คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3449/2564
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 173/1 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม. 32, 33
การกำหนดให้มีวันนัดพร้อมเพื่อประชุมคดีมีวัตถุประสงค์เพื่อให้จำเลยได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม โดยองค์คณะที่ได้รับเลือกให้เป็นองค์คณะประชุมคดีจะได้รับเลือกจากผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์และมีความเข้าใจในการบริหารจัดการคดีเพื่อให้การกำหนดแนวทางในการดำเนินคดีเป็นไปอย่างถูกต้อง กระชับรัดกุม ไม่ฟุ่มเฟือย และมีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้การพิจารณาคดีเสร็จสิ้นโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แม้คดีนี้องค์คณะในวันนัดพร้อมเพื่อประชุมคดีจะเป็นคนละองค์คณะกันกับในวันนัดสืบพยานและวันนัดฟังคำพิพากษา แต่การที่ ณ. กับ อ. นั่งพิจารณาคดีในวันนัดสืบพยานและวันนัดฟังคำพิพากษานั้น เนื่องมาจากการจ่ายสำนวนคดีของผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นตามมาตรา 32 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งการจ่ายสำนวนคดีดังกล่าวไม่ได้ขัดต่อหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรม ทั้งไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้องค์คณะประชุมคดีและองค์คณะพิจารณาต้องเป็นองค์คณะเดียวกันเพราะเป็นการพิจารณาคดีคนละขั้นตอนกัน มีวัตถุประสงค์และวิธีการคัดเลือกองค์คณะผู้พิพากษาแตกต่างกัน นอกจากนี้กรณีดังกล่าวยังไม่ใช่การเรียกคืนสำนวนคดีจาก น. และ ป. ซึ่งเป็นองค์คณะประชุมคดี และโอนสำนวนคดีให้ ณ. กับ อ. ตามบทบัญญัติมาตรา 33 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เนื่องจากการเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดีตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงกรณีที่มีการมอบหมายให้องค์คณะผู้พิพากษารับผิดชอบพิจารณาพยานหลักฐานและพิพากษาแต่มีเหตุที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาหรือพิพากษาอรรถคดีของศาลเท่านั้น กรณีจึงไม่ใช่การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดีโดยไม่ชอบดังที่จำเลยฎีกา ประกอบกับระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านว่าผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีและสืบพยานไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งหากศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็คงไม่โต้แย้งในปัญหาข้อนี้ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับการดำเนินกระบวนพิจารณาของ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่าเป็นไปโดยชอบตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ณ. และ อ. จึงเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนี้โดยชอบแล้ว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341 ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันคืนรถยนต์ ยี่ห้อฮีโน่ หมายเลขเครื่องยนต์ A09CTHH55427 หรือใช้ราคา 3,125,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันคืนรถยนต์ ยี่ห้อฮีโน่ หมายเลขเครื่องยนต์ J08EWHH53356 หรือใช้ราคา 2,770,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.842/2562 ของศาลชั้นต้น ตามลำดับ
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนรถยนต์ ยี่ห้อฮีโน่ หมายเลขเครื่องยนต์ A09CTHH55427 หรือใช้ราคา 3,125,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ให้จำเลยที่ 1 คืนรถยนต์ ยี่ห้อฮีโน่ หมายเลขเครื่องยนต์ J08EWHH53356 หรือใช้ราคา 2,770,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ยกคำขอนับโทษต่อสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายแต่เมื่อเป็นกรณีที่มิได้สั่งรับฎีกาทั้งฉบับ ศาลชั้นต้นชอบที่จะต้องระบุให้ชัดเจนว่ารับฎีกาของคู่ความที่ยื่นฎีกาในข้อใดที่ว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งแก้ฎีกาโต้เถียงได้ถูกต้อง อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์ยื่นคำแก้ฎีกาโต้เถียงฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาทุกประเด็น และศาลฎีกาได้พิจารณาฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว คงมีปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างเพียงข้อเดียวว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานและพิพากษาคดีของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นขัดต่อบทบัญญัติตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมในเรื่องการเรียกคืนและการโอนสำนวนคืนหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า การกำหนดให้มีวันนัดพร้อมเพื่อประชุมคดีมีวัตถุประสงค์เพื่อให้จำเลยได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม โดยองค์คณะที่ได้รับเลือกให้เป็นองค์คณะประชุมคดีจะได้รับเลือกจากผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์และมีความเข้าใจในการบริหารจัดการคดีเพื่อให้การกำหนดแนวทางในการดำเนินคดีเป็นไปอย่างถูกต้อง กระชับรัดกุม ไม่ฟุ่มเฟือย และมีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้การพิจารณาคดีเสร็จสิ้นโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แม้คดีนี้องค์คณะในวันนัดพร้อมเพื่อประชุมคดีจะเป็นคนละองค์คณะกันกับในวันนัดสืบพยานและวันนัดฟังคำพิพากษา แต่การที่นางสาวณัฐพร กับนายอรรณพ นั่งพิจารณาคดีในวันนัดสืบพยานและวันนัดฟังคำพิพากษานั้น เนื่องมาจากการจ่ายสำนวนคดีของผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นตามมาตรา 32 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งการจ่ายสำนวนคดีดังกล่าวไม่ได้ขัดต่อหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรม ทั้งไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้องค์คณะประชุมคดีและองค์คณะพิจารณาต้องเป็นองค์คณะเดียวกันเพราะเป็นการพิจารณาคดีคนละขั้นตอนกัน มีวัตถุประสงค์และวิธีการคัดเลือกองค์คณะผู้พิพากษาแตกต่างกัน นอกจากนี้กรณีดังกล่าวยังไม่ใช่การเรียกคืนสำนวนคดีจากนายนรวัฒน์ และนายประเสริฐ ซึ่งเป็นองค์คณะประชุมคดีและโอนสำนวนคดีให้นางสาวณัฐพร กับนายอรรณพ ตามบทบัญญัติมาตรา 33 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เนื่องจากการเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดีตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงกรณีที่มีการมอบหมายให้องค์คณะผู้พิพากษารับผิดชอบพิจารณาพยานหลักฐานและพิพากษาแต่มีเหตุที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาหรือพิพากษาอรรถคดีของศาลเท่านั้น กรณีจึงไม่ใช่การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดีโดยไม่ชอบดังที่จำเลยฎีกา ประกอบกับระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านว่าผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีและสืบพยานไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งหากศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็คงไม่โต้แย้งในปัญหาข้อนี้จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับการดำเนินกระบวนพิจารณาของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่าเป็นไปโดยชอบตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่านางสาวณัฐพรและนายอรรณพเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนี้โดยชอบแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.746/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดนครพนม จำเลย - นางสาว ก. กับพวก
ชื่อองค์คณะ ธงชัย จันทร์วิรัช วิชิต ลีธรรมชโย สมเจริญ พุทธิประเสริฐ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดนครพนม - นางสาวณัฐพร งามแก้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 4 - นายอุตสาห์ ทองโคตร