คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2467/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 47 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 22 (1)
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา22วรรคหนึ่งคำว่าจำเลยถูกจับในท้องที่หนึ่งหมายถึงเจ้าพนักงานจับจำเลยตามข้อหาที่ถูกกล่าวหาในคดีที่จะนำมาฟ้องเท่านั้นแต่ตามบันทึกการจับกุมจำเลยกับคำร้องขออนุญาตฟ้องคดีของโจทก์ปรากฎว่าจำเลยถูกจับในความผิดฐานพยายามฆ่าและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่และความผิดฐานอื่นๆนอกเขตอำนาจศาลจังหวัดกบินทร์บุรีซึ่งมิใช่ความผิดตามที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้แต่เจ้าพนักงานตำรวจได้อายัดตัวจำเลยมาสอบสวนในคดีนี้และโจทก์ขอยื่นคำร้องขออนุญาตฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดกบินทร์บุรีดังนี้กรณีถือไม่ได้ว่าคดีนี้จำเลยถูกจับในท้องที่ซึ่งอยู่เขตอำนาจศาลจังหวัดกบินทร์บุรี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา47ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายได้แก่เรือนจำหรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัวบทบัญญัติดังกล่าวได้แยกผู้ที่ถูกจำคุกออกเป็น2กรณีต่างหากจากกันกล่าวคือถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลเป็นกรณีหนึ่งและถูกจำคุกตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นอีกกรณีหนึ่งหาใช่เป็นกรณีเดียวกันไม่เมื่อปรากฎว่าในขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดกบินทร์บุรีซึ่งเป็นศาลชั้นต้นจำเลยถูกจำคุกตามคำพิพากษาซึ่งยังไม่ถึงที่สุดอยู่ที่เรือนจำอำเภอกบินทร์บุรีดังนี้จะถือว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่เรือนจำอำเภอกบินทร์บุรีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา47ไม่ได้
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2533จำเลยได้กระทำผิดฐานลักทรัพย์ รับของโจร เหตุเกิดที่ตำบลสระพระอำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา และตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิตจังหวัดชัยภูมิ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1), (3),(7), (8), 357 และ 83 โดยยื่นคำร้องขออนุญาตฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นอ้างว่าหลังจากที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้แล้วได้หลบหนีการจับกุม และต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2536 จำเลยได้ถูกจับในข้อหาฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ปลอมและใช้เอกสารปลอม มีอาวุธปืนกระสุนปืนไว้ในครอบครองและพกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร กับมีเครื่องวิทยุโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตในท้องที่ตำบลสระแก้ว อำเภอสระแก้วจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งโจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไปแล้วตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2646/2537 ปัจจุบันจำเลยต้องโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำอำเภอกบินทร์บุรี ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า จำเลยมิได้มีที่อยู่หรือถูกจับในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ในยกคำร้องและไม่ประทับฟ้องของโจทก์
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่าการที่เจ้าพนักงานตำรวจอายัดตัวจำเลยในท้องที่ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น(ศาลจังหวัดกบินทร์บุรี) ในความผิดฐานลักทรัพย์รับของโจร ซึ่งจำเลยได้กระทำลงในที่ท้องที่อื่นจะถือว่าจำเลยถูกจับในท้องที่หนึ่งตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22(1) อันทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยคดีนี้ในข้อหาฐานลักทรัพย์รับของโจรต่อศาลชั้นต้นหรือไม่ ตามคำฟ้องของโจทก์ได้ความว่าคดีนี้เหตุเกิดในเขตอำนาจของศาลจังหวัดนครราชสีมาและศาลจังหวัดชัยภูมิ เกี่ยวพันกันดังนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 วรรคหนึ่งโจทก์จึงชอบที่จะฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดนครราชสีมาหรือศาลจังหวัดชัยภูมิ ศาลใดศาลหนึ่งแต่ข้อเท็จจริงปรากฎตามคำฟ้องประกอบคำร้องขออนุญาตฟ้องและเอกสารในสำนวนว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2536จำเลยถูกจับในท้องที่อำเภอสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดกบินทร์บุรี) ในข้อหาอื่นฐานพยายามฆ่า เจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมมีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรและมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย จำเลยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอำเภอกบินทร์บุรี นับตั้งแต่วันที่5 พฤศจิกายน 2536 เป็นต้นไป โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2537 ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 22 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้น แต่ถ้า(1) เมื่อจำเลยมีที่อยู่หรือถูกจับในท้องที่หนึ่ง หรือ จะชำระที่ศาลซึ่งท้องที่นั้น ๆ อยู่ในเขตอำนาจก็ได้" คำว่า จำเลยถูกจับในท้องที่หนึ่ง หมายถึงเจ้าพนักงานจับจำเลยตามข้อหาที่ถูกกล่าวหาในคดีที่จะนำมาฟ้องเท่านั้นแต่ตามบันทึกการจับกุมจำเลยกับคำร้องขออนุญาตฟ้องคดีของโจทก์ ปรากฎว่าจำเลยถูกจับในความผิดฐานพยายามฆ่าและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่และความผิดฐานอื่น ๆ ซึ่งมิใช่ความผิดตามที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ เจ้าพนักงานตำรวจคงจะขยายผลการกระทำผิดของจำเลยจึงได้อายัดตัวจำเลยมาสอบสวนในคดีนี้ กรณีถือไม่ได้ว่าคดีนี้จำเลยถูกจับในท้องที่ซึ่งอยู่เขตอำนาจศาลจังหวัดกบินทร์บุรี ปัญหาต่อไปมีว่าการที่จำเลยต้องโทษจำคุกอยู่ในอำเภอกบินทร์บุรีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น(ศาลจังหวัดกบินทร์บุรี) ซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุดจะเป็นการต้องโทษจำคุกตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 47 อันจะทำให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดกบินทร์บุรี) ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22(1) หรือไม่ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 47 บัญญัติว่า "ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่ เรือนจำหรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว" บทบัญญัติดังกล่าวได้แยกผู้ที่ถูกจำคุกออกเป็น 2 กรณีต่างหากจากกัน กล่าวคือถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลเป็นกรณีหนึ่ง และถูกจำคุกตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นอีกกรณีหนึ่ง หาใช่เป็นกรณีเดียวกันไม่ เมื่อปรากฎว่าในขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องนี้ จำเลยถูกจำคุกตามคำพิพากษา แต่คำพิพากษาดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด ดังนี้จะถือว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่เรือนจำอำเภอกบินทร์บุรีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 47 ไม่ได้ คำพิพากษาฎีกาที่3103/2536 ระหว่างพนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดสีคิ้ว โจทก์นายจันทร์ ไทยนอก กับพวก จำเลย ที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดกบินทร์บุรี)
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดกบินทร์บุรี จำเลย - นาย อนันต์ คชสาร
ชื่อองค์คณะ ปรีชา เฉลิมวณิชย์ ธีระจิต ไชยาคำ ประกาศ บูรพางกูร
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan