สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2320/2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2320/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 171, 213, 368 บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร

โจทก์และจำเลยได้ร่วมดำเนินการขนส่งเอกสารหรือพัสดุภัณฑ์ย่อยทางอากาศตามสัญญาให้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียวโดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินการในประเทศไทยสัญญานี้ตกลงให้ค่าตอบแทนตามตารางก.ว่าจำเลยมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนร้อยละ60ของรายรับตามที่ได้ออกใบรับให้แก่การขนส่งขาออกและต้องจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์ร้อยละ40ของรายรับตามที่ได้ออกใบรับนั้นทั้งจำเลยต้องดำเนินการจัดส่งสิ่งของที่โจทก์ส่งเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่คิดค่าตอบแทนสัญญาฉบับนี้ตารางก. เรื่องค่าใช้จ่ายและค่าตอบแทนกำหนดไว้ว่าโจทก์จะได้รับค่าตอบแทนอัตราร้อยละ40ของรายรับตามที่ได้ออกใบรับ(revenuesbilled)เป็นการตกลงให้โจทก์มีสิทธิจะได้รับส่วนแบ่งตามยอดรายรับตามที่ได้มีการเรียกเก็บเงินโดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยจะเก็บเงินได้น้อยกว่าใบรับหรือไม่จำเลยจึงต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ตามตัวเลขรายรับที่ได้ออกใบรับทุกรายการแม้ตามสัญญาข้อ10จะหมายถึงการเรียกเก็บเงินปลายทางซึ่งคู่สัญญาฝ่ายที่เป็นผู้ส่งของจะต้องรับผิดชอบการเรียกเก็บเงินแม้จะเรียกเก็บเงินไม่ได้ไม่ได้หมายถึงการเรียกเก็บเงินต้นทางก็ตามก็ไม่มีเหตุผลที่จะแปลสัญญาดังกล่าวไปในทางที่ว่าการคำนวณส่วนแบ่งของรายรับตามตารางก.เฉพาะกรณีเรียกเก็บเงินต้นทางเท่านั้นที่จะต้องคำนวณจากรายรับที่จำเลยเรียกเก็บได้จริงแต่กรณีเรียกเก็บเงินปลายทางจำเลยจะให้คำนวณจากรายรับที่ได้ออกใบรับแล้วโดยไม่คำนึงว่าโจทก์จะเรียกเก็บเงินได้จริงหรือไม่เพราะไม่มีข้อความใดในตารางก.ที่จะแสดงให้เห็นดังกล่าว ตามสัญญาข้อ6ระบุว่าในระหว่างอายุสัญญาคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะต้องไม่เป็นผู้ดำเนินการรับส่งของให้แก่บุคคลอื่นใดซึ่งประกอบธุรกิจขนส่งทางอากาศอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งก่อนเมื่อปรากฎว่าการขนส่งในช่วงวันที่1กรกฎาคม2533ถึงวันที่31กรกฎาคม2534ซึ่งอยู่ในช่วงอายุสัญญามีบริษัท2บริษัทรับส่งเอกสารด่วนและพัสดุภัณฑ์ย่อยจากลูกค้าในประเทศไทยไปยังต่างประเทศโดยผ่านบริษัทโจทก์ที่ประเทศสิงคโปร์ ดังนั้นการที่บริษัทโจทก์สำนักงานที่ประเทศสิงคโปร์รับส่งเอกสารด่วนและพัสดุภัณฑ์ย่อยทางอากาศจากบริษัทพ.และบริษัทอ.ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศไทยเพื่อส่งต่อไปนั้นแม้บริษัททั้งสองจะไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้าหรือชื่อทางการค้าของโจทก์ในการประกอบธุรกิจก็ตามแต่บริษัททั้งสองบริษัทดังกล่าวก็ได้อ้างอิงเครื่องหมายการค้าหรือชื่อทางการค้าของโจทก์ในการประกอบธุรกิจด้วยจึงทำให้ผู้ส่งเอกสารด่วนหรือพัสดุภัณฑ์ย่อยทางอากาศในประเทศไทยไม่จำต้องใช้บริษัทของจำเลยแม้ใช้บริการของบุคคลอื่นก็มีผลทำให้เอกสารด่วนและพัสดุภัณฑ์ย่อยของตนได้รับการขนส่งจากโจทก์จนถึงผู้รับปลายทางในต่างประเทศได้การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการดำเนินการรับส่งของให้แก่บุคคลอื่นซึ่งประกอบธุรกิจขนส่งทางอากาศอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของจำเลยต้องห้ามตามสัญญาข้อ6แล้ว ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรเรื่องใบมอบอำนาจระบุไว้ในข้อ7(ข)ว่ามอบอำนาจให้แก่บุคคลเดียวหรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียวค่าอากรแสตมป์30บาทและระบุในข้อ7(ค)ว่ามอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียวโดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันคิดตามรายตัวบุคคลคนละ30บาทใบมอบฉันทะพิพาทแม้จะเป็นการมอบอำนาจแก่บุคคลหลายคนก็ตามแต่เป็นกรณีร่วมกันกระทำการกล่าวคือส.และ/หรืออ.รวมกระทำการฟ้องร้องคดีนี้เพียงกิจการเดียวมิใช่ต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันฟ้องร้องหลายคดีใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์เช่นนี้จึงปิดอากรแสตมป์เพียง30บาทถูกต้องตามประมวลรัษฎากรข้อ7แล้ว

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการรับขนส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ต่าง ๆ ทางอากาศ โจทก์ตกลงให้จำเลยดำเนินกิจการในประเทศไทยในนามของโจทก์โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะต้องแบ่งผลประโยชน์จากรายได้ในอัตราร้อยละ 40 ให้แก่โจทก์ภายใน 60 วัน นับจากวันสิ้นงวดบัญชีของแต่ละเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2533ระหว่างสัญญาจำเลยผิดนัดชำระเงินส่วนแบ่งรวม 8 งวด เมื่อหักเงินทดรองจ่ายที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลย คงมีหนี้ที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 529,590 ดอลลาร์สหรัฐ กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของยอดหนี้ในแต่ละงวดเป็นเงิน 61,100.36 ดอลลาร์สหรัฐโจทก์ขอคิดเพียง 590,690 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 25.60 บาท เป็นเงิน 15,121,664 บาทโจทก์ทวงถามและบอกเลิกสัญญาแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยและยังคงขนส่งสินค้าหรือแสดงต่อผู้อื่นด้วยเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายต้องโฆษณาให้ลูกค้าทราบถึงเรื่องการเลิกสัญญาเป็นเงิน 96,381 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน15,218,045 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า"AIRBORNE" (แอร์บอร์น), "AIRBORNE FREIGHT" (แอร์บอร์น เฟรท),"AIRBORNE EXPRESS" (แอร์บอร์นเอ็กซ์เพรส) และให้คืนตั๋วขนส่งทางอากาศและแบบพิมพ์ต่าง ๆ ที่ปรากฎชื่อดังกล่าวให้แก่โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้องและไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติงานผิดพลาดบกพร่องของโจทก์ ทำให้ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกค้าเป็นเงิน 9,807,261.50 บาท โจทก์ยินยอมให้บุคคลอื่นดำเนินกิจการขนส่งทางอากาศในนามของโจทก์ที่ประเทศไทยซึ่งเป็นการแข่งขันกับจำเลย อันเป็นการผิดสัญญาทำให้จำเลยขาดรายได้เป็นเงิน 5,000,000 บาท นอกจากนี้ยังทำให้จำเลยเสียชื่อเสียงทางการค้า คิดเป็นเงิน 4,000,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ชดใช้เงินจำนวน 18,807,261.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยปฏิบัติงานบกพร่องในระหว่างสัญญาไม่เคยตกลงให้บุคคลอื่นดำเนินกิจการแข่งขันกับจำเลยขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 529,590 ดอลลาร์สหรัฐโดยคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มีให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่าว่าก่อนวันพิพากษา แต่ทั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยนต้องไม่เกิน 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 25.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลย อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน295,215 ดอลลาร์สหรัฐแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลย ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยได้ร่วมดำเนินการขนส่งเอกสารหรือพัสดุภัณฑ์ย่อมทางอากาศตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2533 ตามสัญญาให้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียวเอกสารหมาย จ.5 โดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินการในประเทศไทย สัญญานี้ตกลงให้ค่าตอบแทนตามตาราง ก.ว่า จำเลยมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 60 ของรายรับตามที่ได้ออกใบรับให้แก่การขนส่งขาออกและต้องจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์ร้อยละ 40 ของรายรับตามที่ได้ออกใบรับนั้น ทั้งจำเลยต้องดำเนินการจัดส่งสิ่งของที่โจทก์ส่งเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่คิดค่าตอบแทน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2534โจทก์มีหนังสือเรียกค่าตอบแทนที่จำเลยยังมิได้ชำระให้รวม 8 งวดต่อมาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2534 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาต่อกันตามหนังสือเอกสารหมาย จ.10

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า ค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับในอัตราร้อยละ 40 ของรายรับตามที่ได้ออกใบรับนั้นต้องหักเงินที่จำเลยเก็บไม่ได้ออกหรือไม่ นายบรู๊ซ เกราท์รองประธานกรรมการโจทก์และนายแอล บามรักเกอร์ สมุห์บัญชีโจทก์เบิกความว่า ค่าตอบแทนอัตราร้อยละ 40 คิดจากรายรับตามใบรับโดยไม่หักค่าใช้จ่าย หากจำเลยออกใบรับแล้วเก็บเงินไม่ได้ก็ยังมีหน้าที่ส่งค่าตอบแทนตามจำนวนเงินในใบรับ เหตุที่คิดค่าตอบแทนอัตราส่วนเช่นนี้เพราะโจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่เป็นชื่อของโจทก์ โจทก์ต้องติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์โฟกัสให้แก่จำเลยเพื่อใช้ติดต่อสื่อสารด้านขนส่งเชื่อมกับเครือข่ายต่าง ๆ ทั่วโลกนับตั้งแต่จำเลยทำสัญญาร่วมกิจกรรมกับโจทก์ จำเลยไม่ส่งค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2533 ถึงเดือนมิถุนายน 2534 รวม1,357,595.49 ดอลลาร์สหรัฐ รายละเอียดตามรายการรับเงินเอกสารหมายจ.38 และหนังสือขอให้ชำระหนี้เอกสารหมาย จ.23 เมื่อหักค่าใช้จ่ายที่จำเลยทดรองไปก่อน และเงินที่โจทก์จะให้จำเลยทางธุรกิจแล้วจำเลยต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ 529,590 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนนายอเล็กซานเดอร์ เปอร์เคิลส์ มาฟโร จูเนียร์ กรรมการจำเลยเบิกความว่า ตามรายการรับเงินเอกสารหมาย จ.38 จำเลยเรียกเก็บเงินได้น้อยกว่ารายการเพราะเมื่อออกใบรับแล้ว ลูกค้าบางรายไม่ยอมชำระเงิน บางรายขอส่วนลด นอกจากนี้จำเลยมอบให้โจทก์ไปเก็บเงินค่าส่งปลายทาง โจทก์เก็บเงินไม่ได้รวม 6,860,246.65 บาท โจทก์ยังไม่นำไปหักออก เห็นว่าจากคำเบิกความของนายบรู๊ซและนายแอลประกอบกับสัญญาให้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียวเอกสารหมาย จ.5 แล้ว สัญญาฉบับนี้ตาราง ก.เรื่องค่าใช้จ่ายและค่าตอบแทนกำหนดไว้ว่า โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนอัตราร้อยละ 40 ของรายรับตามที่ได้ออกใบรับ(revenues billed) นั้น เป็นการตกลงให้โจทก์มีสิทธิจะได้รับส่วนแบ่งตามยอดรายรับตามที่ได้มีการเรียกเก็บเงินโดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยจะเก็บเงินได้น้อยกว่าใบรับหรือไม่ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ตาม ตัวเลขรายรับที่ได้ออกใบรับทุกรายการแม้ตามสัญญาให้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว เอกสารหมาย จ.5 ข้อ 10จะหมายถึงการเรียกเก็บเงินปลายทางซึ่งคู่สัญญาฝ่ายที่เป็นผู้ส่งของจะต้องรับผิดชอบการเรียกเก็บเงินแม้จะเรียกเก็บเงินไม่ได้ ไม่ได้หมายถึงการเรียกเก็บเงินต้นทางก็ตาม ก็ไม่มีเหตุผลที่จะแปลสัญญาดังกล่าวไปในทางที่ว่าการคำนวณส่วนแบ่งของรายรับตามตาราง ก.เฉพาะกรณีเรียกเก็บเงินต้นทางเท่านั้นที่จะต้องคำนวณจากรายรับที่จำเลยเรียกเก็บได้จริง แต่กรณีเรียกเก็บเงินปลายทาง จำเลยจะให้คำนวณจากรายรับที่ได้ออกใบรับแล้วโดยไม่คำนึงว่าโจทก์จะเรียกเก็บเงินได้จริงหรือไม่ อีกทั้งไม่มีข้อความใดในตาราง ก. ที่จะแสดงให้เห็นดังที่จำเลยกล่าวอ้าง นอกจากนี้ยังได้ความว่าหลังจากที่โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามจำนวนที่แจ้งไปในเอกสารหมายจ.22 และ จ.23 แล้ว โจทก์ยังมีหนังสือยืนยันให้ชำระหนี้อีก มิฉะนั้นจะเลิกสัญญาระหว่างกัน ตามเอกสารหมาย จ.9 จำเลยได้รับหนังสือแล้วตอบรับการเลิกสัญญา ขอให้โจทก์ไปรับเครื่องใช้คืนได้โดยจำเลยมิได้โต้แย้งเรื่องจำนวนเงินที่ทวงถามตามหนังสือของจำเลยเอกสารหมายจ.11 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้ตามที่โจทก์เรียกร้อง ส่วนที่จำเลยขอให้หักเงินส่วนที่จำเลยมอบหมายให้โจทก์ช่วยเก็บเงินปลายทางแล้วโจทก์มิได้ส่งให้เพิ่มเติมจากจำนวนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดนั้น ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า โจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้ 269,029.28 ดอลลาร์สหรัฐ ตามเอกสารหมาย ล.8 ล.11 และล.22 ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เพียง 234,375 ดอลลาร์สหรัฐจึงไม่ถูกต้อง

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า โจทก์ประพฤติผิดสัญญาโดยดำเนินการรับส่งของให้แก่บุคคลอื่นในประเทศไทยอันเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาให้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียวเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 6 ระบุว่าในระหว่างอายุสัญญา คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะต้องไม่เป็นผู้ดำเนินการรับส่งของให้แก่บุคคลอื่นใดซึ่งประกอบธุรกิจขนส่งทางอากาศอันมีลักษณะ เป็นการแข่งขันกับธุรกิจของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง โดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งก่อน ได้ความจากนายพิพัฒน์ รัตนไตรภพ กรรมการผู้จัดการบริษัทไพโอเนียร์ แอร์คาร์โก จำกัด และนายเชาวรัตน์ เชาว์ชวานิล กรรมการผู้จัดการบริษัทไอ โอ บี คูเรีย จำกัด พยานโจทก์ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่าบริษัทของพยานทั้งสองเคยรับส่งเอกสารด่วนและพัสดุภัณฑ์ย่อยจากลูกค้าในประเทศไทยไปยังต่างประเทศทางอากาศผ่านบริษัทโจทก์ที่ประเทศสิงคโปร์ นายพิพัฒน์เบิกความชัดเจนว่าเป็นการขนส่งในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม 2533 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2534ซึ่งอยู่ในช่วงอายุสัญญาให้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียวเอกสารหมายจ.5 ส่วนนายเชาวรัตน์นั้น แม้จะไม่ได้ความชัดเจนว่าเคยส่งเอกสารด่วนและพัสดุภัณฑ์ย่อยผ่านบริษัทโจทก์ที่ประเทศสิงคโปร์ในช่วงเวลาใด แต่ก็ปรากฎตามเอกสารหมาย ล.8 ว่าอยู่ในช่วงอายุสัญญาตามเอกสารหมาย จ.5 เช่นเดียวกัน แม้จำเลยจะไม่ได้แปลเอกสารหมาย ล.8ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ แต่ข้อความที่เกี่ยวข้องเป็นตัวเลขอารบิคซึ่งเป็นที่เข้าใจทั่วไป เมื่อพิเคราะห์ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองแล้ว จึงฟังได้ว่า บริษัทของพยานโจทก์ทั้งสองเคยรับส่งเอกสารด่วนและพัสดุภัณฑ์ย่อยจากลูกค้าในประเทศไทยยังต่างประเทศโดยผ่านบริษัทโจทก์ที่ประเทศสิงคโปร์ การที่บริษัทโจทก์สำนักงานที่ประเทศสิงคโปร์รับส่งเอกสารด่วนและพัสดุภัณฑ์ย่อยทางอากาศจากบริษัทไพโอเนียร์ แอร์คาร์โก จำกัด และบริษัท ไอ โอ บี คูเรียจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศไทยเพื่อส่งต่อไปนั้น แม้บริษัททั้งสองจะไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้าหรือชื่อทางการค้าของโจทก์ในการประกอบธุรกิจก็ตาม แต่บริษัททั้งสองก็ได้อ้างอิงเครื่องหมายการค้าหรือชื่อทางการค้าของโจทก์ในการประกอบธุรกิจด้วย จึงให้ผู้ส่งเอกสารด่วนหรือพัสดุภัณฑ์ย่อยทางอากาศในประเทศไทยไม่จำต้องใช้บริการของจำเลย แม้ใช้บริการของบุคคลอื่นก็มีผลทำให้เอกสารด่วนและพัสดุภัณฑ์ย่อยของตนได้รับการขนส่งจากโจทก์จนถึงผู้รับปลายทางในต่างประเทศได้ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการดำเนินการรับส่งของให้แก่บุคคลอื่นซึ่งประกอบธุรกิจขนส่งทางอากาศอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของจำเลย ต้องห้ามตามสัญญาข้อ 6 แล้ว อย่างไรก็ตาม แม้จะได้ความว่าโจทก์เรียกเก็บค่าส่งเอกสารด่วนและพัสดุภัณฑ์ย่อยจากบุคคลอื่นรวมเป็นเงิน 260,431.87 ดอลลาร์สิงคโปร์ก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยจะขาดผลประโยชน์อันจะพึงได้รับคิดเป็นจำนวนเงินดังกล่าวเพราะจำเลยยังไม่ได้หักต้นทุนในการดำเนินการออก เพื่อพิเคราะห์เทียบเคียงกับส่วนแบ่งของรายรับที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์และค่าใช้จ่ายอื่น ๆของจำเลยหากเป็นกรณีที่จำเลยรับงานส่งจากลูกค้าของจำเลยเองแล้วเห็นควรกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้จำเลยเป็นเงิน 24,000 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อรวมกับจำนวนเงินที่โจทก์จะต้องชำระคืน จำเลยในกรณีที่โจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้อีก 269,029.28 ดอลลาร์สหรัฐแล้วโจทก์จะต้องชำระเงินแก่จำเลย 293,029.28 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อหักกลบลบกับหนี้ของจำเลยที่มีกับโจทก์จำนวน 529,590 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว จำเลยต้องชำระเงิน 236,560.72 ดอลลาร์สหรัฐ แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

ประเด็นข้อสุดท้าย จำเลยฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมายจ.1 โจทก์มอบอำนาจให้นายสุธาบดี สัตตบุศย์ และ/หรือนางสาวอัจฉรา วัชราภิชาต ยื่นฟ้องคดีนี้ หนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ปิดอากรแสตมป์เพียง 50 บาท ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการมอบอำนาจให้แก่บุคคลรวม 2 คน ต้องปิดอากรแสตมป์คนละ 30 บาท รวม 60 บาทนั้นเห็นว่าตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์เรื่องใบมอบอำนาจระบุไว้ในข้อ 7 (ข)ว่า มอบอำนาจให้แก่บุคคลเดียวหรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ค่าอากรแสตมป์ 30 บาท และระบุในข้อ 7 (ค) ว่า มอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกัน คิดตามรายตัวบุคคลคนละ 30 บาท ตามใบมอบฉันทะเอกสารหมาย จ.1 แม้จะเป็นการมอบอำนาจแก่บุคคลหลายคนก็ตามแต่เป็นกรณีร่วมกันกระทำการ กล่าวคือ นายสุธาบดี และ/หรือนางสาวอัจฉรารวมกระทำการฟ้องร้องคดีนี้เพียงกิจการเดียว มิใช่ต่างตนต่างกระทำกิจการแยกกันฟ้องร้องหลายคดี ใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์เช่นนี้จึงปิดอากรแสตมป์เพียง 30 บาท ก็ถูกต้องตามประมวลรัษฎากรแล้ว

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเป็นจำนวน 236,560.72ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันอ่านคำพิพากษาของศาลนี้ ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวไม่มีก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันอ่านคำพิพากษา แต่ต้องไม่เกินกว่าอัตรา 25.60 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไป ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท แอร์บอร์นเฟรท คอร์ปอเรชั่น จำเลย - บริษัท จีดีเอ็ม จำกัด

ชื่อองค์คณะ วุฒิ คราวุฒิ จเร อำนวยวัฒนา มงคล สระฏัน

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE