สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3432/2565

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3432/2565

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 วรรคหนึ่ง, 252 พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ม. 65, 78 วรรคหนึ่ง

เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังยุติตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง ที่จำเลยฎีกาทำนองว่า จำเลยไม่ทราบประกาศของสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเรื่องห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์นั้น เป็นการขอให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงใหม่ผิดไปจากที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาและขัดแย้งกับคำรับสารภาพของจำเลย ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ความผิดฐานเคลื่อนย้ายสัตว์ เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตประกาศกำหนดเฝ้าระวังโรคระบาดโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้น เป็นความผิดเพียงเพราะเคลื่อนย้ายสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้นตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 65 หากได้รับอนุญาตก็ไม่เป็นความผิด และตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อศาลได้พิพากษาลงโทษผู้ใดเนื่องจากกระทำผิดตาม… มาตรา 65… ให้ศาลมีอำนาจสั่งริบสัตว์… ยานพาหนะ… ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเสียทั้งสิ้น… ก็เป็นบทบัญญัติที่ให้ศาลใช้ดุลพินิจในการริบสัตว์หรือยานพาหนะที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด การริบสัตว์และยานพาหนะตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 จึงเป็นดุลพินิจของศาล ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นสุกรของกลางที่จำเลยไม่ได้ฎีกาได้ ซึ่งได้ความจากข้อเท็จจริงในสำนวนว่า จำเลยมีอาชีพรับจ้างบรรทุกสิ่งของทั่วไปไม่ได้รับจ้างบรรทุกสุกรเป็นอาชีพ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าสุกร 9 ตัว ของกลางติดโรคระบาดแต่อย่างใด จึงไม่สมควรริบสุกร 9 ตัว และรถบรรทุกของกลาง

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 4, 22, 65, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 22, 65 จำคุก 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 9,000 บาท เพียงสถานเดียว เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 4,500 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 29/1, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาทำนองว่า สถานที่จับกุมเป็นที่ซึ่งไม่มีประกาศของสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเรื่องห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ และไม่มีการแจ้งมายัง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ปกครองท้องที่แต่อย่างใด จำเลยจึงไม่อาจล่วงรู้ได้ว่ามีข้อห้ามดังกล่าว นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยแนบประกาศจังหวัดสงขลา เรื่อง กำหนดเขตเฝ้าระวัง โรคระบาดชนิดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) ในสัตว์ชนิดสุกรและหมูป่า ลงวันที่ 15 มีนาคม 2564 มาท้ายฟ้อง โดยที่ประกาศดังกล่าวกำหนดให้ทุกท้องที่ในจังหวัดสงขลาเป็นเขตเฝ้าระวังโรคระบาด ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตเฝ้าระวังโรคระบาด เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้นและจำเลยได้ทราบประกาศนั้นแล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังยุติตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง ฎีกาของจำเลยส่วนนี้จึงเป็นการขอให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงใหม่ผิดไปจากที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาและขัดแย้งกับคำรับสารภาพของจำเลย ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงประการเดียวว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบของกลางชอบหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานเคลื่อนย้ายสัตว์ เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตประกาศกำหนดเฝ้าระวังโรคระบาดโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้น เป็นความผิดเพียงเพราะเคลื่อนย้ายสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้น ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 65 หากได้รับอนุญาตก็ไม่เป็นความผิด และตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อศาลได้พิพากษาลงโทษผู้ใดเนื่องจากได้กระทำผิดตาม… มาตรา 65 … ให้ศาลมีอำนาจสั่งริบสัตว์… ยานพาหนะ… ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเสียทั้งสิ้น… ก็เป็นบทบัญญัติที่ให้ศาลใช้ดุลพินิจในการริบสัตว์หรือยานพาหนะที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด การริบสัตว์และยานพาหนะตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ จึงเป็นดุลพินิจของศาล ศาลฎีกาจึงมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นสุกรของกลางที่จำเลยไม่ได้ฎีกาได้ ซึ่งได้ความจากข้อเท็จจริงในสำนวนว่า จำเลยมีอาชีพรับจ้างบรรทุกสิ่งของทั่วไป ไม่ได้รับจ้างบรรทุกสุกรเป็นอาชีพ จำเลยรับจ้างบรรทุกสุกรของกลางเพราะเจ้าของสุกรว่าจ้างโดยจ่ายค่าจ้างตามระยะทาง อีกทั้งไม่ปรากฏว่าสุกร 9 ตัว ของกลาง ติดโรคระบาดแต่อย่างใด พฤติการณ์แห่งคดีถือว่าไม่ร้ายแรงนัก จึงยังไม่สมควรริบสุกร 9 ตัว และรถบรรทุกของกลาง ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจริบสุกร 9 ตัว และรถบรรทุกของกลางนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบสุกร 9 ตัว และรถบรรทุกของกลาง โดยให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา สว.(อ)21/2565

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการคดีศาลแขวงสงขลา จำเลย - นาย ส.

ชื่อองค์คณะ อุทัย โสภาโชติ ชัยเจริญ ดุษฎีพร ภิญโญภัทร์ แสงภู่

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแขวงสงขลา - นางสาวธนวรรณ จินตณวิชญ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 - นายวสุพัชร์ จงเพิ่มวัฒนะผล

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE