คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3100/2563
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 5 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 54 วรรคหนึ่ง, 56 วรรคสอง, 57/1 วรรคหนึ่ง, 57/1 วรรคสอง
ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยมาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสอง คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางฟังและที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันเป็นยุติว่า โจทก์กับจำเลยทำข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะ โดยมีข้อความระบุว่าโรงพยาบาลตกลงให้แพทย์เข้ามาใช้สถานที่และบริการด้านอื่น ๆ ของโรงพยาบาลในการเปิดคลินิกรักษาผู้ป่วย แพทย์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ไม่มีฐานะเป็นลูกจ้างของโรงพยาบาล แพทย์เป็นผู้คิดค่ารักษาพยาบาลแต่ต้องไม่เกินที่ได้แจ้งไว้แก่โรงพยาบาล และแพทย์มอบหมายให้โรงพยาบาลเป็นผู้เรียกเก็บค่ารักษาแทนและรวบรวมจ่ายคืนแก่แพทย์เดือนละครั้ง โดยแพทย์จ่ายค่าใช้สถานที่และเครื่องมือในอัตราร้อยละ 20 ของค่าตรวจรักษาผู้ป่วยแก่โรงพยาบาล ในการทำงานโจทก์มีตำแหน่งเป็นแพทย์ประจำตามคู่มือปฏิบัติงาน (สำหรับแพทย์) ประเภทแพทย์ที่มาใช้สถานที่ของโรงพยาบาลประกอบวิชาชีพไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โจทก์มิได้อยู่ภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งใช้บังคับกันระหว่างโรงพยาบาลของจำเลยกับพนักงานเท่านั้น การตรวจสอบการทำงานของโจทก์ที่เรียกว่า PEER REVIEW เป็นการตรวจสอบว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นกับผู้ป่วยหรือไม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบพัฒนาคุณภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานของสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ไม่มีผลต่อการทำงานของแพทย์ในลักษณะที่เป็นการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นแพทย์ประจำต้องเข้าเวรวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 8 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา วันเสาร์และวันอาทิตย์จำเลยเรียกโจทก์ให้ทำงานได้ตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา การตรวจสอบการทำงานของแพทย์ที่เรียกว่า PEER REVIEW หากปรากฎว่า แพทย์ผู้ใดประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วยและโรงพยาบาลอันเป็นการกระทำผิดต่อกฎระเบียบข้อบังคับของโรงพยาบาล แพทย์จะต้องถูกลงโทษทางวินัยตามอำนาจและดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา แล้วนำมาวินิจฉัยว่าจำเลยมีอำนาจควบคุมการทำงานของโจทก์นั้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมิได้ถือตามข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติมาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดี จึงเป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสอง
นิติสัมพันธ์ที่จะเป็นสัญญาจ้างแรงงานต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. ลักษณะ 6 ว่าด้วยจ้างแรงงาน ตั้งแต่มาตรา 575 ถึงมาตรา 586 และเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งสรุปได้ว่า ต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้างตกลงทำงานให้นายจ้างและนายจ้างตกลงให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงาน และต้องปรากฏว่าลูกจ้างอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างด้วย ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตามสัญญาว่าจ้างทำงานฉบับลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2535 ต่อมาโจทก์กับจำเลยทำข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะมาอย่างต่อเนื่องตามข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2541 ฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2548 ฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2549 ฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2550 และฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2552 ซึ่งมีข้อความระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า แพทย์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ แพทย์ไม่มีฐานะเป็นลูกจ้างของโรงพยาบาล ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับโรงพยาบาลเป็นไปตามข้อตกลงดังกล่าว ดังนี้ การเปลี่ยนแปลงสัญญาว่าจ้างทำงานระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะดังกล่าวถือได้ว่าสัญญาว่าจ้างทำงานระหว่างโจทก์กับจำเลยยุติไปตั้งแต่โจทก์กับจำเลยทำข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะในวันที่ 1 มกราคม 2541
ข้อเท็จจริงได้ความตามข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะ ข้อ 2 และข้อ 3 ว่า โจทก์มีรายได้จากค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วย คิดตามความยากง่ายในการรักษาโรคของผู้ป่วยเป็นราย ๆ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินค่ารักษาพยาบาลตามอัตราที่โจทก์แจ้งจำเลยไว้ และจำเลยเป็นผู้เก็บเงินดังกล่าวจากผู้ป่วยแล้วจ่ายคืนแก่โจทก์เดือนละครั้ง โดยจำเลยหักค่าใช้สถานที่และเครื่องมือในอัตราร้อยละ 20 ของค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว การที่โจทก์เป็นผู้กำหนดจำนวนค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวด้วยตนเอง เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่ผู้ป่วยจ่ายเพื่อตอบแทนการรักษาพยาบาลของโจทก์โดยตรง มิใช่เงินที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน เงินค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าจ้าง ข้อตกลงดังกล่าวถือไม่ได้ว่า โจทก์ตกลงทำงานแก่จำเลยและจำเลยตกลงให้สินจ้างหรือค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงาน
โจทก์ไม่ต้องบันทึกเวลาเข้า-ออกจากที่ทำงาน ไม่มีกำหนดวันหยุด วันพักผ่อนประจำปี ไม่มีการลาป่วยหรือลาหยุดในกรณีอื่นเช่นเดียวกับกรณีของลูกจ้างทั่วไปของจำเลย ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่กำหนดให้ลูกจ้างของจำเลยต้องเข้าทำงานตามวันเวลาที่จำเลยกำหนด แม้ตามคู่มือปฏิบัติงาน (สำหรับแพทย์) เรื่องแนวทางการดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพสำหรับแพทย์เอกสารเลขที่ QP 5301 ข้อ 2.3.2 กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการลาว่า แพทย์ประจำที่จะลาพักผ่อนประจำปี ลากิจ หรือลาประชุมวิชาการต้องแจ้งหรือส่งใบลาให้หัวหน้าแผนกที่ตนสังกัด เพื่อขออนุมัติล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน และควรจัดหาแพทย์สาขาเดียวกันมาปฏิบัติหน้าที่แทน กับระเบียบปฏิบัติ เรื่องธรรมนูญแพทย์ เอกสารเลขที่ QP 05 บทที่ 12 ข้อ 11.2 เรื่องการลา กำหนดว่า แพทย์ต้องยื่นใบลาต่อหัวหน้าแผนกก่อนก็ตาม แต่ก็เพื่อให้การปฏิบัติงานของแพทย์เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยและเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพเวชกรรมอันเป็นวัตถุประสงค์ในการกำหนดเรื่องการลาตามคู่มือปฏิบัติงานดังกล่าวและเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียแก่ผู้ป่วยเท่านั้น ไม่มีลักษณะเช่นเดียวกับการลาของลูกจ้างทั่วไปที่ต้องขออนุมัติจากนายจ้าง ทั้งเป็นการควบคุมดูแลให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการปฏิบัติงานของแพทย์และการให้บริการของโรงพยาบาล
การตรวจสอบการทำงานของโจทก์ที่เรียกว่า PEER REVIEW เป็นระบบการตรวจสอบการทำงานโดยใช้การทบทวนร่วมกันในที่ประชุมองค์กรแพทย์โดยเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมให้ความคิดเห็น เป็นส่วนหนึ่งของระบบพัฒนาคุณภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานของสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ขั้นตอนการทบทวนมาตรฐานและการทำเวชปฏิบัติเอกสารเลขที่ QP 53 มีลักษณะเป็นการควบคุมการปฏิบัติงานของแพทย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ มิใช่การสอบสวนหรือลงโทษในลักษณะทางวินัยการทำงานของนายจ้าง จึงแสดงให้เห็นว่า จำเลยมิได้มีอำนาจบังคับบัญชาและลงโทษโจทก์ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลย ตามข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะจึงไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง 562,172 บาท ค่าชดเชย 4,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 9,430,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางเพียงฟังข้อเท็จจริงจากข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะ เป็นหลักในการวินิจฉัยโดยยังมิได้ฟังข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยประกอบด้วย การฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวของศาลแรงงานกลางจึงยังไม่พอแก่การวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ เห็นสมควรให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานระหว่างโจทก์กับจำเลยเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ 1. โครงสร้างการบริหารงานด้านบุคลากรแพทย์ในโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์มีขั้นตอนและแบ่งอำนาจหน้าที่กันอย่างไร 2. ข้อบังคับหรือระเบียบว่าด้วยการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์เป็นอย่างไร 3. ขอบเขตหน้าที่การงานของโจทก์เป็นอย่างไรและมีใครเป็นผู้กำหนดหรือไม่ อย่างไร เช่น อำนาจในการตัดสินใจเลือกรับหรือไม่รับรักษาผู้ป่วยของโจทก์ หรืออำนาจในการเลือกสถานที่ปฏิบัติงานหรือห้องทำงานภายในโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์เป็นของโจทก์หรือจำเลย 4. เวลาทำงานของโจทก์ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์เป็นแบบใดและโจทก์ต้องปฏิบัติตามระเบียบเวลาการทำงานกับใครหรือไม่ อย่างไร 5. การตรวจสอบการทำงานของแพทย์ที่เรียกว่า PEER REVIEW เป็นการตรวจสอบเรื่องใดและมีผลต่อการทำงานของแพทย์ทุกคนหรือไม่ อย่างไร 6. ใครเป็นผู้มีอำนาจกำหนดอัตรากำลังแพทย์ในโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ 7. รายได้ของโจทก์จากโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์มีวิธีคิดคำนวณจากฐานใดอย่างไรและมีการหักเงินส่งให้แก่สำนักงานประกันสังคมหรือไม่ ทั้งมีการคำนวณภาษีเงินได้แบบใด เพราะอะไร 8. มูลเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจากสัญญาว่าจ้างทำงานมาเป็นข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะ เพราะเหตุใด 9. มูลเหตุแห่งการทำข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอโรคศิลปะฉบับใหม่ เพราะเหตุใด 10. พฤติการณ์หรือความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างโจทก์กับจำเลยภายหลังเปลี่ยนจากสัญญาว่าจ้างทำงานมาเป็นข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะเป็นอย่างไร แล้วพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังกล่าว หากศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นผลทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงก็ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาใหม่ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสอง และวรรคสาม
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงาน พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 3,523,320 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังและคู่ความไม่ได้โต้แย้งกันเป็นยุติว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิกกรุงเทพ ร.ศ.128 (พ.ศ.2452) ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลชื่อโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2535 ตำแหน่งแพทย์ ตามสัญญาว่าจ้างทำงาน วันที่ 1 มกราคม 2541 วันที่ 1 มกราคม 2548 วันที่ 1 มกราคม 2549 วันที่ 1 มกราคม 2550 และวันที่ 1 มกราคม 2552 โจทก์กับจำเลยทำข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะ ซึ่งมีข้อความระบุว่า โรงพยาบาลตกลงให้แพทย์เข้ามาใช้สถานที่และบริการด้านอื่น ๆ ของโรงพยาบาลในการเปิดคลินิกรักษาพยาบาลผู้ป่วย แพทย์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ไม่มีฐานะเป็นลูกจ้างของโรงพยาบาล แพทย์เป็นผู้คิดค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยแล้วโรงพยาบาลรวบรวมจ่ายคืนแก่แพทย์เดือนละครั้ง แพทย์ตกลงจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เรียกเก็บได้ดังกล่าวแก่โรงพยาบาลเพื่อเป็นค่าใช้สถานที่และเครื่องมือต่าง ๆ ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าตรวจรักษาผู้ป่วย ปี 2553 จำเลยแต่งตั้งโจทก์เป็นแพทย์หัวหน้าแผนกวิสัญญีแพทย์ วันที่ 28 ตุลาคม 2558 จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ยุติหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้าแพทย์แผนกวิสัญญี วันที่ 30 ตุลาคม 2558 โรงพยาบาลมีหนังสือบอกเลิกข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไป โจทก์เป็นวิสัญญีแพทย์มีหน้าที่ให้การดมยาสลบหรือระงับความรู้สึกเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดหรือคลอดบุตรตลอดจนใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤต จำเลยมีคู่มือแพทย์ คู่มือปฏิบัติงาน (สำหรับแพทย์) ระเบียบปฏิบัติโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์เรื่องธรรมนูญแพทย์ และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การตรวจสอบการทำงานของแพทย์ที่เรียกว่า PEER REVIEW คือ การตรวจสอบการทำงานของแพทย์ว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วยหรือไม่ เป็นการนำตัวอย่างผู้ป่วยที่เสียชีวิตหรือเกิดเหตุไม่พึงประสงค์มาพิจารณาทบทวนร่วมกันในที่ประชุมองค์กรแพทย์โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นแพทย์จากราชวิทยาลัยในสาขาที่เกี่ยวข้องหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ เข้าร่วมให้ความคิดเห็นเป็นกรณีศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยให้อยู่ในธรรมาภิบาล มีความเหมาะสมมากขึ้นซึ่งจะได้กำหนดเป็นแนวปฏิบัติของแพทย์ต่อไป เป็นส่วนหนึ่งของระบบพัฒนาคุณภาพในการดูแลผู้ป่วย ตามมาตรฐานของสำนักสถานพยาบาลและประกอบโรคศิลปะ (สรพ.) ไม่มีผลต่อการทำงานของแพทย์ในลักษณะที่เป็นการลงโทษ ผู้จัดการฝ่ายแพทย์และแพทย์หัวหน้าแผนกเป็นผู้ร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมของอัตรากำลังแพทย์เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการ ถ้าเห็นสมควรเพิ่มเติม แพทย์ก็จะกำหนดประเภท จำนวน และคุณสมบัติของแพทย์ที่ต้องการรับเพิ่ม โดยผู้จัดการฝ่ายแพทย์จัดทำบันทึกแผนอัตรากำลังเสนอกรรมการบริหารองค์กรแพทย์ รายได้ของแพทย์คิดคำนวณจากค่ารักษาพยาบาลที่แพทย์คิดตามความยากง่ายในการรักษาโรคของผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป โดยโรงพยาบาลเป็นผู้เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลแทนแพทย์แล้วรวบรวมจ่ายคืนแก่แพทย์เดือนละครั้ง โดยแพทย์รับรายได้จากการรักษาผู้ป่วยในอัตราร้อยละ 80 และจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลที่เรียกเก็บให้แก่โรงพยาบาลในอัตราร้อยละ 20 เป็นค่าใช้สถานที่และเครื่องมือต่าง ๆ โดยไม่มีการหักเงินส่งให้แก่สำนักงานประกันสังคม มีการคำนวณภาษีเงินได้จากเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (6) ประเภทเงินได้จากวิชาชีพอิสระ กรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งเรื่องการซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับเงินได้การประกอบวิชาชีพอิสระการประกอบโรคศิลปะว่า ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะทำสัญญาหรือข้อตกลงพิเศษกับสถานพยาบาลที่ตนทำงานอยู่เพื่อประกอบโรคศิลปะเป็นการส่วนตัวนอกเวลาทำการปกติ โดยการรับตรวจและรักษาผู้ป่วย และมีข้อตกลงแบ่งเงินที่ตนได้รับจากผู้ป่วยให้แก่สถานพยาบาลเป็นลายลักษณ์อักษร ค่าตอบแทนที่ได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า หลังจากการทำข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะระหว่างโจทก์กับโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับโรงพยาบาลของจำเลยมิใช่ลูกจ้างนายจ้างกันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 และมาตรา 119 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 และมาตรา 583 กรณีไม่มีผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์มีอำนาจควบคุมการทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นแพทย์ประจำทั้งในเรื่องเวลาทำงานตามคู่มือปฏิบัติงาน (สำหรับแพทย์) เอกสารเลขที่ QP 39 ข้อ 4.3 การลา การคิดค่าบริการ ตามคู่มือปฏิบัติงาน (สำหรับแพทย์) เอกสารเลขที่ QW 5301 ข้อ 2.3.2.1 กับข้อ 2.4.2.13 การคัดเลือกแพทย์ใหม่ตามคู่มือปฏิบัติงาน (สำหรับแพทย์) เอกสารเลขที่ QP 39 ข้อ 5.1 กับข้อ 5.2 และการตรวจสอบคุณภาพการทำงานที่เรียกว่า PEER REVIEW ซึ่งหากปรากฏว่า แพทย์ผู้ใดประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วยและโรงพยาบาลอันเป็นการกระทำผิดต่อกฎระเบียบข้อบังคับของโรงพยาบาล แพทย์จะต้องถูกลงโทษทางวินัยตามอำนาจและดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาต่อไป ลักษณะการทำงานของโจทก์จึงอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ มิใช่ทำงานในลักษณะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระตามข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะแต่ประการใด โจทก์จึงมีฐานะเป็นลูกจ้างโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ของจำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงอันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.10 และข้อ 3 โดยตลอดแล้ว เป็นอุทธรณ์ที่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย มิใช่เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงดังที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยมาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสอง คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางฟังและที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันเป็นยุติว่า เดิมโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยตามสัญญาว่าจ้างทำงาน วันที่ 1 มกราคม 2541 โจทก์กับจำเลยทำข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะ โดยมีข้อความระบุว่า โรงพยาบาลตกลงให้แพทย์เข้ามาใช้สถานที่และบริการด้านอื่น ๆ ของโรงพยาบาลในการเปิดคลินิกรักษาผู้ป่วย แพทย์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ไม่มีฐานะเป็นลูกจ้างของโรงพยาบาล แพทย์เป็นผู้คิดค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วย ตามความยากง่ายในการรักษาโรคของผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป แต่ต้องไม่เกินค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ได้แจ้งไว้แก่โรงพยาบาล และแพทย์มอบหมายให้โรงพยาบาลเป็นผู้เรียกเก็บค่ารักษาแทนและรวบรวมจ่ายคืนแก่แพทย์เดือนละครั้ง โดยแพทย์จ่ายค่าใช้สถานที่และเครื่องมือในอัตราร้อยละ 20 ของค่าตรวจรักษาผู้ป่วยแก่โรงพยาบาล วัตถุประสงค์ในการทำข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะเพื่อให้แพทย์มีรายได้เพิ่มขึ้นและรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลได้อย่างต่อเนื่อง ในการทำงานโจทก์มีตำแหน่งเป็นแพทย์ประจำตามคู่มือปฏิบัติงาน (สำหรับแพทย์) เอกสารเลขที่ QP 39 ข้อ 4.3 ประเภทแพทย์ที่มาใช้สถานที่ของโรงพยาบาลประกอบวิชาชีพไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โจทก์มิได้อยู่ภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งใช้บังคับกันระหว่างโรงพยาบาลของจำเลยกับพนักงานเท่านั้น การตรวจสอบการทำงานของโจทก์ที่เรียกว่า PEER REVIEW เป็นการตรวจสอบว่า มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นกับผู้ป่วยหรือไม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบพัฒนาคุณภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานของสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (สรพ.) ไม่มีผลต่อการทำงานของแพทย์ในลักษณะที่เป็นการลงโทษ การเสียภาษีจากรายได้ของโจทก์เป็นเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (6) ประเภทเงินได้จากวิชาชีพอิสระ มิใช่ประเภทเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นแพทย์ประจำต้องเข้าเวรวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 8 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา วันเสาร์และวันอาทิตย์จำเลยเรียกโจทก์ให้ทำงานได้ตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา การตรวจสอบการทำงานของแพทย์ที่เรียกว่า PEER REVIEW หากปรากฏว่า แพทย์ผู้ใดประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วยและโรงพยาบาลอันเป็นการกระทำผิดต่อกฎระเบียบข้อบังคับของโรงพยาบาล แพทย์จะต้องถูกลงโทษทางวินัยตามอำนาจและดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา แล้วนำมาวินิจฉัยว่า จำเลยมีอำนาจควบคุมการทำงานของโจทก์นั้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมิได้ถือตามข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติมาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดี จึงเป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสอง แต่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว ประกอบกับมีข้อเท็จจริงที่ยุติเพียงพอแก่การวินิจฉัยตามปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยในปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ ให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียว เห็นว่า นิติสัมพันธ์ที่จะเป็นสัญญาจ้างแรงงานต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 6 ว่าด้วยจ้างแรงงาน ตั้งแต่มาตรา 575 ถึงมาตรา 586 และเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งสรุปได้ว่า ต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้างตกลงทำงานให้นายจ้างและนายจ้างตกลงให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงาน และต้องปรากฏว่าลูกจ้างอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างด้วย คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตามสัญญาว่าจ้างทำงานฉบับลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2535 ต่อมาโจทก์กับจำเลยทำข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะมาอย่างต่อเนื่องตามข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2541 ฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2548 กับฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2549 ฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2550 และฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2552 ซึ่งมีข้อความระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า แพทย์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ แพทย์ไม่มีฐานะเป็นลูกจ้างของโรงพยาบาล ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์เป็นไปตามข้อตกลงดังกล่าว ดังนี้ การเปลี่ยนแปลงสัญญาว่าจ้างทำงานระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นข้อตกลงใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะดังกล่าวถือได้ว่าสัญญาว่าจ้างทำงานระหว่างโจทก์กับจำเลยยุติไปตั้งแต่โจทก์กับจำเลยทำข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะในวันที่ 1 มกราคม 2541 สำหรับข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะนั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะ ข้อ 2 และข้อ 3 ว่า โจทก์มีรายได้จากค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยคิดตามความยากง่ายในการรักษาโรคของผู้ป่วยเป็นราย ๆ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินค่ารักษาพยาบาลตามอัตราที่โจทก์แจ้งจำเลยไว้ และจำเลยเป็นผู้เก็บเงินดังกล่าวจากผู้ป่วยแล้วจ่ายคืนแก่โจทก์เดือนละครั้ง โดยจำเลยหักค่าใช้สถานที่และเครื่องมือในอัตราร้อยละ 20 ของค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว การที่โจทก์เป็นผู้กำหนดจำนวนค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวด้วยตนเอง เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่ผู้ป่วยจ่ายเพื่อตอบแทนการรักษาพยาบาลของโจทก์โดยตรง มิใช่เงินที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน เงินค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวจึงมิใช่ค่าจ้าง ข้อตกลงดังกล่าวถือไม่ได้ว่า โจทก์ตกลงทำงานแก่จำเลยและจำเลยตกลงให้สินจ้างหรือค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงาน สำหรับการทำงานของโจทก์ ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาและที่คู่ความไม่โต้แย้งกันเป็นยุติว่า โจทก์ไม่ต้องบันทึกเวลาเข้า–ออกจากที่ทำงาน ไม่มีกำหนดวันหยุด วันพักผ่อนประจำปี ไม่มีการลาป่วยหรือลาหยุดในกรณีอื่นเช่นเดียวกับกรณีของลูกจ้างทั่วไปของจำเลย ที่กำหนดให้ลูกจ้างของจำเลยต้องเข้าทำงานตามวันเวลาที่จำเลยกำหนด แม้ตามคู่มือปฏิบัติงาน (สำหรับแพทย์) เรื่องแนวทางการดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพสำหรับแพทย์เอกสารเลขที่ QP 5301 ข้อ 2.3.2 กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการลาว่า แพทย์ประจำที่จะลาพักผ่อนประจำปี ลากิจ หรือลาประชุมวิชาการต้องแจ้งหรือส่งใบลาให้หัวหน้าแผนกที่ตนสังกัด เพื่อขออนุมัติล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน และควรจัดหาแพทย์สาขาเดียวกันมาปฏิบัติหน้าที่แทน กับระเบียบปฏิบัติ เรื่องธรรมนูญแพทย์ เอกสารเลขที่ QP 05 บทที่ 12 ข้อ 11.2 เรื่องการลา กำหนดว่า แพทย์ต้องยื่นใบลาต่อหัวหน้าแผนกก่อนก็ตาม แต่ก็เพื่อให้การปฏิบัติงานของแพทย์เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยและเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพเวชกรรมอันเป็นวัตถุประสงค์ในการกำหนดเรื่องการลาตามคู่มือปฏิบัติงานดังกล่าวและเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียแก่ผู้ป่วยเท่านั้น ไม่มีลักษณะเช่นเดียวกับการลาของลูกจ้างทั่วไปที่ต้องขออนุมัติจากนายจ้าง ทั้งเป็นการควบคุมดูแลให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการปฏิบัติงานของแพทย์และการให้บริการของโรงพยาบาล ในส่วนการตรวจสอบการทำงานของโจทก์ที่เรียกว่า PEER REVIEW เป็นระบบตรวจสอบการทำงานโดยใช้การทบทวนร่วมกันในที่ประชุมองค์กรแพทย์ โดยเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมให้ความคิดเห็น เป็นส่วนหนึ่งของระบบพัฒนาคุณภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานของสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (สรพ.) ขั้นตอนการทบทวนมาตรฐานและการทำเวชปฏิบัติเอกสารเลขที่ QP 53 แผ่นที่ 21 มีลักษณะเป็นการควบคุมการปฏิบัติงานของแพทย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ มิใช่การสอบสวนหรือลงโทษในลักษณะทางวินัยการทำงานของนายจ้าง จึงแสดงให้เห็นว่า จำเลยมิได้มีอำนาจบังคับบัญชาและลงโทษโจทก์ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลย ตามข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะจึงมิใช่สัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย กรณีไม่ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ และไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงพิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ร.245/2562
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย พ. จำเลย - ม.
ชื่อองค์คณะ เอกศักดิ์ ยันตรปกรณ์ วุฒิชัย หรูจิตตวิวัฒน์ ประทีป อ่าววิจิตรกุล
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแรงงานกลาง - นางสาวกาญจนา เกิดโพธิ์ทอง
- นายธีระพล ศรีอุดมขจร