สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3607/2565

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3607/2565

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1024, 1141 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 ม. 42 (2)

แม้บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งตรงกับเอกสารที่แนบท้ายสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย จ.11 และตรงกับเอกสารหมาย ล.19 ที่ออกเอกสารวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 และข้อมูลในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นหน้า 44 ระบุว่า ในปี 2561 โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 นอกจากนี้ในระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัท ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาสมุดบัญชีเอกสารของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ย่อมเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้นั้นทุกประการตามมาตรา 1024 แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ไม่เด็ดขาด คู่ความมีสิทธินำสืบหักล้างได้ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่พยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายได้ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นประธานกรรมการบริษัท อ. มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทำการเปลี่ยนหุ้นในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ย่อมมีผลกระทบต่อจำนวนหุ้นของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (2)

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (2) จำคุก 6 เดือน และปรับ 40,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 1 ปี (ที่ถูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่)) หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์กับจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัท อ. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 จำเลยคัดข้อมูลจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นโดยมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเอาโจทก์ออกจากการเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดมาเป็นของจำเลย ทำให้จำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น 90,000 หุ้น ส่งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ตามหนังสือขอส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) เอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งตรงกับเอกสารที่แนบท้ายสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย จ.11 และตรงกับเอกสารหมาย ล.19 ที่ออกเอกสารวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 และข้อมูลในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นหน้า 44 ระบุว่า ในปี 2561 โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1141 นอกจากนี้ในระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัท ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาสมุดบัญชีเอกสารของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ย่อมเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้นั้นทุกประการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1024 แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ไม่เด็ดขาด คู่ความมีสิทธินำสืบหักล้างได้ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่ได้ความจากพยานบุคคลของจำเลยปากนายกฤษณ์ว่า การชำระเงินค่าหุ้นเป็นเรื่องระหว่างเจ้าของหุ้นกับผู้ซื้อหุ้น หากดูจากเอกสารหมาย ล.18 แผ่นที่ 3 ระบุว่า โจทก์และนางเมธ์วดี ยังไม่ได้ชำระค่าหุ้น บริษัทต้องเก็บต้นฉบับบัญชีผู้ถือหุ้นไว้ที่ทำการ ส่วนที่ส่งมายังสำนักทะเบียนพาณิชย์นั้นเป็นสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ปากนางสาวอาภาภรณ์ว่า เป็นผู้ทำบัญชีงบการเงิน ในเอกสารหมาย ล.20 ระบุว่า หุ้นบริษัทมีจำนวน 15,000,000 บาท ปากนางสาวรัชนีวรรณว่า เป็นพนักงานบัญชีของบริษัท ว. ซึ่งมีโจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ จำไม่ได้ว่าเอกสารหมาย ล.11 เป็นเอกสารอะไร และโจทก์แถลงรับข้อเท็จจริงตามที่จำเลยแถลงว่า นางสาววนิดา เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัท อ. ในช่วงปี 2557 และในปีดังกล่าวมีการชำระเงินค่าหุ้นของบริษัทเป็นจำนวน 15,000,000 บาท แล้ว โดยมีผู้ถือหุ้น 4 คน ประกอบกับเมื่อพิจารณาเอกสารหมาย ล.5 ซึ่งเป็นเอกสารข้อตกลงชำระค่าหุ้นที่มีโจทก์และจำเลยลงลายมือชื่อ มีนายภานุสิทธิ์ ลงลายมือชื่อในฐานะทนายความและเอกสารหมาย ล.6 ซึ่งเป็นมติของบริษัท อ. ที่ให้โอนหุ้นให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2559 ที่มีโจทก์และจำเลยลงลายมือชื่อแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายได้ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นประธานกรรมการบริษัท อ. มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทำการเปลี่ยนหุ้นในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ย่อมมีผลกระทบต่อจำนวนหุ้นของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (2) ที่จำเลยอ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 9677/2556 นั้น เป็นกรณีการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสอง และข้อบังคับของบริษัท จะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกได้ต่อเมื่อบริษัทจดแจ้งการโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว แต่กรณียังมิได้ทำการโอนให้ถูกต้อง ซึ่งข้อเท็จจริงแตกต่างจากคดีนี้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่เคยชำระค่าหุ้นให้แก่จำเลยหรือผู้ถือหุ้นเดิมนั้น เป็นเรื่องของจำเลยหรือผู้ถือหุ้นเดิมสามารถว่ากล่าวกับโจทก์ได้ตามรูปการแห่งหนี้ทั่วไป ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น สำหรับฎีกาเรื่องอื่นของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.900/2565

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ย. จำเลย - นาย ห.

ชื่อองค์คณะ โสภณ โรจน์อนนท์ ชลิต กฐินะสมิต ประยูร ณ ระนอง

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดชลบุรี - นางสุนิษา บรรเทา ศาลอุทธรณ์ภาค 2 - นายสมพงศ์ เผือกประดิษฐ

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE