คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882/2563
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/12, 193/30, 516
ตามคำฟ้องของโจทก์เรียกเงินราคาในส่วนที่ขาดจากการขายทอดตลาด เนื่องจากจำเลยผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำเอาที่ดินพิพาททั้งสามแปลงออกขายทอดตลาดซ้ำ และได้เงินสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ และให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 193/12 ซึ่งคดีนี้หลังจากจำเลยประมูลซื้อที่ดินพิพาทในราคาสูงสุดแล้วละเลยเสียไม่ชำระราคาแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำที่ดินพิพาททั้งสามแปลงออกขายทอดตลาดซ้ำอีกถึงสองครั้ง เพราะผู้ประมูลครั้งที่สองก็ไม่ได้ชำระราคาและถูกริบมัดจำเช่นเดียวกัน จนกระทั่ง จ. เข้าประมูลซื้อและชำระราคาครบถ้วนเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2549 การขายทอดตลาดจึงเสร็จสมบูรณ์ในวันดังกล่าว จึงต้องถือว่าวันที่ผู้สู้ราคาสูงสุดได้ชำระราคาครบถ้วนเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินในส่วนที่ขาดจากการขายทอดตลาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ได้เป็นต้นไป
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 20,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงิน 16,950,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 29 พฤศจิกายน 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ แต่เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ธ.5752/2545 ของศาลชั้นต้น และเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 19307 , 22013 และ 22015 ของบริษัทบี เอส เอ็ม ซี ไมนิ่ง จำกัด ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ในคดีดังกล่าว โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา ต่อมาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2548 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพิพาท จำเลยเป็นผู้สู้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 70,500,000 บาท มีการทำสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยกับเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยจำเลยวางเงินมัดจำ 50,000 บาท และจะชำระราคาส่วนที่เหลือ 70,450,000 บาท ภายใน 15 วัน นับแต่วันซื้อเป็นต้นไป เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาการชำระเงินออกไปอีก 3 เดือน ครบกำหนดวันที่ 10 ธันวาคม 2548 ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2548 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินอีกครั้ง แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งยกคำร้อง และจำเลยมิได้ชำระเงินส่วนที่เหลือ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงริบเงินมัดจำ 50,000 บาท ที่จำเลยวางไว้ในการประมูลซื้อที่ดินพิพาท และจะนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดใหม่ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2549 เจ้าพนักงานบังคับคดีนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดใหม่ ซึ่งนายสุธีภาคย์เป็นผู้สู้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 50,000,000 บาท มีการทำสัญญาซื้อขายระหว่างนายสุธีภาคย์กับเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยนายสุธีภาคย์วางเงินมัดจำ 3,500,000 บาท จะชำระราคาส่วนที่เหลือภายใน 15 วัน นับแต่วันซื้อเป็นต้นไป แต่นายสุธีภาคย์มิได้ชำระเงินส่วนที่เหลือภายในเวลาที่กำหนด เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2549 เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงริบเงินมัดจำที่นายสุธีภาคย์วางไว้ในการประมูลซื้อที่ดินพิพาท และจะนำที่ดินออกขายทอดตลาดใหม่ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 เจ้าพนักงานบังคับคดีนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดใหม่ ในครั้งนี้มีนายเจตน์เป็นผู้สู้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 50,000,000 บาท มีการทำสัญญาซื้อขายระหว่างนายเจตน์กับเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยนายเจตน์วางเงินมัดจำ 3,500,000 บาท ชำระราคาส่วนที่เหลือ 46,500,000 บาท ภายใน 15 วัน นับแต่วันซื้อเป็นต้นไป ครั้นวันที่ 14 ธันวาคม 2549 นายเจตน์ชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ 46,500,000 บาท ครบถ้วน เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดระยองจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่นายเจตน์แล้ว หลังจากนั้นนายเจตน์ยื่นคำร้องขอคืนภาษี เจ้าพนักงานบังคับคดีตรวจสอบพบว่านายเจตน์ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้องของผู้ร้องและศาลฎีกาพิพากษายกฎีกา คดีถึงที่สุด ต่อมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2558 โจทก์รับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทจากกรมบังคับคดี
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์เรียกเงินราคาในส่วนที่ขาดจากการขายทอดตลาดเนื่องจากจำเลยผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคา เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำเอาที่ดินพิพาททั้งสามแปลงออกขายทอดตลาดซ้ำและได้เงินสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ เมื่อมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งคดีนี้หลังจากจำเลยประมูลซื้อที่ดินพิพาทในราคาสูงสุดแล้วละเลยเสียไม่ชำระราคาแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำที่ดินพิพาททั้งสามแปลงออกขายทอดตลาดซ้ำอีกถึงสองครั้งเพราะผู้ประมูลครั้งที่สองก็ไม่ได้ชำระราคาและถูกริบมัดจำเช่นเดียวกันกับจำเลยจนเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำที่ดินพิพาททั้งสามแปลงออกประกาศขายทอดตลาดใหม่ จนกระทั่งนายเจตน์เข้าประมูลสู้ราคาสูงสุดจำนวน 50,000,000 บาท และชำระราคาครบถ้วนเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2549 การขายทอดตลาดจึงเสร็จสมบูรณ์ในวันดังกล่าวจึงต้องถือว่าวันที่ผู้สู้ราคาสูงสุดได้ชำระราคาครบถ้วนเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินในส่วนที่ขาดจากการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 ได้เป็นต้นไป มิใช่นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายและทำสัญญาซื้อขายตามที่จำเลยฎีกา เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 นับแต่วันดังกล่าวไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นนี้มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 บัญญัติว่า "ถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาไซร้ ท่านให้ผู้ทอดตลาดเอาทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง ถ้าและได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ผู้สู้ราคาเดิมคนนั้นต้องรับผิดในส่วนที่ขาด" การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้สู้ราคาคนเดิมต้องรับผิดชำระราคาส่วนที่ขาดจึงเป็นความรับผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งกำหนดจำนวนไว้แน่นอนแล้วว่าเป็นส่วนต่างระหว่างราคาที่ผู้สู้ราคาคนเดิมเสนอกับราคาที่ขายได้ในครั้งหลัง แม้ในหนังสือสัญญาซื้อขายที่จำเลยทำกับเจ้าพนักงานบังคับคดี ข้อ 2.3 จะมีข้อความระบุว่า "หากจำเลยไม่ชำระค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือภายในกำหนด ยอมให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินมัดจำ และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดต่อไปได้ราคาสุทธิต่ำกว่าครั้งก่อนเท่าใด จำเลยยอมรับผิดชดใช้ให้เต็มจำนวนที่จำเลยประมูลไว้ในครั้งก่อน" ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงการนำเงื่อนไขตามหลักกฎหมายข้างต้นมาระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น มิได้มีลักษณะเป็นการตกลงกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด ราคาส่วนที่ขาดที่จำเลยต้องรับผิดชำระจึงไม่เป็นเบี้ยปรับที่ศาลจะลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระราคาส่วนที่ขาดโดยนำเงินมัดจำที่เจ้าพนักงานบังคับคดีริบไว้มาหักออกจากส่วนต่างราคาที่จำเลยจะต้องรับผิด ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.840/2562
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - ธนาคาร ซ. จำเลย - นาย ส.
ชื่อองค์คณะ ปวีณณา ศรีวงษ์ สมพงษ์ เหมวิมล สุนทร เฟื่องวิวัฒน์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่ง - นายสุชาติ ธนะสินวิริยะกุล ศาลอุทธรณ์ - นายณัฐพงศ์ ฐาปนาเนติพงศ์