คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2690/2518
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36
การขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 เป็นเรื่องที่คนอื่นยื่นคำร้องว่าเป็นเจ้าของแท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด หาใช่จำเลยในคดีเรื่องนั้นจะใช้สิทธิได้ด้วยไม่ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยและสั่งริบของกลาง จำเลยมิได้อุทธรณ์ขอให้ศาลสั่งคืนของกลางที่ถูกริบและคดีถึงที่สุดแล้วศาลก็ต้องบังคับคดีไปตามนั้น จำเลยจะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคืนของกลางหาได้ไม่
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าจำเลยได้ให้การรับสารภาพในคดีเรื่องนี้เพราะความเข้าใจผิด ความจริงจำเลยซื้อไม้สักของกลางมาโดยชอบด้วยกฎหมายจึงมิใช่ทรัพย์อันได้มาหรือมีไว้เนื่องจากการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ขอให้ศาลสั่งคืนไม้สักของกลางที่ศาลสั่งริบ
โจทก์คัดค้านว่า ศาลสั่งริบของกลางชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนของกลางที่ศาลได้สั่งริบแล้ว
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้ให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ตลอดข้อหา ไม่ประสงค์ต่อสู้คดีแต่ประการใดศาลชั้นต้นสั่งลงโทษจำเลยที่ 1 และสั่งริบไม้สักของกลาง เมื่อจำเลยที่ 1ไม่อุทธรณ์ขอให้ศาลสั่งคืนไม้สักของกลางที่ถูกริบ และคดีถึงที่สุดแล้วศาลก็ต้องบังคับคดีไปตามนั้น และการขอคืนของกลางที่ศาลได้สั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 เป็นเรื่องที่คนอื่นยื่นคำร้องว่าเป็นเจ้าของแท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิด หาใช่จำเลยในคดีเรื่องนั้นจะใช้สิทธิได้ด้วยไม่
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการกรมอัยการ จำเลย - นางบัว คาสมบูรณ์ ที่ 1 นายกวง แซ่หู่ ที่ 2 จำเลย - นายสมบุญ เคลือบมาก ที่ 3
ชื่อองค์คณะ ประพจน์ ถิระวัฒน์ สมคิด มงคลชาติ ไพโรจน์ ไวกาสี
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan