คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 624, 625
การที่จำเลยที่1ออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้แก่บริษัทก.เป็นเพียงหลักฐานเพื่อให้บริษัทดังกล่าวนำไปขอรับสินค้าจากเรือได้เท่านั้นแต่ถ้ายังมิได้มีการขนถ่ายสินค้าก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่1ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัทก. แล้วเพราะสินค้ายังอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่1เมื่อเริ่มมีการขนถ่ายสินค้าในวันที่4มิถุนายน2533ก็ต้องถือว่าจำเลยที่1เริ่มส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัทก. แต่เมื่อการขนถ่ายสินค้าไม่แล้วเสร็จในวันนั้นและได้มีการขนถ่ายสินค้าต่อมาทุกวันจนแล้วเสร็จในวันที่9เดือนเดียวกันก็ต้องถือว่าจำเลยที่1ได้ทยอยส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัทดังกล่าวตลอดมาจนส่งมอบเสร็จสิ้นในวันที่9มิถุนายน2533การนับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา624จึงต้องนับตั้งแต่วันที่ส่งมอบสินค้าแล้วเสร็จคือวันที่9มิถุนายน2533โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่5มิถุนายน2534ยังไม่พ้นกำหนด1ปีนับแต่วันส่งมอบสินค้าจึงไม่ขาดอายุความ ใบตราส่งมีเงื่อนไขจำกัดความรับผิดของจำเลยที่1ผู้ขนส่งไว้แต่เมื่อทางนำสืบของจำเลยที่1ไม่ปรากฎว่าผู้ส่งสินค้าได้แสดงความตกลงด้วยในการจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าผู้ส่งสินค้าตกลงโดยชัดแจ้งให้จำเลยที่1จำกัดความรับผิดดังกล่าวข้อจำกัดความรับผิดจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา625
โจทก์ฟ้องว่า ประกันภัยสินค้าประเภทปุ๋ย จำนวน 2,000 เมตริกตันจากบริษัทเกียรติเสริมกิจ จำกัด สินค้าดังกล่าวบริษัทเกียรติเสริมกิจ จำกัด สั่งซื้อจากบริษัทโยซุง คอร์ปอเรชั่นจำกัด ผู้ขายซึ่งอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ขนส่งมายังประเทศไทยโดยเรือเดินทะเลโอปาล สัญญาประกันภัยมีข้อสาระสำคัญว่า หากสินค้าสูญหายหรือบุบสลายในระหว่างขนส่ง โจทก์จะใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทเกียรติเสริมกิจ จำกัด ในวงเงิน 9,891,552บาท ผู้ขายสินค้าได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2533 เรือเดินทะเลโอปาลเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพ บริษัทเกียรติเสริมกิจ จำกัด ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเดินทะเลโอปาล จำเลยทั้งสองได้ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเดินทะเลโอปาลเมื่อวันที่ 4มิถุนายน 2533 การขนถ่ายสินค้าเสร็จสิ้นและสามารถส่งมอบให้บริษัทเกียรติเสริมกิจ จำกัด เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2533ปรากฎว่าสินค้าเสียหายคิดเป็นเงิน 344,216.12 บาทบริษัทเกียรติเสริมกิจ จำกัด ทวงถามจำเลยทั้งสองให้ใช้ค่าเสียหายแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์จึงใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่บริษัทเกียรติเสริมกิจ จำกัด เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์2534 โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 344,216.12 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ขายสินค้าส่งสินค้าโดยกะประมาณปริมาตรสินค้าเท่านั้น สินค้าจึงขาดจำนวน ทั้งสินค้าไม่ได้บรรจุหีบห่อเป็นเหตุให้สินค้าเสียหาย และค่าเสียหายไม่เกิน 5,000 บาท นอกจากนี้ ผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนสินค้ารายนี้ยินยอมตามเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดในใบตราส่ง จำเลยที่ 1 จึงรับผิดเพียง 500 บาท ต่อหีบห่อหรือหน่วยระวางในความสูญหายหรือบุบสลายของสินค้า จำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าแก่โจทก์เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2533 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อล่วงพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันส่งมอบ คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 344,216.12 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ที่โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า เรือโอปาลมาถึงท่าเรือกรุงเทพ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2533 จำเลยที่ 1 ได้ออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้แก่บริษัทเกียรติเสริมกิจ จำกัด ในวันเดียวกันนั้นและได้มีการขนถ่ายสินค้าจากเรือโอปาลในระหว่างวันที่ 4 ถึง 9 มิถุนายน 2533 รายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.26มีปัญหาว่า จะถือว่าจำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัทเกียรติเสริมกิจ จำกัด เมื่อใด เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1ออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้แก่บริษัทเกียรติเสริมกิจ จำกัดเป็นเพียงหลักฐานเพื่อให้บริษัทดังกล่าวนำไปขอรับสินค้าจากเรือโอปาลได้เท่านั้น แต่ถ้ายังไม่ได้มีการขนถ่ายสินค้าก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัทเกียรติเสริมกิจ จำกัด แล้วเพราะสินค้ายังคงอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 เมื่อเริ่มมีการขนถ่ายสินค้าในวันที่ 4 มิถุนายน2533 ก็ต้องถือจำเลยที่ 1 เริ่มส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัทเกียรติเสริมกิจ จำกัด ในวันดังกล่าว แต่เมื่อการขนถ่ายสินค้าไม่แล้วเสร็จในวันนั้นและได้มีการขนถ่ายสินค้าต่อมาทุกวันจนแล้วเสร็จในวันที่ 9 เดือนเดียวกัน ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1ได้ทยอยส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัทดังกล่าวตลอดมาจนส่งมอบเสร็จสิ้นในวันที่ 9 มิถุนายน 2533 การนับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 จึงต้องนับตั้งแต่วันส่งมอบสินค้าแล้วเสร็จคือวันที่ 9 มิถุนายน 2533 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 5มิถุนายน 2534 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้าจึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ากรณีถือได้ว่ามีการส่งมอบสินค้าในวันที่ 3 มิถุนายน 2533 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
ส่วนประเด็นที่ว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใดนั้น ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อนในประเด็นนี้ กรณีที่โจทก์นำสืบว่า สินค้าไม่ครบตามจำนวนและเปียกน้ำได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 344,216.12 บาทนั้น จึงฟังได้ว่า ข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์นำสืบ ที่จำเลยที่ 1อ้างว่าใบตราส่งเอกสารหมาย ล.1 มีเงื่อนไขว่า จำเลยที่ 1จะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการขนส่งเป็นจำนวน 500 บาทต่อ 1 ระวางนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 บัญญัติไว้เป็นใจความว่าใบตราส่งถ้ามีข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งย่อยเป็นโมฆะ เว้นแต่ผู้ส่งจะได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเช่นว่านั้น แต่จากการนำสืบของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฎบริษัทโยซุง คอร์ปอเรชั่นจำกัด ผู้ส่งสินค้าได้แสดงความตกลงด้วยในการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ส่งสินค้าได้ตกลงด้วยโดยชัดแจ้งให้จำเลยที่ 1 จำกัดความรับผิดโดยให้รับผิดเพียง500 บาท ต่อ 1 ระวาง ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ไม่อาจจะนำมาอ้างเพื่อจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท นิวแฮมพ์เชอร์อินชัวรันส์ จำกัด จำเลย - บริษัท นาวี จำกัด กับพวก
ชื่อองค์คณะ ชูชาติ ศรีแสง จเร อำนวยวัฒนา วุฒิ คราวุฒิ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan