สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2897/2530

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2897/2530

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 96 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (7) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3

โจทก์มอบเช็คพิพาทให้ธนาคารตรวจสอบบัญชีของจำเลย เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2527 เจ้าหน้าที่ธนาคารตรวจสอบแล้วบอกว่าไม่มีเงินจึงคืนเช็คให้โจทก์ ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2527 โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินใหม่ เช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์แสดงความจำนงขอรับเงินตามเช็คจากธนาคารในวันที่ 26 มกราคม 2527นั้นแล้ว แม้ธนาคารจะมิได้ปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นลายลักษณ์อักษรก็ต้องถือว่าความผิดตามพ.ร.บ.เช็คฯ พ.ศ. 2497มาตรา 3 ได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อโจทก์มิได้ร้องทุกข์ไว้แต่มาฟ้องคดีเกินกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินคดีโจทก์จึงขาดอายุความ.

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คผู้ถือของธนาคารกสิกรไทย สาขาพัทลุงจำนวนเงิน 50,000 บาท ลงวันที่ 26 มกราคม 2527 เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2527 โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง คดีมีมูลสั่งประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ลงโทษจำคุก 5เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าโจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับแต่วันรู้ถึงการกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีโจทก์ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า 'ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ในวันที่ 26 มกราคม 2527 โจทก์นำเช็คไปสอบถามธนาคาร โดยโจทก์มอบเช็คให้เจ้าหน้าที่ธนาคาร เมื่อตรวจดูบัญชีของจำเลยแล้ว บอกว่าไม่มีเงินจึงคืนเช็คให้โจทก์ ในวันนั้นถ้ามีเงินในบัญชีโจทก์ก็ขอเบิกเงิน นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนายเดชา เรืองสวัสดิ์ สมุห์บัญชีธนาคารตามเช็คพิพาทว่าในวันที่ 26 มกราคม 2527 ถือว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว ดังนี้คำเบิกความของพยานโจทก์มีความหมายชัดแจ้งว่าโจทก์แสดงความจำนงจะขอรับเงินตามเช็คจากธนาคารในวันนั้นแล้ว และธนาคารมีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ผู้ทรงดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991แม้ธนาคารจะมิได้ปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นลายลักษณ์อักษรแต่ก็ไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติว่าการปฏิเสธการจ่ายเงินเช่นนี้ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรจึงจะเป็นความผิด จึงต้องถือว่าความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 ได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในครั้งแรก และถือว่าโจทก์ได้รู้เรื่องความผิดและรู้ถึงตัวผู้กระทำความผิดแล้ว การที่โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินใหม่อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 26 กรกฎาคม 2527 หาทำให้อายุความเริ่มนับใหม่แต่อย่างใดไม่ เมื่อโจทก์มิได้ร้องทุกข์ไว้ แต่มาฟ้องคดีเกินกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินครั้งแรก คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น'

พิพากษายืน.

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง วา ส นา ประชุม ทอง จำเลย - นาย เจื้อน ชู สกุล

ชื่อองค์คณะ สุนทร จันทรศักดิ์ สมศักดิ์ เกิดลาภผล สาระ เสาวมล

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE