คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 2489/2540
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 18, 21
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวรคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา18ประกอบมาตรา21วรรคสุดท้ายเจ้าของหรือผู้ครอบครองจะได้รับค่าตอบแทนเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนก็เฉพาะกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือประกอบการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนนั้นเท่านั้นโจทก์ได้ให้น.เช่าอาคารที่ต้องเวนคืนประกอบธุรกิจการค้าเปิดเป็นร้านขายอาหารและใช้เป็นที่อยู่อาศัยมาเป็นเวลานานหลายปีแล้วซึ่งแสดงว่าโจทก์หรือผู้ที่เป็นเจ้าของอาคารมิได้อยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือประกอบการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอาคารที่ต้องเวนคืนนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนค่าความเสียหายอันเนื่องจากการขาดผลประโยชน์ที่ได้จากการให้เช่าอาคารที่ต้องเวนคืนนั้นเพราะสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์อาคารทั้งสี่หลังดังกล่าวได้แก่น.ผู้เช่าแต่ฝ่ายเดียว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นผู้จัดการมรดกของคุณหญิงชัยวิชิต วิศิาฎ์ธรรมธาดา (เพ็ง ณ ป้อมเพชร์) ตามคำสั่งศาลจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารสูงสุดของจำเลยที่ 1 และเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ และแขวงสีลม เขตบางรัก และแขวงยานนาวาแขวงทุ่มหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516 เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 2354 แขวงสีลมเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร พร้อมอาคารเลขที่ 148 จำนวน 3 หลังและ 148/1 เป็นกรรมสิทธิ์ของคุณหญิงชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดาต่อมาคุณหญิงชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดาถึงแก่ความตาย ที่ดินและอาคารดังกล่าวจึงตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาท และอยู่ในอำนาจหน้าที่จัดการมรดกของโจทก์ทั้งห้า ต่อมาในปี 2516 ทางราชการได้ออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ แขวงสีลม เขตบางรักและแขวงยานนาวา แขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอน แขวงช่องนนทรีเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516 ซึ่งที่ดินและอาคารดังกล่าวได้ถูกเวนคืนด้วย ระหว่างการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ยังไม่เสร็จสิ้นได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ประกาศใช้ ดังนั้น การจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งห้าจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ต่อมาวันที่15 มีนาคม 2534 โจทก์ทั้งห้าได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์แจ้งให้โจทก์ทั้งห้าไปรับเงินค่าทดแทนอาคารเลขที่148 (หลังที่ 1 ถึงที่ 3) และ 148/1 กับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 2354 เป็นเงิน 2,513,375 บาท โจทก์ทั้งห้าเห็นว่าไม่เป็นธรรมเพราะเงินค่าทดแทนที่กำหนดให้ต่ำไปจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเป็น 5,000,000 บาทและค่าเสียหายอันเนื่องจากอาคารถูกรื้อถอนทำให้ขาดประโยชน์จากการใช้สอย 12,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 17,000,000 บาท นับแต่โจทก์ทั้งห้ายื่นอุทธรณ์ บัดนี้ครบ 60 วัน นับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้า อาคารดังกล่าวใช้อยู่อาศัยและประกอบกิจการค้าขายทำประโยชน์ตลอดมา การคำนวณต้องคำนึงด้วยว่าเงินค่าทดแทนนั้นเพียงพอที่จะจัดหาอาคารที่มีเนื้อที่ใช้สอยเหมาะสมใกล้เคียงกับสภาพของอาคารที่ถูกเวนคืนได้หรือไม่ การรื้อถอนและขนย้ายเศษวัตถุออกจากแนวเขตเวนคืนต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 300,000 บาท ราคาปานกลางของอาคารที่ถูกเวนคืนคำนวณเป็นตารางเมตรแล้วจะมีราคาไม่น้อยว่า 5,000,000บาท อาคารดังกล่าวตั้งอยู่ริมถนนสีลม อันเป็นย่านธุรกิจการค้าสามารถทำการค้าได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โจทก์ทั้งห้าสามารถให้เช่าได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 100,000 บาท หรือปีละ 1,200,000 บาทหากไม่ถูกเวนคืนโจทก์ทั้งห้าจะได้รับประโยชน์จากค่าเช่าไปเรื่อย ๆโจทก์ทั้งห้าขอคิดค่าขาดประโยชน์มีกำหนด 10 ปี เป็นเงิน 12,000,000บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 17,300,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ตามอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสินจากต้นเงิน14,786,625 บาท นับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าหน้าที่และไม่มีอำนาจหน้าที่ในการเวนคืนและมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งห้า โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และมีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงตั้งคณะกรรมการเบื้องต้นเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนขึ้น ที่ดินโฉนดเลขที่ 2354 ของโจทก์ถูกเวนคืนและโจทก์ทั้งห้าได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินไปเรียบร้อยแล้วส่วนอาคารโรงเรือนของโจทก์ทั้งห้าถูกเวนคืน 4 หลัง คือ อาคารเลขที่148 หลังที่ 1 เป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว คณะกรรมการฯ กำหนดเงินค่าทดแทน ค่ารื้อถอนและค่าขนย้ายให้ 454,451 บาท อาคารเลขที่148 หลังที่ 2 เป็นตึก 3 ชั้น กำหนดเงินค่าทดแทนให้ 620,098 บาทอาคารเลขที่ 148 หลังที่ 3 เป็นตึก 2 ชั้น กำหนดเงินค่าทดแทนให้910,728 บาท และอาคารเลขที่ 148/1 เป็นตึก 2 ชั้น กำหนดเงินค่าทดแทนให้ 528,099 บาท รวมเป็นเงิน 2,513,375 บาท การกำหนดเงินค่าทดแทน ค่ารื้อถอนอาคารดังกล่าวของโจทก์ทั้งห้า ถูกต้องเหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งห้าแล้ว เพราะการคิดราคาเงินค่าทดแทนประมาณราคาค่ารื้อถอนและค่าวัสดุตามราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของปี 2534 โดยหักค่าเสื่อมสภาพไม่เกิน10 เปอร์เซ็นต์ โจทก์ทั้งห้าไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าความเสียหายในการขาดผลประโยชน์จากการให้เช่าอาคารที่ต้องเวนคืนทั้งสี่หลังเพราะโจทก์ทั้งห้าไม่เคยให้เช่าเพื่อทำกิจการค้ามาก่อน การเรียกเอาเงินค่าทดแทนส่วนนี้เป็นการแสวงหากำไร เมื่อทรัพย์ประธานถูกเวนคืนไปย่อมทำให้ดอกผลหรือประโยชน์ใด ๆ ในการแสวงหากำไรสิ้นไปด้วย โจทก์ทั้งห้าไม่มีสิทธิได้เงินค่าทดแทนจึงเรียกดอกเบี้ยไม่ได้ และโจทก์เรียกดอกเบี้ยได้ก็ต่อเมื่อเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 คือกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลได้วินิจฉัยให้ชำระค่าทดแทนเพิ่มแล้ว กรณีของโจทก์ทั้งห้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังไม่มีคำวินิจฉัยและขณะที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์ทั้งห้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกันชำระเงิน 2,401,681 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า โดยจำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกันชำระเงิน 701,895 บาทแก่โจทก์ทั้งห้า โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ทั้ง ห้า และ จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าและของจำเลยทั้งสองในชั้นนี้ว่า จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทน ค่ารื้อถอน ค่าขนย้าย และค่าความเสียหายอันเนื่องจากการขาดผลประโยชน์ที่ได้จากอาคารที่ต้องเวนคืนทั้งสี่หลังโดยถูกต้องและเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งห้าแล้วหรือไม่ เพียงใด เกี่ยวกับเรื่องเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 18 บัญญัติว่า"เงินค่าทดแทนนั้นให้กำหนดให้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
(2) เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่รื้อถอนไม่ได้ซึ่งมีอยู่ในที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 หรือได้ปลูกสร้างขึ้นภายหลังโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
(3) ผู้เช่าที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นในที่ดินที่ต้องเวนคืน แต่การเช่านั้นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งได้ทำไว้ก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 หรือได้ทำขึ้นภายหลังโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่และการเช่านั้นยังมิได้ระงับไปในวันที่เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ได้เข้าครอบครองที่ดินโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว แต่เงินค่าทดแทนในการเช่านี้พึงกำหนดให้เฉพาะที่ผู้เช่าได้เสียหายจริงโดยเหตุที่ต้องออกจากที่ดินโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวก่อนสัญญาเช่าระงับ
(6)…" นอกจากนี้ มาตรา 21 วรรคสุดท้าย ยังบัญญัติถึงความเสียหายของเจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนไว้ว่า "ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนนั้น และบุคคลดังกล่าวได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับความเสียหายนั้นด้วย" จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองจะได้รับค่าตอบแทนเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนก็เฉพาะกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขาย หรือประกอบการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนนั้นเท่านั้น ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติได้ตามข้อนำสืบของโจทก์ทั้งห้าว่า โจทก์ทั้งห้าได้ให้นายนิกร เดชะบุญศิริพานิชย์ เช่าอาคารที่ต้องเวนคืนทั้งสี่หลังประกอบธุรกิจการค้าเปิดเป็นร้านขายอาหารและใช้เป็นที่อยู่อาศัยมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว จนกระทั่งถึงเดือนมกราคม 2536 ก็แสดงว่าโจทก์ทั้งห้าหรือผู้ที่เป็นเจ้าของอาคารทั้งสี่หลังดังกล่าวมิได้อยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือประกอบการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอาคารที่ต้องเวนคืนทั้งสี่หลังนั้นแต่อย่างใด โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนค่าความเสียหายอันเนื่องจากการขาดผลประโยชน์ที่ได้จากการให้เช่าอาคารที่ต้องเวนคืนทั้งสี่หลังนั้นจากจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย เพราะสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์อาคารทั้งสี่หลังดังกล่าวตกได้แก่นายนิกร
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา ADMIN
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางสาว นวลจันทร์ ณ ป้องเพชร์ กับพวก จำเลย - กรุงเทพมหานคร กับพวก
ชื่อองค์คณะ สุรินทร์ นาควิเชียร ถวิล อินทรักษา กนก พรรณรักษา
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan