ในช่วงเวลาหกสิบเดือนสุดท้ายก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และได้รับประโยชน์จากมาตรา 42 ในการก่อสิทธิเพื่อขอรับประโยชน์ทดแทน จึงต้องนำเงินค่าจ้างที่เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบตามกฎกระทรวงที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งเสมือนเป็นค่าจ้างมารวมเฉลี่ยเพื่อคำนวณเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนให้แก่โจทก์ คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานี ลงวันที่ 16 เมษายน 2560 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1345/2560 ลงวันที่ 28 กันยายน 2560 ชอบแล้ว

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานี ลงวันที่ 16 เมษายน 2560 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1345/2560 ลงวันที่ 28 กันยายน 2560 โดยให้จำเลยจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้ถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่เดือนที่โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นต้นไป

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงาน พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและข้อเท็จจริงยุติโดยไม่มีคู่ความโต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์เป็นผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตั้งแต่เดือนมีนาคม 2534 โจทก์มีข้อมูลการส่งเงินสมทบ นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 เป็นต้นมา บางช่วงโจทก์เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 บางช่วงเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ความเป็นผู้ประกันตนของโจทก์สิ้นสุดลงในวันที่ 1 สิงหาคม 2559 โจทก์จ่ายเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพรวม 188 เดือน โจทก์ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานีพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพตั้งแต่งวดเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไป เดือนละ 1,164 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยและอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยที่ 1345/2560 ลงวันที่ 28 กันยายน 2560 ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ พ.ศ.2541 กำหนดให้ดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไป ผู้ประกันตนจึงเริ่มมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเมื่อจ่ายเงินสมทบนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของโจทก์ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2534 เป็นกรณีที่โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีอื่นหาใช่ในกรณีชราภาพไม่ เมื่อโจทก์จ่ายเงินสมทบเพื่อประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพจำนวน 188 เดือน และกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ระบุให้จำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง ต้องส่งเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นจำนวนเดือนละ 4,800 บาท จึงถือเสมือนเป็นค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เพื่อนำมาคำนวณเป็นเงินบำนาญชราภาพได้ หาใช่คำนวณจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เท่านั้น คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานี ลงวันที่ 16 เมษายน 2560 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1345/2560 ลงวันที่ 28 กันยายน 2560 ชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า เงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเพิ่งจะจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ พ.ศ.2541 การก่อสิทธิในการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพของโจทก์จึงเริ่มนับตั้งแต่มีการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเป็นต้นไป กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พ.ศ.2550 ข้อ 2 ให้ถือเกณฑ์ค่าจ้างเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้ายก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงเป็นฐานในการคำนวณ ซึ่งค่าจ้างดังกล่าวกฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องเป็นค่าจ้างที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้รับจากนายจ้างเท่านั้น การเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 โดยสภาพไม่มีนายจ้าง มาตรา 39 วรรคสอง จึงให้ใช้จำนวนเงินที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ.2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ข้อ 1 เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบที่ผู้ประกันตนต้องจ่าย ดังนั้นการคำนวณเงินเพื่อการจ่ายบำนาญชราภาพสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จึงต้องใช้จำนวนเงิน 4,800 บาท ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าว การเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เป็นความสมัครใจของผู้ประกันตน ทั้งตลอดระยะเวลาดังกล่าวผู้ประกันตนยังอาจมีสิทธิในการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีอื่นตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โจทก์จะเลือกเอาเฉพาะค่าจ้างส่วนที่เป็นประโยชน์แก่ตนฝ่ายเดียวมาเป็นฐานในการคำนวณหาได้ไม่

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานี ลงวันที่ 16 เมษายน 2560 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1345/2560 ลงวันที่ 28 กันยายน 2560 หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ใช้บังคับก็ตาม แต่โจทก์จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีต่าง ๆ นั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามกฎหมายดังกล่าว โดยเรื่องประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 76 กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพต่อเมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบเดือน ไม่ว่าระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบเดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ซึ่งตามบทเฉพาะกาล มาตรา 104 วรรคสอง กำหนดให้การจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจะเริ่มดำเนินการเมื่อใดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ทั้งนี้ต้องไม่ช้ากว่าวันที่ 31 ธันวาคม 2541 การจัดเก็บเงินสมทบเพื่อให้ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพนี้จึงหาได้นับตั้งแต่วันที่โจทก์เริ่มจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมงวดแรกดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เนื่องจากวันดังกล่าวโจทก์ยังไม่ได้มีการจ่ายเงินสมทบเพื่อให้ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย เมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ พ.ศ.2541 มาตรา 3 กำหนดให้ดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไป จึงต้องนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 เป็นวันเริ่มการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย บทบัญญัติดังกล่าวหาใช่เป็นการตัดสิทธิการนับระยะเวลาส่งเงินสมทบเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพของโจทก์ และมิใช่มีผลเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงหรือเลื่อนกำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพดังฎีกาของโจทก์ไม่ ดังนั้น ตามคำสั่งสำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานี ลงวันที่ 16 เมษายน 2560 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1345/2560 ลงวันที่ 28 กันยายน 2560 ที่กำหนดให้คำนวณจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้แก่โจทก์ โดยคำนวณจำนวนการส่งเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 จึงชอบแล้ว ส่วนการจ่ายเงินบำนาญชราภาพนั้น ตามกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พ.ศ.2550 ข้อ 2 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้จ่ายเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละยี่สิบของค่าจ้างเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงนั้น เมื่อผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพอาจเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 ก็ได้ แล้วแต่กรณี การคำนวณจ่ายเงินบำนาญชราภาพจึงต้องคำนวณจากจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนในแต่ละกรณี หรือทั้งสองกรณีประกอบกัน หาใช่คำนวณจากค่าจ้างเฉพาะที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ มิฉะนั้น การเป็นผู้ประกันตนเฉพาะแต่เพียงตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ผู้ประกันตนมิได้เป็นลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง ก็มิอาจมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพไปได้ เนื่องจากไม่มีค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณจ่ายเงินดังกล่าว ดังนั้น ค่าจ้างเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบเพื่อจ่ายเงินบำนาญชราภาพตามกฎกระทรวงดังกล่าวจึงหมายถึงค่าจ้างที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้รับจากนายจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ และจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งไม่มีนายจ้างด้วย ซึ่งตามมาตรา 39 วรรคสอง ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ.2538) ตามกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ข้อ 1 กำหนดให้เป็นจำนวนเดือนละ 4,800 บาท เมื่อมาตรา 42 ให้นับระยะเวลาประกันตนตามมาตรา 33 และหรือมาตรา 39 ทุกช่วงเวลาเข้าด้วยกันเพื่อก่อสิทธิในการขอรับประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตน การที่โจทก์เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ในช่วงเวลาหกสิบเดือนสุดท้ายก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และได้รับประโยชน์จากมาตรา 42 ในการก่อสิทธิเพื่อขอรับประโยชน์ทดแทน จึงต้องนำเงินค่าจ้างที่เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบตามกฎกระทรวงที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งเสมือนเป็นค่าจ้างมารวมเฉลี่ยเพื่อคำนวณเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนให้แก่โจทก์ คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานี ลงวันที่ 16 เมษายน 2560 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1345/2560 ลงวันที่ 28 กันยายน 2560 ชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ร.40/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย พ. จำเลย - สำนักงานประกันสังคม

ชื่อองค์คณะ สันทัด สุจริต จักษ์ชัย เยพิทักษ์ อรพงษ์ ศิริกานต์นนท์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแรงงานกลาง - นางอัจฉรา จรรยามั่น

  • นายไพรัช โปร่งแสง
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE