คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2429/2564
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 7, 224 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 246, 252
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 310,870 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ก็ปรากฏว่ามีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไข ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคแรก เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านเลขที่ 199/337 ตั้งอยู่บนโฉนดเลขที่ 67472 และส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงินคงค้างค่าบ้านให้แก่โจทก์ 310,870 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยพร้อมบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 310,870 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 199/337 หมู่ที่ 1 และที่ดินโฉนดเลขที่ 67472 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 67472 ซึ่งมีบ้านเลขที่ 199/337 ปลูกสร้างอยู่ เดิมที่ดินพร้อมบ้านพิพาทดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างนายวันชัย กับจำเลย โดยมีชื่อนายวันชัยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ต่อมาจำเลยกับนายวันชัยจะหย่ากัน จำเลยตกลงกับนายวันชัยให้นายวันชัยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ โดยตกลงทำสัญญาซื้อขายกันเป็นเงิน 3,000,000 บาท โจทก์นำที่ดินพร้อมบ้านพิพาทไปเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน 3,180,206 บาท และจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นประกันการชำระหนี้ นางละออ มารดาจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ว่าเป็นหนี้โจทก์ 410,350 บาท โดยจำเลยลงชื่อเป็นพยาน เงินกู้ยืมที่โจทก์ได้รับจากธนาคารเมื่อหักชำระหนี้ค่าบ้านที่ค้างชำระต่อธนาคารเดิม ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ และจดทะเบียนจำนองตลอดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และหักชำระหนี้ที่จำเลยกับนางละออมารดาจำเลยเป็นหนี้โจทก์แล้ว โจทก์มอบคืนให้แก่จำเลยทั้งหมด โจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงว่าจำเลยจะเป็นผู้ผ่อนชำระหนี้เงินกู้ยืมแทนโจทก์เดือนละ 24,900 บาท และเมื่อจำเลยผ่อนชำระครบถ้วนแล้วโจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาทคืนแก่จำเลย จำเลยผ่อนชำระเงินยืมคืนโจทก์ตรงตามกำหนดเพียงงวดเดียวคืองวดแรก หลังจากนั้นชำระไม่ตรงกำหนดรวมเป็นเงินที่ชำระ 95,000 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทระหว่างโจทก์กับนายวันชัยและจำเลยเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวงของโจทก์กับจำเลยหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทกับนายวันชัยสืบเนื่องจากนางละออมารดาจำเลยและจำเลยมีหนี้ค้างชำระแก่โจทก์ เมื่อโจทก์กู้ยืมเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) แล้ว ธนาคารได้จ่ายเงินส่วนหนึ่งที่ค้างชำระให้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ผู้รับจำนองเดิม ส่วนอีกจำนวนหนึ่งได้จ่ายให้แก่นายวันชัย ซึ่งเท่ากับว่าโจทก์ต้องตกเป็นลูกหนี้รับผิดชำระหนี้ให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ตามสัญญา และมีผลเท่ากับนายวันชัยได้รับเงินราคาขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทไปเต็มจำนวนครบถ้วนแล้ว โดยส่วนหนึ่งเป็นเงินที่นำไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ ส่วนที่เหลือก็ได้นำไปชำระหนี้ที่นางละออและจำเลยค้างชำระแก่โจทก์ และอีกจำนวน 180,000 บาทเศษ โจทก์นำสืบว่าจำเลยได้รับจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์แล้ว ซึ่งจำเลยเบิกความตอบทนายความโจทก์ถามค้านก็รับในเรื่องนี้ ถึงแม้การที่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านพิพาทโดยมีข้อตกลงว่าให้จำเลยผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ตามจำนวนเงินที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หักจากบัญชีธนาคารของโจทก์ ก็เป็นไปตามข้อตกลงที่ให้จำเลยอยู่อาศัยในที่ดินพร้อมบ้านพิพาทได้ และเมื่อมีการผ่อนชำระเงินให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ครบถ้วนแล้ว โจทก์ก็จะโอนกรรมสิทธิ์คืนให้แก่จำเลย ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงโดยจำเลยผ่อนชำระเงินให้แก่โจทก์ตามกำหนดแล้วโจทก์ก็โอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทคืนให้แก่จำเลยก็เป็นไปตามเงื่อนไขข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายที่จะต้องมีการทำสัญญาซื้อขายกันอีก เห็นได้ว่าการที่โจทก์ทำสัญญากู้เงินโดยนำที่ดินพร้อมบ้านพิพาทไปจำนองแก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ โจทก์ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่ธนาคารจนครบถ้วนตามสัญญา ส่วนนายวันชัยและจำเลยหาต้องรับผิดชอบใด ๆ ต่อธนาคารตามกฎหมายไม่ ดังนี้ย่อมแสดงว่านายวันชัยและจำเลยมีเจตนาขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์จริง เพียงแต่มีข้อตกลงให้จำเลยผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารแทนโจทก์จนครบถ้วนแล้วโจทก์จะโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทคืนแก่จำเลย ดังนั้น สัญญาซื้อขายดังกล่าวระหว่างโจทก์กับนายวันชัยและจำเลยได้ทำขึ้นโดยมีเจตนาที่แท้จริง เพียงแต่มีเงื่อนไขในการโอนกลับคืนอันถือเป็นข้อตกลงที่บังคับได้ หาใช่เป็นการที่นายวันชัยและจำเลยทำสัญญาขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์กู้เงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) แทนจำเลยเท่านั้นไม่ การซื้อขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการแสดงเจตนาลวง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยไม่ได้ผ่อนชำระหนี้แทนโจทก์และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ประสงค์ให้จำเลยและบริวารอยู่ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาทอีกต่อไป โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในส่วนที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 310,870 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นั้น แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ก็ปรากฏว่ามีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคแรก เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 310,870 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.245/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง พ. จำเลย - นางสาว ช.
ชื่อองค์คณะ สุนทร เฟื่องวิวัฒน์ สมพงษ์ เหมวิมล ปวีณณา ศรีวงษ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดนครสวรรค์ - นางสาวนวณี กอศรีพร ศาลอุทธรณ์ภาค 6 - นายศุภกิจ บุญพ้นทุกข์