คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1816/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 27 ทวิ, 100
จำเลยที่ 2 รับว่าทองคำแท่งที่หมายเลขกำกับและอักษรแสดงประเทศผู้ผลิตถูกทำลายไปจำนวน 30 แท่งของกลางที่ยึดไว้นั้นเป็นของตน แม้จำเลยที่ 2 จะนำหลักฐานใบเสร็จรับเงินที่ซื้อจากบริษัทต่าง ๆ มาแสดงก็ตาม ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าหมายเลขกำกับตามที่จำเลยที่ 2 อ้างนั้นตรงกับหมายเลขกำกับในทองคำแท่งของกลาง ประกอบกับการนำทองคำแท่งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยชอบนั้น สาระสำคัญต้องมีหมายเลขกำกับเพื่อให้ตรวจสอบในใบขนสินค้าและระบุกำเนิดประเทศผู้ผลิตอีกด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าทองคำแท่งของกลางไม่ใช่ทองคำแท่งจำนวนเดียวกับที่จำเลยที่ 2 ซื้อมา ทองคำแท่งของกลางจึงเป็นทองคำแท่งที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต ทั้งกรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ จึงเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวด้วยของซึ่งต้องยึดเพราะไม่เสียภาษีตามกฎหมายดังกล่าว ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 100 ที่จำเลยทั้งสองจะต้องพิสูจน์ว่าของกลางดังกล่าวได้เสียภาษีโดยถูกต้องแล้วหรือได้นำเข้ามาโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยทั้งสองนำสืบไม่ได้ จึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2, 10, 27 ทวิ พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 5, 7, 20, 24 พระราชกฤษฎีกาควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2494 มาตรา 3, 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ริบของกลางให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับและจ่ายรางวัลแก่ผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2, 10, 27 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 พระราชกฤษฎีกาควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2494 มาตรา 3, 4 ปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 33,038,050.08 บาท จำเลยทั้งสองนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงปรับ จำเลยทั้งสองเป็นเงิน22,025,366.72 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 ในกรณีที่ต้องกักขังแทนค่าปรับ ให้กักขังจำเลยทั้งสองแทนค่าปรับคนละ 1 ปี ริบทองคำแท่งของกลาง จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับ และจ่ายรางวัลแก่ผู้จับตามกฎหมายคำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 22กุมภาพันธ์ 2536 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา นายดิเรก โล่ห์วีระ เจ้าพนักงานศุลกากรได้รับแจ้งจากสายลับว่า ที่บ้านเลขที่ 1709/24-25 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 45 เขตบางกอกน้อยกรุงเทพมหานคร มีทองคำแท่งที่เลี่ยงภาษีอากรซุกซ่อนอยู่และลักลอบ นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาเวลาประมาณ 17 นาฬิกา นายดิเรกกับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานศุลกากรและพันตำรวจตรีกฤชชัย สุเสารัจ ได้ไปตรวจค้นบ้านดังกล่าวพบทองคำแท่งอันเป็นทองคำแท่งทางการค้าระหว่างประเทศ จำนวน 30 แท่ง น้ำหนักรวม29,998.48 กรัม ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 8,259,512.52 บาท ที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1นำไปฝากนางทอเพียร ก้อนทอง ไว้ที่บ้านดังกล่าว โดยแต่ละแท่งมีการลบหมายเลขกำกับรวมทั้งตัวอักษรแสดงประเทศและบริษัทผู้ผลิตออก จึงยึดไว้เป็นของกลางวันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 ขอรับทองคำแท่งของกลางคืนโดยอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เหตุที่เจ้าพนักงานศุลกากรได้ไปตรวจค้นบ้านที่พบทองคำแท่งของกลางเพราะนายดิเรกทราบจากสายลับมาแจ้งไว้ก่อน จึงไปตรวจค้นโดยเฉพาะเจาะจงทันทีและก็พบทองคำแท่งตามที่ได้รับทราบมาจริง ทั้งขณะทำการตรวจค้นนางสาวหฤทัย โชติ ได้แจ้งว่าจำเลยที่ 1 นำมาฝากแต่ตอนเช้า แล้วได้พานายดิเรกกับพวกไปบ้านจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่เลขที่ 105/1 หมู่บ้านปิ่นเกล้าการ์เดนซิตี้ ถนนพุทธมณฑลสาย 2 เขตตลิ่งชันกรุงเทพมหานคร ทำให้จับจำเลยที่ 1 ได้ และจำเลยที่ 1 รับว่าจ้างจากจำเลยที่ 2 นำมาจากอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยรู้อยู่ว่าเป็นของนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ตามบันทึกจับกุมเอกสารหมาย จ.3 และบันทึกคำให้การผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.17 ดังนี้ เมื่อนายดิเรกและพันตำรวจตรีกฤชชัยผู้ร่วมทำบันทึกดังกล่าวไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะระแวงสงสัยว่าจะแกล้งปรักปรำจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 1 ให้การโดยละเอียดถึงที่มาแห่งทองคำแท่งของกลางอีกด้วย ดังนั้น พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 2 ลักลอบขนทองคำแท่งของกลางมาจากอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยรู้อยู่แล้วว่าผู้ที่ส่งมอบทองคำดังกล่าว นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าลงชื่อในบันทึกจับกุมโดยไม่ทราบข้อความนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการรับส่งมอบวิธีการขนย้าย และอัตราค่าจ้างในแต่ละครั้งทั้งจำเลยที่ 1 ให้การทันทีในวันถูกจับกุมนั่นเอง จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ให้การไปตามความจริงโดยทราบข้อความนั้นอยู่แล้ว ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าให้การในขณะเมาสุราอยู่นั้น เห็นว่า ลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในบันทึกจับกุม เอกสารหมาย จ.3 ซึ่งลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2536 อันเป็นวันเกิดเหตุมีลักษณะการเขียนปกติเหมือนกับลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในเอกสารอื่น ๆ น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะให้การต่อเจ้าพนักงานผู้จับกุมตามความจริง ดังนั้น พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ข้างต้นได้ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ จำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทองคำแท่งจำนวน 30 แท่งที่เจ้าพนักงานศุลกากรได้ยึดไว้ตามบันทึกจับกุมเอกสารหมาย จ.2 กรณีจึงถือและรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าทองคำแท่งจำนวน 30 แท่งของกลางที่ยึดไว้ในคดีเป็นของตนแล้ว แต่เนื่องจากทองคำแท่งของกลางในคดีนี้หมายเลขกำกับและอักษรแสดงประเทศผู้ผลิตถูกทำลายไป เมื่อจำเลยที่ 2 นำหลักฐานในการซื้อมาจากบริษัทโกลด์ แอสโซซิเอท จำกัด และบริษัทโกลด์ คอเปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.11 (ตรงกับเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.5) จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าหมายเลขกำกับตามที่จำเลยที่ 2 อ้างนั้นตรงกับหมายเลขกำกับในทองคำแท่งของกลางประกอบกับทองคำแท่งนั้นเมื่อนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยชอบ สาระสำคัญต้องมีหมายเลขกำกับเพื่อให้ตรวจสอบในใบขนสินค้าและระบุกำเนิดประเทศผู้ผลิตอีกด้วยดังปรากฏตามใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่มเอกสารหมาย จ.12 ดังนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ทองคำแท่งของกลางไม่ใช่ทองคำแท่งจำนวนเดียวกับที่จำเลยที่ 2 ซื้อมา ทองคำแท่งของกลางจึงเป็นทองคำแท่งที่นำเข้ามาในราชอาณจักรโดยมิได้รับอนุญาตจริง อีกทั้งนางทองเพียร ก้อนทองพยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า ก่อนนำของมาฝาก จำเลยที่ 2 ได้โทรศัพท์มาบอกก่อนแล้วจำเลยที่ 1 ได้นำกล่องกระดาษสีน้ำตาล 2 กล่องมาฝากพยานจึงรับฝากไว้โดยเก็บไว้ในห้องนอนและเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้าของพยาน ดังนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รับทองคำแท่งของกลางไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นทองคำแท่งที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาตและเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ จึงเป็นการฟ้องร้องคดีอันเกี่ยวด้วยของซึ่งต้องยึดเพราะไม่เสียภาษีตามกฎหมายดังกล่าว อันต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 100 ที่จำเลยทั้งสองจะต้องพิสูจน์ว่าของกลางดังกล่าวได้เสียภาษีโดยถูกต้องแล้วหรือได้นำเข้ามาโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยทั้งสองนำสืบไม่ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย - นาย นิพนธ์ สมบูรณ์ กับพวก
ชื่อองค์คณะ ประกาศ บูรพางกูร ปรีชา เฉลิมวณิชย์ ธีระจิต ไชยาคำ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan