คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2491/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1298, 1387, 1390 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ม. 1, 30, 32
ช.เจ้าของที่ดินเดิมที่ทำการจัดสรรที่ดินมีเจตนาให้ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณูปโภคแก่หมู่บ้าน อ. และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286ได้บัญญัติขึ้นโดยมีเจตนาคุ้มครองแก่ผู้ที่ซื้อที่ดินจากการจัดสรร ในการจัดสรรที่ดินของ ช.เจ้าของเดิมก็ได้ปฏิบัติเกี่ยวกับที่ดินตรงตามความหมายของคำจำกัดความประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ดังกล่าว ข้อ 1 ทุกประการ แม้ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ข้อ 30 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติต่อมาว่า "สาธารณูปโภค ซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาตเช่นถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรและให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้"จะระบุใช้บังคับแก่ผู้จัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาตก็จริง แต่หากพิจารณาประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวข้อ 32 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดทำการจัดสรรที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและได้จำหน่ายที่ดินจัดสรรไปแล้วบางส่วน หรือได้จัดให้มีสาธารณูปโภคหรือ…ไปแล้วบางส่วน…ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ เว้นแต่การอันเป็นสาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินให้อยู่ภายใต้บังคับข้อ 30 ด้วย" มาประกอบเข้าด้วยกันแล้วจะเห็นได้ว่าข้อความประโยคสุดท้ายของบทบัญญัติข้อนี้ได้ยกเว้นในเรื่องกิจการสาธารณูปโภคกับผู้จัดสรรที่ดินก่อนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับซึ่งผู้จัดสรรที่ดินไม่ต้องขออนุญาต แต่ในเรื่องสาธารณูปโภคก็ยังคงให้อยู่ภายใต้บังคับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ข้อ 30 ได้ตามที่ข้อ 32 บัญญัติไว้ ดังนี้ ที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และเป็นที่ดินที่อยู่ในหมู่บ้าน อ.ที่โจทก์ซื้อและจำเลยร่วมได้ซื้อจากจำเลยในระหว่างที่โจทก์จำเลยพิพาทกัน โดย ช.เจ้าของที่ดินเดิมที่ทำการจัดสรรที่ดินมีเจตนาให้ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณูปโภคแก่หมู่บ้าน อ.ย่อมตกเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรหมู่บ้าน อ.ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จำเลยร่วมจึงมีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนภาระจำยอมที่ดินพิพาทตามที่กฎหมายได้บังคับไว้
nan
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นายบุญชิด ชะนะภัย จำเลย - บริษัทอมรพันธุ์แลนด์ จำกัด จำเลยร่วม - บริษัทฐิติรังสี จำกัด
ชื่อองค์คณะ สุชาติ ถาวรวงษ์ สุประดิษฐ์ หุตะสิงห์ พิศาล พิริยะสถิต
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่ง - นายอาทิตย์ สินธพานนท์ ศาลอุทธรณ์ - หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์