สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2519/2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2519/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148, 240 (3) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31

คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าบำเหน็จ ดังนี้ โจทก์มิได้ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยเหตุและมิได้มีคำขอบังคับจำเลยเป็นอย่างเดียวกับคดีก่อนทั้งโจทก์ฟ้องคดีก่อนก็เพียงขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน โจทก์จึงไม่อาจมีคำขอให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จด้วยได้ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จและดอกเบี้ยจากจำเลยหรือไม่นั้น เมื่อศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาโจทก์ถูกควบคุมตัวในข้อหาค้ายาเสพติดให้โทษซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยปลดโจทก์ออกจากงานแล้วพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องโจทก์ โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางว่าการปลดโจทก์ออกจากงานเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม คดีถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกาพิพากษาว่า ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม แต่ไม่มีเหตุที่จะถือว่าโจทก์ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ โจทก์จึงขอรับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยจำเลยปฏิเสธ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่าการฟ้องรับเงินบำเหน็จของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำหากศาลให้จำเลยชำระเงินตามฟ้อง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย เพราะจำเลยมิได้ผิดนัดขอให้พิพากษายกฟ้อง

ในวันพิจารณา โจทก์จำเลยรับกันว่า โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2525

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานศาลพิพากษาว่าจำเลยเลิกจ้างมิใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยขอให้รับโจทก์กลับเข้าทำงาน คดีก่อนมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า คดีก่อนศาลฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จในกรณีที่จำเลยเลิกจ้างตามข้อบังคับของจำเลย ขอบังคับให้จำเลยจ่ายค่าบำเหน็จ ดังนี้ โจทก์มิได้ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยเหตุและมิได้มีคำขอให้บังคับจำเลยเป็นอย่างเดียวกับคดีก่อน ที่คดีก่อนศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้น เนื่องจากศาลเห็นว่าความผิดที่โจทก์ถูกกล่าวหาถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำความผิดร้ายแรงอันมีโทษถึงปลดออกหรือไล่ออก จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ศาลเห็นสมควรวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โดยโจทก์มิได้มีคำขอบังคับ ทั้งโจทก์ฟ้องคดีก่อนขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ไม่อาจมีคำขอให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จด้วยได้ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยได้ ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จและเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยหรือไม่ ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเพียงใด จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินบำเหน็จให้โจทก์ตามฟ้อง ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนั้น เงินบำเหน็จตามฟ้องเป็นหนี้เงิน โจทก์จำเลยรับกันว่า โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2525 จึงถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่โจทก์ทวงถาม โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224

พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 26 มกราคม 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นายสมหมาย สาตรปรุง จำเลย - บริษัทการบินไทย จำกัด

ชื่อองค์คณะ พิพัฒน์ จักรางกูร ขจร หะวานนท์ สุรัช รัตนอุดม

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE