สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2389/2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2389/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 171, 1356, 1600, 1697

หลักฐานที่เจ้ามรดกทำถึงผู้จัดการธนาคารขอเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงชื่อบัญชีและตัวอย่างลายมือชื่อในบัญชีที่เจ้ามรดกฝากเงินไว้จากส.เป็นส.หรือจำเลยที่2ซึ่งหมายความว่าคนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวได้สำหรับบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์และสำหรับบัญชีเงินฝากประเภทประจำและในทางปฏิบัติผู้ที่มีอำนาจในการเบิกเงินจากบัญชีได้จะเป็นเจ้าของบัญชีร่วมกันและตามเอกสารซึ่งเป็นคำสั่งและสัญญาของผู้ฝากเงินที่เจ้ามรดกและจำเลยที่2ได้เปิดบัญชีร่วมกันมีข้อความระบุว่าตามที่ส.กับจำเลยที่2ได้เปิดบัญชีเงินฝากประจำออมทรัพย์กระแสรายวันและอื่นๆไว้กับธนาคารข้าพเจ้าได้ตกลงกับธนาคารในการเบิกจ่ายเงินข้าพเจ้าทั้งสองคนหรือคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ลงนามขอถอนเงินขอรับเงินหรือสั่งจ่ายเงินโดยใช้คำว่าส.หรือจำเลยที่2นั้นข้าพเจ้าขอให้คำสั่งและสัญญาต่อธนาคารว่าถ้าข้าพเจ้าคนใดคนหนึ่งถึงแก่กรรมขอยกเงินฝากส่วนของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ฝากที่ยังมีชีวิตอยู่และให้ผู้ที่มีชีวิตอยู่มีสิทธิที่จะฝากถอนหรือติดต่อกับธนาคารได้ต่อไปจึงฟังได้ว่าการที่เจ้ามรดกใส่ชื่อจำเลยที่2เป็นเจ้าของบัญชีร่วมกับเจ้ามรดกนั้นมีเจตนาให้จำเลยที่2ร่วมเป็นเจ้าของเงินของเจ้ามรดกที่มีในบัญชีนั้นๆด้วยแต่เนื่องจากไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าเจ้ามรดกต้องการให้จำเลยที่2มีส่วนเป็นเจ้าของร่วมเป็นจำนวนเท่าใดจึงต้องสันนิษฐานว่าเจ้ามรดกและจำเลยที่2มีส่วนเป็นเจ้าของเงินในบัญชีคนละครึ่ง ข้อความตามที่ปรากฎในคำสั่งและสัญญาของผู้ฝากเงินทั้งเจ้ามรดกและจำเลยที่2ต่างแจ้งเจตนาต่อธนาคารว่าต่างประสงค์จะยกเงินฝากในส่วนของแต่ละคนให้อีกฝ่ายหนึ่งถ้าตนถึงแก่กรรมก่อนอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของแต่ละคนจึงมีลักษณะเป็นพินัยกรรมเมื่อมีการลงวันเดือนปีที่ทำผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกันและพยานทั้งสองคนนั้นลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นจึงเป็นพินัยกรรมที่ทำถูกต้องตามแบบในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1656วรรคหนึ่งย่อมมีผลบังคับได้ตามกฎหมายหากเจ้ามรดกถึงแก่กรรมเงินสดตามบัญชีเงินฝากในส่วนของเจ้ามรดกย่อมตกได้แก่จำเลยที่2แต่ต่อมาเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมฉบับพิพาทขึ้นอีกฉบับหนึ่งตามเอกสารหมายจ.6ยกทรัพย์สมบัติที่เป็นเงินจำนวน1,000,000บาทแก่โจทก์โดยให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินสดจากบัญชีของเจ้ามรดกเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้วจึงเห็นได้ว่าพินัยกรรมฉบับแรกดังกล่าวขัดกับพินัยกรรมตามเอกสารหมายจ.6ในข้อที่ว่าจำเลยที่2จะเป็นผู้ได้รับเงินในบัญชีเงินฝากส่วนที่เป็นมรดกทั้งหมดหรือจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจะต้องแบ่งเงินในบัญชีดังกล่าวส่วนที่เป็นมรดกของเจ้ามรดกแก่โจทก์เป็นจำนวน1,000,000บาทตามพินัยกรรมเอกสารหมายจ.6ซึ่งทำขึ้นภายหลังจึงต้องถือว่าพินัยกรรมฉบับแรกเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมตามเอกสารหมายจ.6ในส่วนที่มีข้อความขัดกันคือเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับเงินจำนวน1,000,000บาทที่จะต้องตกได้แก่โจทก์เท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1697จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของส.เจ้ามรดกต้องแบ่งมรดกของเจ้ามรดกเป็นเงินสดจากบัญชีเงินฝากแก่โจทก์จำนวน1,000,000บาท

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 11 เมษายน 2533 นางสาวสุคนธ์วิมลโลหการ เจ้ามรดก ได้ทำพินัยกรรมโดยมีข้อความในพินัยกรรมระบุว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 79400 ให้ขายนำเงินเข้าสมทบกองทุน"สุคนธ์ วิมลโลหการ" ฝากธนาคารเพื่อนำดอกผลทำบุญ ถ้าจำเป็นจะต้องใช้ต้นเงินก็ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้จัดการกองทุนร่วมจะเห็นสมควร เงินสด เงินฝากประจำ พันธบัตรหรือตั๋วสัญญาใช้เงินในนามของเจ้ามรดกตลอดจนรายได้อื่นใดที่เกิดขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรมให้สมทบเข้ากองทุนดังกล่าวทั้งหมด บัญชีอื่นที่เจ้ามรดกไม่ได้เป็นเจ้าของบัญชี แต่มีชื่อร่วมบัญชี เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมลงให้เป็นสิทธิโดยชอบธรรมแก่เจ้าของบัญชีนั้น และระบุให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ต่อมาวันที่ 3 กรกฎาคม 2533เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมอีกฉบับหนึ่งยกทรัพย์สินที่เป็นเงินสดจำนวน 1,000,000 บาท เพื่อนำไปใช้ทำบุญให้เจ้ามรดก และให้ใช้รักษาตัวยามเจ็บไข้ โดยห้ามมิให้เล่นการพนันให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจากบัญชีของเจ้ามรดก ต่อมาวันที่ 25 กันยายน 2533เจ้ามรดกถึงแก่กรรม ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม เจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกส่วนหนึ่งคือเงินในบัญชีเงินฝากประจำที่ธนาคารทหารไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ และที่ธนาคารไทยทนุ จำกัด สาขาราชประสงค์ เป็นเงิน 1,100,000 บาทและ 3,970,000 บาท ตามลำดับพินัยกรรมทั้งสองฉบับขับกันในเรื่องเงินสดและเงินฝากประจำจำนวน 1,000,000 บาท จึงถือว่าพินัยกรรมฉบับแรกเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง เฉพาะในส่วนข้อความที่ขัดกันดังกล่าว ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ถึงแก่กรรมตามพินัยกรรมฉบับหลังในเงินจำนวน 1,000,000 บาทโจทก์ทวงถามในจำเลยทั้งสองแบ่งมรดกจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกคือเงินสด 1,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 กันยายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมแบ่งมรดกดังกล่าวให้โจทก์มีสิทธิยึดทรัพย์มรดกของนางสาวสุคนธ์ วิมลโลหการ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยทั้งสองให้การว่า เจ้ามรดกทำพินัยกรรมฉบับเดียวเอกสารที่โจทก์อ้างเป็นเอกสารปลอม หากเป็นพินัยกรรมจริงทรัพย์มรดกไม่มีเงิน 1,000,000 บาท เหลืออยู่ ข้อกำหนดตามพินัยกรรมจึงไม่อาจบังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1696ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวสุคนธ์ วิมลโลหการ ผู้ถึงแก่กรรม แบ่งทรัพย์มรดกเฉพาะที่เป็นเงินสดจากบัญชีเงินฝากของกองมรดกหรือของผู้ถึงแก่กรรมตามพินัยกรรมฉบับที่สามจำนวน 1,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2534จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่านางสาวสุคนธ์ วิมลโลหการ เจ้ามรดก มีเงินฝากที่ธนาคารไทยทนุจำกัด สาขาราชประสงค์ จำนวน 2 บัญชี บัญชีแรกตามเอกสารหมายจ.11 และบัญชีที่สองตามเอกสารหมาย จ.12 ครั้นวันที่ 14 มีนาคม 2533เจ้ามรดกเพิ่มชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจสั่งเบิกถอนในบัญชีเงินฝากทั้งสองบัญชีมีผลทำให้เจ้ามรดกหรือจำเลยที่ 2 คนใดคนหนึ่งต่างมีอำนาจเบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวได้ ตามเอกสารหมาย จ.13และ จ.14 ในวันเดียวกันนั้นเอง เจ้ามรดกและจำเลยที่ 2 ทำหนังสือไว้ต่อธนาคารว่า ถ้าเจ้ามรดกหรือจำเลยที่ 2 คนใดคนหนึ่งถึงแก่กรรมไปก่อนก็ขอยกเงินฝากส่วนของตนให้แก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ตามเอกสารหมาย จ.15 ต่อมาวันที่ 11 เมษายน 2533 เจ้ามรดกทำพินัยกรรมให้นำบรรดาเงินสด เงินฝากประจำ พันธบัตร หรือตั๋วสัญญาใช้เงินในนามของเจ้ามรดก ตลอดจนรายได้อื่นใดอันจะบังเกิดหลังจากเจ้ามรดกสิ้นชีวิตเข้าสมทบกองทุนของเจ้ามรดกทั้งหมดโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.9 ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2533เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกเงินสด 1,000,000 บาท แก่โจทก์เพื่อนำไปใช้ทำบุญให้เจ้ามรดก และใช้รักษาตัวยามเจ็บไข้โดยมิให้เล่นการพนันให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจากบัญชีของเจ้ามรดกเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้วตามเอกสารหมาย จ.6 เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2533 ตามมรณบัตรเอกสารหมาย จ.7

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า เงินในบัญชีเงินฝากที่ธนาคารไทยทนุ จำกัด สาขาราชประสงค์ ตามเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 ซึ่งมียอดเงินในวันที่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมรวม 2,572,837.61 บาท นั้นเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกหรือไม่จำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 2 มีชื่อร่วมเป็นเจ้าของบัญชีทั้งสองบัญชีนั้นด้วย ตามเอกสารหมาย จ.11 จ.12 จ.13 และ จ.14ส่วนที่เจ้ามรดกทำคำสั่งให้แก่ธนาคารว่าถ้าเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้วก็ให้เงินในบัญชีทั้งสองบัญชีดังกล่าวตกเป็นของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.25 เป็นสัญญาสองฝ่ายที่ทำกันระหว่างเจ้ามรดกและจำเลยที่ 2ถือว่าในขณะทำสัญญาจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของเงินในบัญชีดังกล่าวแล้วเงินดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นมรดกของเจ้ามรดก เห็นว่า ตามเอกสารหมายจ.13 และ จ.14 เป็นหลักฐานที่เจ้ามรดกทำถึงผู้จัดการธนาคารไทยทนุจำกัด สาขาราชประสงค์ ขอเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงชื่อบัญชีและตัวอย่างลายมือชื่อในบัญชีที่เจ้ามรดกฝากเงินไว้กับธนาคารไทยทนุจำกัด สาขาราชประสงค์ จากนางสาวสุคนธ์ วิมลโลหการเป็นนางสาวสุคนธ์ วิมลโลหการ หรือนางศุลีพร ประทิพพรกุล ซึ่งหมายความว่าคนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวได้ โดยเอกสารหมาย จ.13 สำหรับบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์และเอกสารหมาย จ.14 สำหรับบัญชีเงินฝากประเภทประจำและนางสาวสุรางค์ ตั้งสุวรรณศิริ พยานโจทก์ซึ่งเคยเป็นลูกจ้างธนาคารไทยทนุ จำกัด สาขาราชประสงค์ ในตำแหน่งผู้ช่วยสมุห์บัญชีเบิกความยืนยันว่า เจ้ามรดกซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารไทยทนุ จำกัดสาขาราชประสงค์ เคยขอเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงชื่อบัญชีและตัวอย่างลายมือชื่อตามเอกสารหมาย จ.13 และ จ.14 ในจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจเบิกเงินจากบัญชีของเจ้ามรดกได้ด้วย ทั้งนางสาวสุรางค์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่าในทางปฏิบัติผู้ที่มีอำนาจในการเบิกเงินจากบัญชีได้จะเป็นเจ้าของบัญชีร่วมกันและตามเอกสารหมาย จ.15 ซึ่งเป็นคำสั่งและสัญญาของผู้ฝากเงินที่เจ้ามรดกและจำเลยที่ 2 ได้เปิดบัญชีร่วมกันมีข้อความระบุว่า ตามที่ข้าพเจ้านางสาวสุคนธ์ วิมลโลหการ กับนางศุลีพร ประทิพพรกุล ได้เปิดบัญชีร่วมกันมีบัญชีเงินฝากประจำออมทรัพย์ กระแสรายวันและอื่น ๆไว้กับธนาคารไทยทนุ จำกัด สาขาราชประสงค์ข้าพเจ้าได้ตกลงกับธนาคารในการเบิกจ่ายเงินข้าพเจ้าทั้งสองคนหรือคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ลงนามขอถอนเงิน ขอรับเงินหรือสั่งจ่ายเงิน โดยใช้คำว่า นางสาวสุคนธ์ วิมลโลหการ หรือนางศุลีพร ประทิพพรกุลนั้น ข้าพเจ้าขอให้คำสั่งและสัญญาต่อธนาคารว่า ถ้าข้าพเจ้าคนใดคนหนึ่งถึงแก่กรรม ขอยกเงินฝากส่วนของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ฝากที่ยังมีชีวิตอยู่มีสิทธิที่จะฝาก ถอน หรือติดต่อกับธนาคารได้ต่อไป เมื่อยกเอาข้อความที่ว่า ขอยกเงินฝากส่วนของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ฝากที่ยังมีชีวิตอยู่ ไปประกอบกับพยานหลักฐานที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงฟังได้ว่าการที่เจ้ามรดกใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของบัญชีร่วมกับเจ้ามรดกนั้น มีเจตนาให้จำเลยที่ 2 ร่วมเป็นเจ้าของเงินของเจ้ามรดกที่มีในบัญชีนั้น ๆ ด้วย แต่เนื่องจากไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าเจ้ามรดกต้องการให้จำเลยที่ 2 มีส่วนเป็นเจ้าของร่วมเป็นจำนวนเท่าใด จึงต้องสันนิษฐานว่าเจ้ามรดกและจำเลยที่ 2 มีส่วนเป็นเจ้าของเงินในบัญชีตามเอกสารหมาย จ.11และ จ.12 คนละครึ่งของจำนวน 2,572,837.61 บาท เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรม เงินสดส่วนของเจ้ามรดกก็ต้องตกเป็นมรดกของเจ้ามรดกมิใช่ตกเป็นของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่เจ้ามรดกยังไม่ถึงแก่กรรม

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่าโจทก์มีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรมฉบับพิพาทของเจ้ามรดกลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2533 จำนวนเงิน 1,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.6 หรือไม่ เห็นว่าข้อความตามที่ปรากฎในคำสั่งและสัญญาของผู้ฝากเงินเอกสารหมาย จ.15 นั้น ทั้งเจ้ามรดกและจำเลยที่ 2 ต่างแจ้งเจตนาต่อธนาคารไทยทนุ จำกัด สาขาราชประสงค์ว่า ต่างประสงค์จะยกเงินฝากในส่วนของแต่ละคนให้อีกฝ่ายหนึ่งถ้าตนถึงแก่กรรมก่อนอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของแต่ละคน จึงมีลักษณะเป็นพินัยกรรมมีการลงวัน เดือน ปี ที่ทำผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน และพยานทั้งสองคนนั้นลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น จึงเป็นพินัยกรรมที่ทำถูกต้องแบบในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 วรรคหนึ่งย่อมมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมเงินสดตามบัญชีเงินฝากเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 ในส่วนของเจ้ามรดกย่อมตกได้แก่จำเลยที่ 2 ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.15 แต่ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 เจ้ามรดกระบุยกทรัพย์สมบัติที่เป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์โดยให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินสดจากบัญชีของเจ้ามรดกเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้วจึงเห็นได้ว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.15 ขัดกับพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 ในข้อที่ว่า จำเลยที่ 6 จะเป็นผู้ได้รับเงินในบัญชีตามเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 ส่วนที่เป็นมรดกของเจ้ามรดกทั้งหมดหรือจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจะต้องแบ่งเงินในบัญชีดังกล่าวส่วนที่เป็นมรดกของเจ้ามรดกแก่โจทก์เป็นจำนวน1,000,000 บาท ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 เมื่อพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.15 ทำขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2533 และพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 ทำขึ้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2533เป็นระยะเวลาภายหลังจากเอกสารหมาย จ.15 ทำขึ้นแล้ว จึงต้องถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนตามเอกสารหมาย จ.15 เป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลังตามเอกสารหมาย จ.6 เฉพาะในส่วนที่มีข้อความขัดกันคือเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับเงินจำนวน 1,000,000 บาท ที่จะต้องตกไปแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.6 เท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1697 ดังนั้นจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวสุคนธ์ วิมลโลหการ เจ้ามรดกต้องแบ่งมรดกของเจ้ามรดกเป็นเงินสดจากบัญชีเงินฝากตามเอกสารหมาย จ.11และ จ.12 แก่โจทก์ จำนวน 1,000,000 บาท

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย วิฑูรย์ วิริยะพันธุ์ จำเลย - นาย ประมุข มุทิรางกูร กับพวก

ชื่อองค์คณะ ดำรุพงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ทวีชัย เจริญบัณฑิต พิชัย เตโชพิทยากูล

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE