สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2811 - 2813/2563

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคหนึ่ง, 192 วรรคสี่

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกกับพวกสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยหลอกลวงคนไทย คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาและสัญชาติอื่นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผู้เสียหายไปบังคับใช้แรงงานเป็นลูกเรือประมง โดยใช้กลอุบายหลอกลวง บังคับขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย โดยร่วมกันใช้ยาพิษใส่ในน้ำหรือน้ำแดงหรือสุราให้พวกผู้เสียหายดื่มจนพวกผู้เสียหายมึนงง ขาดสติ และอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วนำพวกผู้เสียหายไปหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ที่บริเวณบ่อเลี้ยงกุ้งในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อบังคับใช้แรงงานในเรือประมงในน่านน้ำสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ในทางพิจารณาว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ให้เสมียนนำสัญญากู้เงินไปให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดลงชื่อโดยไม่ได้อ่านให้ฟัง และผู้เสียหายทั้งเจ็ดไม่ได้รับเงินกู้ แต่ต้องทำงานบนเรือประมงเพื่อหักใช้หนี้ เป็นการข่มขืนใจและทำให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เป็นการแสวงหาประโยชน์จากการทำงานของผู้เสียหายทั้งเจ็ดก็ตาม แต่เมื่อฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงดังเช่นที่ปรากฏในทางพิจารณา จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้กล่าวในฟ้องและไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ ไม่อาจลงโทษจําเลยทั้งหกตามข้อเท็จจริงนั้นได้

เนื้อหาฉบับเต็ม

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยทั้งสองในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกจำเลยในสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 3 และเรียกจำเลยทั้งสามในสำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ตามลำดับ

โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 9, 10, 52 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 310, 310 ทวิ ให้จำเลยทั้งหกใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 199,500 บาท 222,500 บาท 516,000 บาท 516,000 บาท 466,000 บาท 466,000 บาท และ 466,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 7 ตามลำดับ

จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การในส่วนแพ่งขอให้ยกคำขอ

จำเลยที่ 6 ไม่ให้การในส่วนแพ่ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยคู่ความไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 พาผู้เสียหายทั้งเจ็ดไปที่บริเวณบ่อเลี้ยงกุ้งของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 และภริยาเป็นผู้ดูแลบ่อเลี้ยงกุ้งดังกล่าว ผู้เสียหายทั้งเจ็ดพักอาศัยอยู่ที่บ่อเลี้ยงกุ้งนั้นเป็นเวลาหลายวัน จำเลยที่ 1 พาผู้เสียหายทั้งเจ็ดไปขอคัดสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และทำหนังสือคนประจำเรือ ต่อมาผู้เสียหายทั้งเจ็ดไปลงเรือซึ่งจดทะเบียนเรือไทยมีนางสาวมาลี เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยผู้เสียหายทั้งเจ็ดทำสัญญาจ้างกับจำเลยที่ 4 ผู้ว่าจ้าง นางสาวมาลีเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 วันที่ 9 กรกฎาคม 2557 เรือแพรไหมซึ่งมีจำเลยที่ 6 เป็นไต้ก๋ง และจำเลยทั้งเจ็ดกับผู้อื่นรวม 25 คน เป็นลูกเรือ เดินทางออกทะเลไปเกาะอัมบน ซึ่งอยู่ในน่านน้ำสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และลอยลำอยู่ที่เกาะดังกล่าวเพื่อขออนุญาตจับปลา ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 หลบหนีขึ้นไปบนเกาะดังกล่าว คณะผู้แทนไทยซึ่งไปสอบสวนคดีการบังคับใช้แรงงานไทยในเรือประมงในน่านน้ำสาธารณรัฐอินโดนีเซีย พบผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับแรงงานคนไทยคนอื่นรวม 6 คน และส่งตัวกลับประเทศไทย ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ได้รับการคัดแยกเป็นผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร อัยการสูงสุดมอบหมายให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษในกรมสอบสวนคดีพิเศษสอบสวนร่วมกับพนักงานอัยการ โดยให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ต่อมาพนักงานสอบสวนประสานงานช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 3 ถึงที่ 7 ที่ยังคงทำงานอยู่บนเรือแพรไหมได้ และส่งตัวกลับประเทศไทย ผู้เสียหายที่ 3 ถึงที่ 7 ได้รับการคัดแยกเป็นผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์ ผู้เสียหายที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยทั้งหกว่า สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งได้กระทำโดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ร่วมกันกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งได้กระทำโดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และให้ผู้อื่นนั้นกระทำใดให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งหกกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนเป็นอำนาจของศาลที่จะต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงว่า ข้อใดควรรับฟังได้หรือไม่และเพียงใด เพราะเหตุผลใด ไม่ใช่ว่าพยานเบิกความอย่างไรแล้วศาลจะต้องรับฟังตามนั้นเสมอไป ที่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เบิกความว่า คนร้ายชักชวนผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ขณะอยู่ที่สถานีรถไฟหัวลำโพงไปทำงานบนเรือประมง แล้วคนร้ายพ่นควันบุหรี่ใส่ และให้ดื่มน้ำสีแดงกับน้ำโพลาริส ทำให้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 มึนงง คนร้ายพาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไปร้านอาหารในจังหวัดสมุทรสาคร แล้วจำเลยที่ 1 พาไปบ่อเลี้ยงกุ้งที่เกิดเหตุ นั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวว่าไม่มีพยานหลักฐานยืนยันบ่งชี้ว่าคนร้ายดังกล่าวเกี่ยวข้องอย่างไรกับจำเลยทั้งหก และไม่อาจพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าน้ำสีแดงกับน้ำโพลาริสเป็นยาพิษดังที่โจทก์อ้างมาในฟ้อง โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าคนร้ายพ่นควันบุหรี่ใส่ด้วย ก็เป็นคำเบิกความที่เลื่อนลอย ปราศจากพยานสนับสนุน ไม่มีน้ำหนักรับฟัง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งหกร่วมกับคนร้ายใช้ยาพิษใส่ในน้ำหรือน้ำแดงหรือสุราให้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ดื่มจนมึนงง ขาดสติ และอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ที่นายภานุและพันตำรวจโทคมวิชช์เบิกความว่า บ่อเลี้ยงกุ้งที่เกิดเหตุมีสภาพเป็นสถานที่กักขังนั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วว่า บ่อเลี้ยงกุ้งที่เกิดเหตุมีสภาพเป็นพื้นที่โล่งมีทางเข้าออกหลายทางและรถสามารถผ่านเข้าออกได้ จึงไม่มีสภาพเป็นที่กักขังดังที่นายภานุและพันตำรวจโทคมวิชช์เบิกความกล่าวอ้าง ซึ่งโจทก์ไม่ได้ฎีกาโต้แย้ง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าบ่อเลี้ยงกุ้งที่เกิดเหตุไม่มีสภาพเป็นสถานที่กักขัง ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า บ่อเลี้ยงกุ้งที่เกิดเหตุเป็นที่เปลี่ยว มีสุนัขจำนวนมาก และผู้เสียหายทั้งเจ็ดไม่รู้จักสภาพพื้นที่มาก่อน ผู้เสียหายทั้งเจ็ดจึงไม่กล้าหลบหนี นั้น แม้บ่อเลี้ยงกุ้งที่เกิดเหตุเป็นที่เปลี่ยว และผู้เสียหายทั้งเจ็ดไม่รู้จักสภาพพื้นที่มาก่อนดังที่โจทก์อ้างในฎีกา ก็ไม่เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดไม่กล้าหลบหนีเสมอไป ทั้งตามคำเบิกความตอบคำถามค้านทนายผู้ต้องหาทั้งสอง (จำเลยที่ 1 และที่ 2) ของผู้เสียหายที่ 6 ในชั้นสืบพยานก่อนฟ้องปรากฏว่า ผู้ใดจะเดินออกไปจากบ่อเลี้ยงกุ้งที่เกิดเหตุก็ได้ ผู้เสียหายบางคนเดินออกไปตลาดด้วย ส่วนตามคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 3 และที่ 7 ประกอบสำเนาบันทึกคำให้การของผู้เสียหายที่ 3 และที่ 7 ที่ว่า บ่อเลี้ยงกุ้งที่เกิดเหตุมีสุนัขจำนวนมากนั้น ตามคำเบิกความของผู้เสียหายอื่นไม่ปรากฏว่าได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงนี้แต่อย่างใด อีกทั้งตามคำเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ของผู้เสียหายที่ 3 ก็ปรากฏว่า ผู้เสียหายที่ 3 กับพวกมีอิสระสามารถออกจากบ่อเลี้ยงกุ้งที่เกิดเหตุไปตลาดได้ตลอดเวลา และตามคำเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ของผู้เสียหายที่ 7 ปรากฏว่า ผู้เสียหายที่ 7 กับพวกออกไปจากบ่อเลี้ยงกุ้งที่เกิดเหตุไปซื้อสิ่งของข้างนอก 1 ครั้ง ดังนั้น แม้บ่อเลี้ยงกุ้งที่เกิดเหตุมีสุนัขจำนวนมากดังที่ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 7 เบิกความกล่าวอ้าง ก็ไม่น่าเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดไม่กล้าหลบหนีดังที่โจทก์ฎีกา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หลอกลวงบังคับใช้แรงงานผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ดังที่โจทก์อ้างมาในฎีกา สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ให้เสมียนนำสัญญากู้เงินไปให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดลงชื่อโดยไม่ได้อ่านให้ฟัง และผู้เสียหายทั้งเจ็ดไม่ได้รับเงินกู้ แต่ต้องทำงานบนเรือประมงเพื่อหักใช้หนี้ นั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกกับพวกที่หลบหนีสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยหลอกลวงคนไทย คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาและสัญชาติอื่นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผู้เสียหายไปบังคับใช้แรงงานเป็นลูกเรือประมง โดยใช้กลอุบายหลอกลวง บังคับขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย โดยร่วมกันใช้ยาพิษใส่ในน้ำหรือน้ำแดงหรือสุราให้พวกผู้เสียหายดื่มจนพวกผู้เสียหายมึนงง ขาดสติ และอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วนำพวกผู้เสียหายไปหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ที่บริเวณบ่อเลี้ยงกุ้งในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อบังคับใช้แรงงานในเรือประมงในน่านน้ำสาธารณรัฐอินโดนีเซีย กล่าวคือ จำเลยทั้งหกกับพวกร่วมกันค้ามนุษย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไปและโดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พาไป หน่วงเหนี่ยว กักขัง จัดให้อยู่อาศัย รับไว้ซึ่งผู้เสียหายทั้งเจ็ด โดยฉ้อฉล ข่มขู่ บังคับตามพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น และใช้แรงงานให้ทำงานเป็นลูกเรือประมงในน่านน้ำสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ในทางพิจารณาว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ให้เสมียนนำสัญญากู้เงินไปให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดลงชื่อโดยไม่ได้อ่านให้ฟัง และผู้เสียหายทั้งเจ็ดไม่ได้รับเงินกู้ แต่ต้องทำงานบนเรือประมงเพื่อหักใช้หนี้ เป็นการข่มขืนใจและทำให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เป็นการแสวงหาประโยชน์จากการทำงานของผู้เสียหายทั้งเจ็ดดังที่โจทก์อ้างในฎีกาก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงดังเช่นที่ปรากฏในทางพิจารณา จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้กล่าวในฟ้องและไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ จึงไม่อาจลงโทษจําเลยทั้งหกตามข้อเท็จจริงนั้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ไม่จําต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ที่ว่าผู้เสียหายที่ 3 ถึงที่ 7 เบิกความแตกต่างจากที่ให้การในชั้นสอบสวนเพราะเหตุใดอีกต่อไป

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.304-306/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย - นาย ช. กับพวก

ชื่อองค์คณะ สันติชัย วัฒนวิกย์กรรม์ สุรทิน สาเรือง กิตติพงษ์ ศิริโรจน์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญา - นางธัญวรัตน์ วีรเดชกำแหง ศาลอุทธรณ์ - นางวิไลลักษณ์ อินทุภูติ

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE