คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2536/2534
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 8 (9), 14
จำเลยเป็นหนี้โจทก์เกินกว่าห้าหมื่นบาทตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่ง ต่อมาจำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้สองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน จำเลยไม่ชำระหนี้ ต้องด้วยหลักเกณฑ์ข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวเมื่อจำเลยนำสืบไม่ได้ว่า จำเลยมีรายได้ตามที่อ้างและเป็นเจ้าหนี้บุคคลอื่นอยู่หลายราย ซึ่งจำเลยอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด และรูปคดีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 จึงต้องพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด.
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยและนายบุญแรงให้ร่วมรับผิดตามสัญญากู้ และค้ำประกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยกับนายบุญแรงชำระเงินจำนวน348,750 บาท แก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเป็นงวดเดือนหลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยจะต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมพร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด รวมเป็นเงิน 392,343 บาท โจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันและจำเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยเป็นผู้ มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายต่อไป
จำเลยให้การว่า จำเลยมีรายได้จากการประกอบอาชีพไม่ต่ำกว่าเดือนละ 35,000 บาท นอกจากนี้จำเลยยังเป็นที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทหลายแห่งและมีเงินเดือนประจำ จำเลยจึงสามารถที่จะชำระหนี้ให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยและนายบุญแรงเป็นหนี้โจทก์เป็นเงิน 392,343 บาท ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่1664/2530 ของศาลชั้นต้นและจำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้วสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.6 แล้วจำเลยไม่ชำระหนี้ ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่สันนิษฐานว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2583 มาตรา 8(9) แล้ว คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ทั้งหมดและมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหรือไม่
ในปัญหาดังกล่าว จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาเป็นข้อแรกว่าจำเลยประกอบอาชีพทนายความเป็นเจ้าของและหัวหน้าสำนักงาน มีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 35,000 บาท มีทรัพย์สินที่ใช้ในสำนักงานมีรถยนต์ บ้านและที่ดิน ทั้งเข้าหุ้น กับบุคคลอื่นประกอบกิจการค้าและออกทุนซื้อวัวมาเลี้ยงที่จังหวัดลำปาง 50 ตัว ซึ่งในข้อนี้จำเลยมีคำเบิกความของตนเองกับนางบุญแรงเป็นพยาน แต่จำเลยไม่มีเอกสารทางบัญชีที่แสดงถึงรายได้ของสำนักงานและจำนวนเงินที่จำเลยได้รับจากสำนักงานในแต่ละเดือนมาแสดงเป็นหลักฐาน ทรัพย์สินในสำนักงานจำเลยก็ไม่เปิดเผยว่า มีอะไรบ้างและราคาเท่าไร ส่วนรถยนต์จำเลยอ้างว่ามีอยู่ 3 คัน แต่ก็รับว่าเป็นรถของลูกหนี้มอบไว้เป็นประกันหนี้ 1 คัน เป็นรถที่เช่าซื้อมา 2 คัน ซึ่งคันหนึ่งยังอยู่ ในระหว่างผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ อีกคันไม่ปรากฏว่าชำระค่าเช่าซื้อครบหรือยัง จำเลยไม่มีหลักฐานการเช่าซื้อหรือหลักฐานแสดงว่าเป็นเจ้าของมาเสนอต่อศาลแต่อย่างใด ส่วนบ้านนั้นจำเลยอ้างว่ามีอยู่ ที่จังหวัดมหาสารคามและกรุงเทพมหานคร โดยมารดาทำพินัยกรรมยกให้ และได้มาตามสัญญาจะซื้อขายร่วมกับพี่ชายตามลำดับแต่ก็ไม่มีหนังสือพินัยกรรมและสัญญาจะซื้อขามาแสดงเป็นหลักฐานส่วนที่ดินจำเลยอ้างว่า มีอยู่ ที่อำเภอลำลูกกา และกรุงเทพมหานครแต่ก็ไม่มีหนังสือสำคัญมาแสดงเช่นเดียวกัน ที่อ้างว่ามีการเข้าหุ้นกับบุคคลอื่นประกอบกิจการค้าและออกทุนซื้อวัวมาเลี้ยงที่จังหวัดลำปาง 50 ตัว ก็ทำนองเดียวกัน หามีหลักฐานอื่นใดมาประกอบคำเบิกความใหม่ จึงเป็นการเบิกความลอย ๆ โจทก์มีตัวโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความยอมรับเพียงว่า จำเลยมีอาชีพเป็นทนายความและเป็นหัวหน้าสำนักงานเท่านั้น ส่วนเรื่องทรัพย์สินหรือรายได้ของจำเลยนั้น โจทก์เบิกความว่าโจทก์เข้าใจว่าจำเลยคงจะมีรายได้แต่ละเดือนเป็นจำนวนมาก แต่คิดว่าคงจะไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้โจทก์ ได้ เพราะหากสามารถชำระหนี้โจทก์ได้ ก็คงจะชำระให้นานแล้วดังนี้จะถือว่าโจทก์นำสืบเจือสมกับคำพยานจำเลยหรือจำเลยนำสืบสอดคล้องกับคำพยานโจทก์ไม่ได้ คำพยานจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อยรับฟังไม่ได้ดังที่อ้าง
จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า จำเลยเป็นที่ปรึกษากฎหมายสำนักงานกฎหมายดุษฎีบัณฑิตทนายความ และภาษีอากร ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนเดือนละ 8,500 บาท ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.1 เป็นที่ปรึกษากฎหมายห้างหุ้นส่วนจำกัด ชุมสาย แอสโซซิเอท (1986)กับห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.อี.คอนสตรัคชั่น แอนด์ เอ็นจิเนียริ่งได้รับค่าจ้างเดือนละ 5,000 บาท และ 7,000 บาท ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.2, ล.3 ตามลำดับ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าพยานจำเลยในข้อที่อ้างว่าจำเลยมีรายได้จากสำนักงานกฎหมายดุษฎีบัณฑิตทนายความและภาษีอากร นั้น นอกจากตัวจำเลยเองแล้วมีนายชาตรี สีมาโคตรหัวหน้าสำนักงานกฎหมายดุษฎีบัณฑิตทนายความและภาษีอากรมาเบิกความประกอบว่าจำเลยทำงานที่สำนักงานของพยาน ได้เงินเดือนซึ่งพยานเป็นผู้จ่ายให้เดือนละ 8,500 บาท ปรากฏตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.1 เห็นว่านายชาตรี เป็นพี่ชายของจำเลย เอกสารหมาย ล.1ก็ออกโดยนายชาตรีทั้งไม่ได้มีเอกสารหลักฐานการรับเงินเดือนหรือค่าจ้างของจำเลยมาแสดงประกอบแต่อย่างใด จึงไม่น่าเชื่อ ส่วนข้อที่อ้างว่าจำเลยเป็นที่ปรึกษากฎหมายมีรายได้จากห้างหุ้นส่วนจำกัดอีก 2 แห่งนั้น มีจำเลยมาเบิกความปากเดียว หุ้นส่วนผู้จัดการผู้ออกหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.2, ล.3 หาได้มาเบิกความยืนยันไม่และไม่มีเอกสารหลักฐานการรับเงินเดือนหรือค่าจ้างของจำเลยมาแสดงเช่นเดียวกัน นอกจากนี้หลักฐานอย่างอื่นที่จะแสดงถึงฐานะทางการเงินของจำเลยเช่นใบเสร็จรับเงินแสดงจำนวนภาษีเงินได้ที่เสียไปในแต่ละปีเป็นต้น ก็ไม่มีมาแสดงเป็นหลักฐาน พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะให้เชื่อถือได้ว่าจำเลยเป็นที่ปรึกษากฎหมายและมีรายได้จากบุคคลที่จำเลยกล่าวอ้าง
จำเลยฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า จำเลยเป็นเจ้าหนี้บุคคลอื่นอยู่ หลายราย เฉพาะรายนายสมนิตย์ บรรจงใหม่ จำเลยเป็นเจ้าหนี้ตามเช็คเอกสารหมาย ล.4 เป็นจำนวน 300,000 บาท จำเลยได้ร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาไว้แล้ว หากนายสมนิตย์ ผู้ออกเช็คผ่อนชำระหนี้ให้จำเลยก็ไม่ต้องฟ้องคดีแพ่ง จึงต้องถือว่าจำเลยยังมีสิทธิเรียกร้องอยู่ นอกจากนี้จำเลยก็มิได้มีเจ้าหนี้รายใดอีกนอกจากในคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามที่จำเลยนำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นเจ้าหนี้บุคคลอื่นใดนอกจากนายสมนิตย์ และสำหรับเช็คเอกสารหมาย ล.4 ที่ นายสมนิตย์ ออกให้แก่จำเลยนั้น เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว จำเลยเพียงแต่ร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี ซึ่งก็ไม่แน่ว่าได้ตัวผู้ออกเช็คมาดำเนินคดีและไม่แน่ว่าผู้ออกเช็คจะยอมผ่อนชำระหนี้ตามเช็คให้จำเลยหรือไม่ส่วนการดำเนินคดีแพ่งนั้นได้ความตามคำเบิกความของจำเลยตอนตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยไม่ได้ฟ้องนายสมนิตย์ เป็นคดีแพ่งเพื่อให้ชำระหนี้ตามเช็ค ซึ่งเช็คฉบับดังกล่าวนั้นระบุวันที่สั่งจ่ายเป็นวันที่ 29 กรกฎาคม 2530 ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินวันที่ 3 สิงหาคม 2530 จากวันถึงกำหนดจ่ายเงินตามเช็ค ถึงวันที่จำเลยเบิกความคือวันที่ 28 พฤศจิกายน 2531 เป็นเวลาเกิน 1 ปีเช็คฉบับดังกล่าวจึงขาดอายุความแล้ว ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 ดังนี้ แม้จำเลยจะเป็นเจ้าหนี้ของนายสมนิตย์ ตามเช็คเอกสารหมาย ล.4 ก็ไม่แน่ว่าจำเลยจะได้รับเงินตามเช็คนั้นมาชำระหนี้โจทก์ได้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยมิได้มีเจ้าหนี้รายใดอีกนอกจากในคดีนี้นั้น ตามคำเบิกความของนายบุญแรงพยานจำเลยและคำเบิกความของจำเลยเองประกอบกันฟังได้ว่านอกจากจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้แล้ว จำเลยยังได้สลักหลังเช็คจำนวน 3 ฉบับรวมเป็นเงิน 600,000 บาท ให้แก่นางมาลีน มหาวงศ์ พี่สาวโจทก์กับได้ค้ำประกันหนี้ที่ นายบุญแรงกู้ยืมมาจากนายประวิทย์เปรื่องอักษร และนายอุทัย มหาวงศ์ จำนวน 300,000 บาท และ150,000 บาท ตามลำดับ ซึ่งหนี้ทั้งหมดยังไม่มีการชำระหนี้แต่อย่างใด คงมีเพียงหนี้ที่นายอุทัย เป็นเจ้าหนี้เท่านั้นที่นายบุญแรงได้ชำระเฉพาะดอกเบี้ยเป็นบางส่วน ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่มีเจ้าหนี้รายอื่นนอกจากในคดีนี้ จึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงสรุปแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด และรูปคดีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางสาว นิรมล เปรื่อง อักษร จำเลย - นาย ประสาท สี มา โคตร
ชื่อองค์คณะ สวิน อักขรายุธ จรัส อุดมวรชาติ ประจักษ์ พุทธิสมบัติ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan