สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3122/2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3122/2543

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49

โจทก์ทำงานแผนกเดียวกับ ธ. ต้องทำงานแทนกันในช่วงเวลาที่อีกคนหนึ่งไปพัก เมื่อ ธ. ไปพัก โจทก์คุมเครื่องจักรแทน ธ. โจทก์มีหน้าที่นำชิ้นงานออกจากเครื่องขัดแทน ธ. และตรวจสอบด้วยว่าชิ้นงานที่ออกมาได้ขนาดหรือไม่หากไม่ได้ขนาดก็ต้องปรับแต่งขัดใหม่ให้ได้ขนาด ดังนี้ ในช่วงที่ ธ. ไปพักต้องถือว่างานของ ธ. เป็นงานในหน้าที่โจทก์ด้วย โจทก์จึงต้องรับผิดในผลงานร่วมกับ ธ.

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุว่า "พนักงานต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจสุขุมรอบคอบ และด้วยความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ" เมื่อโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ควบคุมตรวจสอบให้รอบคอบจนชิ้นงานที่ทำไม่ได้มาตรฐานที่กำหนดถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานของจำเลย ซึ่งจำเลยเคยเตือนโจทก์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนแล้ว โจทก์ยังมากระทำผิดในเรื่องเดียวกันอีก เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุนี้ จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหากไม่สามารถกระทำได้ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ทำงานประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานที่กำหนด ทำให้จำเลยเสียหายส่งมอบให้ลูกค้าไม่ทัน จำเลยเคยเตือนโจทก์เป็นหนังสือหลายครั้งในเรื่องงานเสียหายไม่ได้มาตรฐาน โดยเตือนครั้งสุดท้ายวันที่ 13 กรกฎาคม 2541 ซึ่งโจทก์กระทำความผิดในวันที่ 3 กรกฎาคม 2541 ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2541 โจทก์มากระทำผิดในลักษณะเดียวกันอีก จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุกระทำผิดซ้ำคำเตือน จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือจ่ายค่าเสียหายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์ต้องรับผิดในผลงานร่วมกับนายธีรวัฒน์ กมลจิตรหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทำงานแผนกเดียวกับนายธีรวัฒน์ ต้องทำงานแทนกันในช่วงเวลาที่อีกคนหนึ่งไปพัก เมื่อนายธีรวัฒน์ไปพัก โจทก์คุมเครื่องจักรแทนนายธีรวัฒน์ โจทก์มีหน้าที่นำชิ้นงานออกจากเครื่องขัดแทนนายธีรวัฒน์และตรวจสอบด้วยว่าชิ้นงานที่ออกมาได้ขนาดหรือไม่หากไม่ได้ขนาดก็ต้องปรับแต่งขัดใหม่ให้ได้ขนาดดังนี้ ในช่วงที่นายธีรวัฒน์ไปพักต้องถือว่างานของนายธีรวัฒน์เป็นงานในหน้าที่โจทก์ด้วย โจทก์จึงต้องรับผิดในผลงานร่วมกับนายธีรวัฒน์ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ประการที่สองว่า โจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย จ.ล.1 ข้อ 10.3.4.4 ระบุว่า "พนักงานต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจ สุขุมรอบคอบและด้วยความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ" เมื่อโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ควบคุมตรวจสอบให้รอบคอบจนชิ้นงานที่ทำไม่ได้มาตรฐานที่กำหนด ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานของจำเลย ซึ่งจำเลยเคยเตือนโจทก์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนแล้ว โจทก์ยังมากระทำผิดในเรื่องเดียวกันอีก เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย อภิเชษฐ์ ทองบุราณ จำเลย - บริษัท อี.ที.เอ. (ประเทศไทย) จำกัด

ชื่อองค์คณะ รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ สละ เทศรำพรรณ หัสดี ไกรทองสุก

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE