คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3441/2565
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม. 7
จำเลยให้การว่า จำเลยใช้บริการสินเชื่อประเภทบัตรกดเงินสดจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างจากจำเลย รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปเป็นกรณีที่จำเลยให้การว่าหนี้ตามสัญญาสินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) คดีจึงมีประเด็นเพียงว่า หนี้ตามสัญญาสินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ ขาดอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (7) หรือไม่ เท่านั้น แม้จำเลยจะอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความในทำนองว่า หนี้ส่วนนี้ขาดอายุความ 5 ปี ก็ไม่ทำให้เกิดประเด็นขึ้นเพราะเป็นเรื่องนอกคำให้การ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า หนี้ตามสัญญาสินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ ขาดอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (2) จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ไม่ฎีกาในเรื่องนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
ส่วนที่จำเลยให้การในตอนท้ายต่อมาว่า นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2556 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2561 โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องแต่ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับให้จำเลยชำระเงินภายในกำหนดดังกล่าว สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น คำให้การในส่วนนี้ไม่ได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ชัดแจ้งว่าขาดอายุความเรื่องใด ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ 5 ปี ได้ความว่า สินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ เป็นกรณีที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) อนุมัติสินเชื่อเป็นวงเงินกู้ประเภทหมุนเวียนแบบมีกำหนดการชำระคืนขั้นต่ำและหรือแบบมีการกำหนดชำระคืนแน่นอน ซึ่งการเบิกรับเงินกู้สามารถเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติโดยใช้บัตรกดเงินสดที่ธนาคารออกให้หรือให้ธนาคารนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากหรือวิธีการอื่น ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากเงินกู้นับแต่วันที่ขอเบิกถอนเงินแต่ละครั้ง รูปคดีจึงเป็นสัญญาบริการสินเชื่อหาใช่เป็นเรื่องผู้ประกอบธุรกิจรับทำงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปก่อนแล้วมาเรียกเก็บจากจำเลยภายหลัง สิทธิเรียกร้องเช่นนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มิใช่ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (7) ฟ้องโจทก์สำหรับหนี้สินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 438,959.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 28 ต่อปีของต้นเงิน 182,450.42 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์เป็นหนี้ตามสัญญาสินเชื่อบุคคล ก. เป็นเงิน 151,443.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 142,636.25 บาท นับแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยเมื่อคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561) ต้องไม่เกิน 198,362.25 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 22 ต่อปี ของต้นเงิน 142,636.25 บาท นับแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2552 และวันที่ 27 เมษายน 2555 ธนาคาร ก. อนุมัติวงเงินสินเชื่อบุคคล ก. ไลน์ ให้จำเลยเป็นเงิน 40,000 บาทและอนุมัติวงเงินสินเชื่อบุคคล ก. ให้จำเลยเป็นเงิน 170,000 บาท ตามลำดับ ต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน 2557 ธนาคาร ก. โอนสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่ต่อจำเลยให้แก่โจทก์ โดยโจทก์แต่งตั้งให้ ธนาคาร ก. เป็นตัวแทนเรียกเก็บ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาสินเชื่อบุคคล ก. เป็นเงิน 151,443.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 142,636.25 บาท นับแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 22 ต่อปี ของต้นเงิน 142,636.25 บาท นับแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์และจำเลยไม่ขออนุญาตฎีกาและฎีกาเรื่องนี้ หนี้สัญญาสินเชื่อบุคคล ก. จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ซึ่งได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า หนี้ตามสัญญาสินเชื่อบุคคล ก. ไลน์ มีอายุความ 10 ปี หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า สัญญาสินเชื่อบุคคล ก. ไลน์ ระบุให้มีการผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยรวมกันในแต่ละเดือน ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีการผ่อนชำระเงินต้นจำนวนแน่นอนและมีจำนวนไม่เท่ากัน และหากจำเลยผิดนัดชำระหนี้ต้องชำระเบี้ยปรับกรณีชำระล่าช้า ซึ่งจำเลยอาจชำระหนี้สูงเพียงใดก็ได้ สัญญาไม่ได้กำหนดว่าจำเลยต้องผ่อนชำระทุนคืนเป็นเวลากี่งวดจึงไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้เสร็จสิ้น ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) (2) หากแต่ต้องใช้อายุความตามมาตรา 193/30 จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ถือว่าผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 จึงอยู่ในกำหนดอายุความ 10 ปี และแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 3 กันยายน 2556 และผิดนัดในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ก็ยังอยู่ในกำหนดอายุความ 10 ปี นั้น เห็นว่า จำเลยให้การว่า จำเลยใช้บริการสินเชื่อประเภทบัตรกดเงินสดจาก ธนาคาร ก. ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างจากจำเลย รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปเป็นกรณีที่จำเลยให้การว่าหนี้ตามสัญญาสินเชื่อบุคคล ก. ไลน์ ขาดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) คดีจึงมีประเด็นเพียงว่า หนี้ตามสัญญาสินเชื่อบุคคล ก. ไลน์ ขาดอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (7) หรือไม่ เท่านั้น แม้จำเลยจะอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความในทำนองว่า หนี้ส่วนนี้ขาดอายุความ 5 ปี ก็ไม่ทำให้เกิดประเด็นขึ้นเพราะเป็นเรื่องนอกคำให้การ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า หนี้ตามสัญญาสินเชื่อบุคคล ก. ไลน์ ขาดอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (2) จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ไม่ฎีกาในเรื่องนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ส่วนที่จำเลยให้การในตอนท้ายต่อมาว่า นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2556 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2561 โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องแต่ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับให้จำเลยชำระเงินภายในกำหนดดังกล่าว สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น คำให้การในส่วนนี้ไม่ได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ชัดแจ้งว่าขาดอายุความเรื่องใด ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ 5 ปี ได้ความว่า สินเชื่อบุคคล ก. ไลน์ เป็นกรณีที่ ธนาคาร ก. อนุมัติสินเชื่อเป็นวงเงินกู้ประเภทหมุนเวียนแบบมีกำหนดการชำระคืนขั้นต่ำและหรือแบบมีการกำหนดชำระคืนแน่นอน ซึ่งการเบิกรับเงินกู้สามารถเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติโดยใช้บัตรกดเงินสดที่ธนาคารออกให้หรือให้ธนาคารนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากหรือวิธีการอื่น ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากเงินกู้นับแต่วันที่ขอเบิกถอนเงินแต่ละครั้ง รูปคดีจึงเป็นสัญญาบริการสินเชื่อหาใช่เป็นเรื่องผู้ประกอบธุรกิจรับทำงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปก่อนแล้วมาเรียกเก็บจากจำเลยภายหลัง สิทธิเรียกร้องเช่นนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มิใช่ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (7) ฟ้องโจทก์สำหรับหนี้สินเชื่อบุคคล ก. ไลน์ จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้สินเชื่อบุคคล ก. ไลน์ ที่ค้างชำระแก่โจทก์ซึ่งศาลล่างทั้งสองรับฟังข้อเท็จจริงว่า ธนาคาร ก. คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 28 ต่อปี ตามที่โจทก์นำสืบ จำเลยไม่แก้อุทธรณ์และแก้ฎีกาในเรื่องนี้ โดยปรากฏตามรายการคำนวณภาระหนี้ว่ามีต้นเงินคงค้าง 39,814.17 บาท ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 58,146.66 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าว และจำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 28 ต่อปีตามคำขอของโจทก์ ของต้นเงิน 39,814.17 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระหนี้สินเชื่อบุคคล ก. ไลน์ 97,960.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 28 ต่อปี ของต้นเงิน 39,814.17 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)405/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัทบริหารสินทรัพย์ ก. จำเลย - นาง ธ.
ชื่อองค์คณะ ประสาร กีรานนท์ ประทีป อ่าววิจิตรกุล สันติชัย วัฒนวิกย์กรรม์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดนนทบุรี - นายประสิทธิผล ปทุมลักษณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายสิทธิพร บุญยฤทธิ์