คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2523
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91, 147
เจ้าพนักงานยักยอกเงิน เป็นความผิดสำเร็จแต่ละวันที่ไม่นำเงินส่งตามหน้าที่เป็นรายกระทง ไม่ใช่รวมกันทุกวันเป็นความผิดกรรมเดียว
คำสั่งนายอำเภอให้เจ้าพนักงานรับเงินรวบรวมส่งต่อไปตามระเบียบย่อมมีหน้าที่รักษาเงินในระหว่างนั้น ชั่วเวลาสั้นหรือยาวก็ตามการรับเงินรวบรวมส่งต่อไปเป็นการจัดการทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 จำคุกกระทงละ 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ จำคุกตามมาตรา 157 รวม 41 กระทง ๆ ละ 5 ปี เป็น 205 ปี ลดโทษจำเลยที่ 1 คงจำคุก102 ปี 6 เดือน ให้ใช้ทรัพย์ 146,455 บาท จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ฎีกาข้อ 2 จำเลยที่ 2 โต้เถียงว่าตามคำสั่งของนายอำเภอย่านตาขาวนั้น จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่รักษาเงิน มีหน้าที่เพียงรวบรวมเงินที่มีผู้นำส่งส่งต่อไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังเท่านั้นการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 1 นำเงินมามอบให้จำเลยที่ 2 แล้วก่อนที่จำเลยที่ 2 จะรวบรวมนำส่งต่อไปตามระเบียบนั้น จำเลยที่ 2 ย่อมต้องมีหน้าที่รักษาเงินนั้นด้วยในตัวชั่วเวลาอันสั้นหรือยาวก็ตาม อีกทั้งการรับเงินแล้วรวบรวมนำส่งต่อไปเช่นนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการจัดการทรัพย์ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 147 อยู่แล้ว จำเลยที่ 2 จะโต้เถียงว่าการกระทำของจำเลยที่ 2ไม่ครบองค์ประกอบความผิดของมาตราดังกล่าวหาได้ไม่
ส่วนฎีกาข้อ 3 ที่จำเลยที่ 2 โต้เถียงว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน นั้น เห็นว่า ในข้อนี้ ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ 2ไม่นำเงินส่งพนักงานบัญชีองค์การบริหารส่วนจังหวัด เฉพาะที่มีหลักฐานปรากฏชัดถึงวันเดือนปี ก็เกินกว่า 41 วันแล้ว และวินิจฉัยว่าความผิดของจำเลยสำเร็จลงในแต่ละวันที่ได้รับเงินมาแล้วไม่นำส่ง ที่ศาลชั้นต้นถือว่าจำเลยกระทำความผิด 41 ครั้งโดยถือว่าความผิดสำเร็จเป็นรายเดือนรวม41 เดือนนั้นจึงเป็นคุณแก่จำเลยอยู่แล้ว เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงดังที่กล่าวแล้วเช่นนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจฎีกาโต้เถียงได้อีกว่า โจทก์นำสืบไม่ได้แน่นอนว่าจำเลยกระทำความผิดกี่ครั้ง กี่กรรมเมื่อใดบ้าง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาด้วยว่า การกระทำโดยการเก็บเงินมาได้แล้วไม่ส่งเป็นการกระทำเหมือนกันทุกครั้ง น่าจะถือว่าเป็นการกระทำความผิดเพียงกรรมเดียวนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อการกระทำความผิดขาดตอนสำเร็จเป็นความผิดได้ในแต่ละวันที่ได้รับเงินไว้แล้วเบียดบังเอาเป็นของตนเสีย แม้จะได้กระทำในทำนองเดียวกันซ้ำอีกหลายครั้งความผิดจึงปรากฏขึ้นก็ไม่อาจนับเอาการกระทำความผิดหลายครั้งนั้นเป็นความผิดกรรมเดียวไปได้
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา เนติบัณฑิตยสภา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - อัยการตรัง จำเลย - นายวิสิทธิ์หรือห่วง อักษรพันธ์ กับพวก
ชื่อองค์คณะ ประทีป ชุ่มวัฒนะ สมบัติ วังตาล ทวี กสิยพงศ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan