สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1773/2564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1773/2564

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 5, 9, 32, 57 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49

การเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น ต้องพิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควรในการเลิกจ้างหรือไม่ เมื่อเกิดวิกฤตราคาน้ำมันทั่วโลกส่งผลกระทบให้จำเลยมีปริมาณงานลดลงและมีจำนวนพนักงานมากเกินกว่าความต้องการของงาน จำเลยจึงเลิกจ้างลูกจ้างทั้งก่อนและหลังเลิกจ้างโจทก์กับพวกอีกหลายคนโดยไม่ได้กลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติในการเลิกจ้างลูกจ้างคนใดคนหนึ่ง แม้ปี 2557 ถึงปี 2559 จำเลยมีผลกำไรสุทธิจากการประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ผลประกอบการทั่วโลกของจำเลยประสบปัญหาขาดทุนสูงกว่าผลกำไรที่ได้จากผลประกอบกิจการในประเทศไทยหลายเท่าตัว จำเลยพยายามหาทางแก้ไขปัญหาก่อนเลิกจ้างโจทก์กับพวก ตั้งแต่การไม่ปรับเงินเดือน การปลดผู้บริหาร การโอนย้ายลูกจ้างไปทำงานสาขาอื่นในต่างประเทศ การยุบสำนักงานบางส่วน และการปรับลดลูกจ้าง ด้วยเหตุเช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุจำเป็นและสมควรเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 เป็นค่าตอบแทนในการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ เมื่อคู่มือพนักงาน จำเลยจัดหมวดหมู่ของลูกจ้างให้สอดคล้องกับลักษณะของงานและสถานที่ทำงานโดยแบ่งเป็นพนักงานประจำสำนักงานและพนักงานด้านการปฏิบัติการ โดยกำหนดให้พนักงานด้านการปฏิบัติการต้องทำงานตามตารางการทำงานปกติ อันประกอบด้วยวันที่ทำงานภาคสนามติดต่อกันไม่เกิน 28 วัน ตามด้วยวันหยุดประจำช่วง ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะการทำงานของโจทก์กับพวก การที่จำเลยจ่ายเงินค่าทำงานในทะเลและค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นจากเงินเดือนให้แก่โจทก์กับพวก โดยคิดจากการที่โจทก์กับพวกไปทำงานบนแท่นขุดเจาะและบนหลุมปิโตรเลียมในวันทำงาน จึงเป็นการจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบแทนการทำงานของโจทก์กับพวกสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติโดยคำนวณตามผลงาน การที่จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์กับพวกในกรณีโจทก์กับพวกเจ็บป่วยมิได้ทำงานและยังไม่ได้ถูกส่งตัวกลับขึ้นฝั่งเป็นสิทธิของลูกจ้างที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 32 และมาตรา 57 วรรคหนึ่ง ซึ่งโจทก์กับพวกมีสิทธิลาป่วยและได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย เงินค่าทำงานในทะเลและค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียมจึงเป็นค่าจ้างตามผลงาน การที่คู่มือพนักงาน กำหนดให้เงินดังกล่าวไม่ถือเป็นค่าจ้างนั้น ไม่อาจกระทำได้เพราะเป็นการขัดต่อบทบัญญัตินิยามความหมายของคำว่า "ค่าจ้าง" ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ค่าตอบแทนตามผลงานของวิศวกรและค่าตอบแทนตามผลงานทั่วไป เป็นเงินที่จำเลยจ่ายตามประสิทธิภาพและผลของการทำงาน จึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายเพื่อเป็นการจูงใจให้โจทก์กับพวกตั้งใจทำงานให้รอบคอบเพื่อส่งผลต่อการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ อันจะถือเป็นค่าจ้างได้

จำเลยมีข้อโต้แย้งว่า เงินค่าทำงานในทะเล ค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียม ค่าตอบแทนตามผลงานของวิศวกร และค่าตอบแทนการผลงานทั่วไป เป็นค่าจ้างหรือไม่ การไม่นำเงินดังกล่าวมารวมคำนวณจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์กับพวก ถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจไม่จ่ายค่าชดเชยโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์กับพวก

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ทั้งยี่สิบฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบตามคำขอท้ายคำฟ้อง

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานภาค 9 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ทั้งยี่สิบและจำเลยอุทธรณ์

ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ โจทก์ที่ 11 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษอนุญาต

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 9 ในส่วนการกำหนดค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โดยให้ศาลแรงงานภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในส่วนค่าจ้างจากการทำงาน จำนวนวันทำงาน ยอดเงินที่โจทก์แต่ละคนได้รับ และวิธีการจ่ายเงินสำหรับเงินค่าทำงานในทะเล เงินค่าตอบแทนตามผลงานของวิศวกร เงินค่าตอบแทนตามผลงานทั่วไป และเงินค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียมของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 ตามอายุงานของโจทก์แต่ละคนที่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามผลงานย้อนหลังจากวันที่โจทก์ดังกล่าวถูกเลิกจ้างไปตามอายุการทำงานตามผลงานของโจทก์แต่ละคนที่จะได้รับตามกฎหมายไปจนถึงวันที่มีผลเลิกสัญญาจ้าง แล้วให้พิจารณาพิพากษาในส่วนค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 9

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 และจำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงและข้อเท็จจริงยุติโดยไม่มีคู่ความโต้แย้งกันได้ความว่า จำเลยเป็นนิติบุคคล สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยเป็นสาขาหนึ่งของจำเลย มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับการขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ โดยการประมูลงานจากลูกค้าซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานจากรัฐบาลไทย โจทก์ทั้งยี่สิบเคยเป็นลูกจ้างของจำเลย ปฏิบัติงานตามตำแหน่งและลักษณะงานที่ได้รับมอบหมายตามตารางที่กำหนด ตั้งแต่ระดับวิศวกรไปจนถึงระดับปฏิบัติงาน ทำงานบนแท่นขุดเจาะ หยุดพักบนฝั่ง และทำงานที่สำนักงานบนฝั่ง สลับหมุนเวียนกันไป ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน ค่าทำงานในทะเล (Offshore Bonus) ที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ไปทำงานบนแท่นขุดเจาะตามตารางการทำงานที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียม (Platform Bonus) เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างในตำแหน่งวิศวกรที่ทำงานบนหลุมปิโตรเลียมแบบหลุมปิดที่มีความเสี่ยงและความยากลำบากในการทำงานมากกว่าการทำงานในส่วนอื่น ส่วนค่าตอบแทนตามผลงานของวิศวกร (Job Ticket Bonus) และค่าตอบแทนตามผลงานทั่วไป (Performance Bonus) เป็นเงินที่จำเลยจ่ายตามประสิทธิภาพและผลของการทำงาน เช่น อุปกรณ์การทำงานไม่ได้รับความเสียหาย เป็นต้น กำหนดจ่ายเงินทุกประเภทพร้อมกันในทุกวันที่ 25 ของเดือนระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบอ้างเหตุว่า "มีความจำเป็นต้องลดจำนวนบุคลากร" โดยโจทก์ทั้งยี่สิบไม่เคยทำผิดต่อกฎระเบียบข้อบังคับของจำเลย โจทก์แต่ละคนมีวันเริ่มงาน วันเลิกจ้าง ระยะเวลาทำงาน ค่าจ้างพื้นฐาน ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่รับจากจำเลยแล้ว ศาลแรงงานภาค 9 วินิจฉัยว่า ปี 2557 เกิดวิกฤตราคาน้ำมันทั่วโลกลดลงเป็นผลทำให้ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั่วโลกรวมทั้งในอ่าวไทยต้องชะลอหรือหยุดการผลิตขุดเจาะน้ำมันซึ่งรวมถึงลูกค้าของจำเลย ส่งผลกระทบทำให้จำเลยมีปริมาณงานลดน้อยลงและมีจำนวนพนักงานมากเกินกว่าความต้องการของงาน จำเลยจึงเลิกจ้างลูกจ้างทั้งก่อนและหลังเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบอีกหลายคน โดยไม่ได้กลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติในการเลิกจ้างลูกจ้างคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง หลังเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบแล้วจำเลยรับลูกจ้างเพิ่มขึ้นบางส่วนเพราะคาดการณ์ว่าจะได้รับการประมูลงานเพิ่มจากลูกค้า ซึ่งจำเลยจำต้องตระเตรียมลูกจ้างไว้เพื่อรองรับงานดังกล่าว ครั้นจำเลยไม่สามารถประมูลงานจากลูกค้าได้ก็ทยอยเลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวไปแล้วทั้งหมด ปี 2557 ถึงปี 2559 จำเลยมีผลกำไรจากการประกอบกิจการในประเทศไทยคิดเป็นกำไรสุทธิ 1,100,008,267 บาท 996,972,644 บาท และ 51,215,099 บาท ตามลำดับ แต่ผลประกอบการทั่วโลกของจำเลยประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก แต่เมื่อจำเลยเป็นนิติบุคคลที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ผลกำไรที่เกิดขึ้นในประเทศไทยต้องถูกจำหน่ายไปยังสำนักงานใหญ่ ผลประกอบการโดยรวมของจำเลยทุกสาขาทั่วโลกประสบปัญหาขาดทุนสูงกว่าผลกำไรที่ได้จากผลประกอบการในประเทศไทย จำเลยใช้มาตรการปรับลดค่าใช้จ่าย ตั้งแต่การไม่ปรับเงินเดือน การปลดผู้บริหาร การโอนย้ายลูกจ้างไปทำงานสาขาอื่นในต่างประเทศ การยุบสำนักงานเป็นบางส่วน และการปรับลดลูกจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบโดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ค่าทำงานในทะเลและค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียมเป็นเงินที่จำเลยจ่ายเพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานตามปกติของวันทำงาน ค่าตอบแทนผลงานของวิศวกรและค่าตอบแทนตามผลงานทั่วไปเป็นเงินค่าตอบแทนการทำงานโดยคำนวณตามผลงานที่โจทก์ทั้งยี่สิบได้ทำ เงินทั้งหมดดังกล่าวจึงเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมารวมคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยมีข้อโต้แย้งไม่นำค่าตอบแทนอย่างอื่นนอกจากเงินเดือนมารวมคำนวณจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบ ถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบโดยปราศจากเหตุอันสมควร โดยศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 อุทธรณ์ว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามกฎหมาย การพิจารณาและการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 9 ชอบด้วยกฎหมาย กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายค่าชดเชยโดยปราศจากเหตุอันสมควร โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 มีหน้าที่หลักต้องไปทำงานที่แท่นขุดเจาะน้ำมันที่อยู่ในทะเลตามคำสั่งของจำเลย เงินค่าทำงานในทะเล ค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียม ค่าตอบแทนตามผลงานของวิศวกร และค่าตอบแทนตามผลงานทั่วไป จึงเป็นเงินตอบแทนการทำงานโดยคำนวณตามผลงานที่โจทก์แต่ละคนทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ซี่งเป็นค่าจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ที่ต้องนำมารวมกับเงินเดือนพื้นฐานเพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แต่ศาลแรงงานภาค 9 ยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงว่า ในแต่ละเดือนก่อนเลิกจ้าง โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 ออกไปทำงานในทะเลจริงเดือนละกี่วัน มีวิธีการจ่ายเงินดังกล่าวอย่างไร ตลอดระยะเวลาย้อนหลังจากวันที่ถูกเลิกจ้างไปตามอายุการทำงานตามผลงานของโจทก์แต่ละคนที่จะได้รับตามกฎหมาย เพื่อนำมารวมกับเงินเดือนพื้นฐานในการคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จึงย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 ที่ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ โดยโจทก์ดังกล่าวฎีกาว่า งบการเงินของจำเลย ไม่ได้ความว่าจำเลยขาดทุนจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป ทั้งก่อนที่จำเลยเลิกจ้างก็มิได้หามาตรการที่เหมาะสมและเป็นธรรมมาแก้ปัญหาก่อน จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโดยเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์นั้น เมื่อพิจารณาอุทธรณ์โจทก์ดังกล่าวแล้ว เป็นอุทธรณ์ที่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ อันมิใช่เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงดังที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย และเมื่อข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวได้ เพื่อความรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาพิพากษาใหม่อีก สำหรับปัญหาว่า การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น ต้องพิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควรในการเลิกจ้างหรือไม่ เมื่อได้ความว่าปี 2557 เกิดวิกฤตราคาน้ำมันทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นผลทำให้ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั่วโลกรวมทั้งในอ่าวไทยต้องชะลอหรือหยุดการผลิตขุดเจาะน้ำมันซึ่งรวมถึงลูกค้าของจำเลยส่งผลกระทบให้จำเลยมีปริมาณงานลดน้อยลงและมีจำนวนพนักงานมากเกินกว่าความต้องการของงาน จำเลยจึงเลิกจ้างลูกจ้างทั้งก่อนและหลังเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 อีกหลายคน โดยไม่ได้กลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติในการเลิกจ้างลูกจ้างคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงแม้ภายหลังเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 แล้วจำเลยจะรับลูกจ้างเพิ่มขึ้นบางส่วนแต่ก็เป็นเพราะจำเลยคาดการณ์ว่าจะได้รับการประมูลงานเพิ่มจากลูกค้า ซึ่งจำเลยจำเป็นต้องตระเตรียมลูกจ้างไว้เพื่อรองรับงานดังกล่าว ครั้นจำเลยไม่สามารถประมูลงานจากลูกค้าได้ก็ได้ทยอยเลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวไปแล้วทั้งหมด และแม้ปี 2557 ถึงปี 2559 จำเลยมีกำไรจากการประกอบกิจการในประเทศไทยคิดเป็นกำไรสุทธิ 1,100,008,267 บาท 996,972,644 บาท และ 51,215,099 บาท ตามลำดับ แต่ผลประกอบการทั่วโลกของจำเลยประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก เมื่อจำเลยเป็นนิติบุคคลที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ผลกำไรที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการในประเทศไทยต้องถูกจำหน่ายไปยังสำนักงานใหญ่ ผลประกอบการโดยรวมของจำเลยทุกสาขาทั่วโลกประสบปัญหาขาดทุนสูงกว่าผลกำไรที่ได้จากผลประกอบการในประเทศไทยหลายเท่าตัว การที่จำเลยใช้มาตรการปรับลดค่าใช้จ่าย ตั้งแต่การไม่ปรับเงินเดือน การปลดผู้บริหาร การโอนย้ายลูกจ้างไปทำงานสาขาอื่นในต่างประเทศ การยุบสำนักงานเป็นบางส่วน และการปรับลดลูกจ้าง เป็นไปเพื่อประคับประคองให้ธุรกิจของจำเลยสามารถดำเนินต่อไปได้นั้น ก็เป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงมาตรการที่จำเลยพยายามหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 แล้ว ด้วยเหตุเช่นนี้ย่อมเป็นเหตุจำเป็นและสมควรเพียงพอ ซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ที่ศาลแรงงานภาค 9 วินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมมานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า ค่าทำงานในทะเล (Offshore Bonus) ค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียม (Platform Bonus) ค่าตอบแทนตามผลงานของวิศวกร (Job Ticket Bonus) และค่าตอบแทนตามผลงานทั่วไป (Performance Bonus) เป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยจ่ายเงินค่าทำงานในทะเลเพื่อตอบแทนความเสี่ยงภัยของลูกจ้างที่ต้องไปอาศัยอยู่กลางทะเล แม้ลูกจ้างจะเจ็บป่วยมิได้ทำงาน หากยังไม่ถูกส่งตัวกลับขึ้นฝั่ง จำเลยก็ยังจ่ายเงินค่าทำงานในทะเลให้ ค่าตอบแทนตามผลงานของวิศวกร และค่าตอบแทนตามผลงานทั่วไป เป็นเงินจูงใจให้ลูกจ้างปฏิบัติได้ตามเป้าหมายและเงื่อนไขที่ลูกค้าของจำเลยกำหนด จึงเป็นสวัสดิการที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างให้ขยันหมั่นเพียรและไม่ผิดพลาดในการทำงาน ส่วนค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียมนั้น จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ต้องทำงานบนหลุมปิดที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งตามคู่มือพนักงานของจำเลยยังระบุไว้ว่าเงินเพิ่มพิเศษอื่น ๆ ไม่ใช่ค่าจ้าง เงินทั้งหมดดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นค่าจ้าง เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยามคำว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า "เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันเวลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้" ค่าจ้างจึงต้องเป็นค่าตอบแทนในการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ สำหรับค่าทำงานในทะเล และค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียมนั้น เมื่อคู่มือพนักงาน บทที่ 2 ข้อกำหนดและเงื่อนไขทั่วไปเกี่ยวกับการว่าจ้าง จำเลยจัดหมวดหมู่ของลูกจ้างให้สอดคล้องกับลักษณะของงานและสถานที่ทำงานโดยแบ่งเป็น พนักงานประจำสำนักงาน ได้แก่ พนักงานซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานเป็นการประจำและพนักงานด้านการปฏิบัติการ ได้แก่ พนักงานซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ปฏิบัติการ งานปิโตรเลียมและก๊าซ ในโรงซ่อมบำรุงและในห้องทดลอง และบทที่ 3 วันทำงานปกติและเวลาทำงานปกติ จำเลยกำหนดวันทำงานและเวลาทำงานของพนักงานด้านปฏิบัติการในการทำงานในพื้นที่ภาคสนาม โดยต้องทำงานตามตารางการทำงานปกติ อันประกอบด้วยวันที่ทำงานภาคสนามติดต่อกันไม่เกินรอบละ 28 วัน ตามด้วยวันหยุดประจำช่วง ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะการทำงานของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 ที่ต้องทำงานปกติตามตารางที่กำหนด แบ่งเป็นทำงานบนแท่นขุดเจาะ หยุดพักบนฝั่ง และทำงานที่สำนักงานบนฝั่ง สลับหมุนเวียนกันไป แสดงให้เห็นว่า การทำงานบนแท่นขุดเจาะและบนหลุมปิโตรเลียมแบบหลุมปิดเป็นการทำงานตามปกติตามตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 การที่จำเลยจ่ายเงินค่าทำงานในทะเลและค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นจากเงินเดือนให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 โดยคิดจากการที่โจทก์ดังกล่าวไปทำงานบนแท่นขุดเจาะและบนหลุมปิโตรเลียมในวันทำงาน จึงเป็นการจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบแทนการทำงานของโจทก์สำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ โดยคำนวณจากจำนวนวันที่โจทก์ดังกล่าวทำงานอยู่บนแท่นขุดเจาะและบนหลุมปิโตรเลียมในแต่ละรอบตามตารางที่กำหนดตามผลงาน ทั้งการที่จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 ในกรณีที่โจทก์เหล่านั้นเจ็บป่วยมิได้ทำงานและยังไม่ได้ถูกส่งตัวกลับขึ้นฝั่ง ก็สอดคล้องกับความหมายของคำว่าค่าจ้าง ที่ให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่มีสิทธิได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งการเจ็บป่วยนี้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 ย่อมมีสิทธิลาป่วยและได้รับค่าจ้างตามสิทธิที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 32 และมาตรา 57 วรรคหนึ่ง จึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลยที่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้แม้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 จะเจ็บป่วยมิได้ทำงานและยังไม่ได้ถูกส่งตัวกลับขึ้นฝั่งก็ตาม ค่าทำงานในทะเลและค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียมจึงเป็นค่าจ้างตามผลงาน ที่กำหนดให้เงินเพิ่มพิเศษอื่น ๆ ที่มิใช่เงินเดือนตามข้อ 5.1 ก) และเงินโบนัสเดือนที่ 13 ตามข้อ 5.1 ข) จำเลยถือเป็นสิทธิประโยชน์อื่น ๆ และไม่ถือเป็นค่าจ้างนั้น ไม่อาจกระทำได้เพราะเป็นการขัดต่อบทบัญญัตินิยามความหมายของคำว่า "ค่าจ้าง" ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ส่วนค่าตอบแทนตามผลงานของวิศวกร และค่าตอบแทนตามผลงานทั่วไป เมื่อได้ความว่าเป็นเงินที่จำเลยจ่ายตามประสิทธิภาพและผลของการทำงาน เช่น อุปกรณ์การทำงานไม่ได้รับความเสียหาย เป็นต้น ก็แสดงให้เห็นว่าจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวเพื่อเป็นการจูงใจให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 ตั้งใจทำงานให้รอบคอบเพื่อส่งผลต่อการทำงานให้ดียิ่งขึ้น จึงมิใช่เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ อันจะถือเป็นค่าจ้างได้ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่าเงินค่าทำงานในทะเล ค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียม ค่าตอบแทนตามผลงานของวิศวกร และค่าตอบแทนตามผลงานทั่วไป เป็นค่าจ้างตามผลงานมาทั้งหมดนั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาเพียงบางส่วน

ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 มีว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มเติมให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 หรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์ดังกล่าวฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษยกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 9 ในส่วนค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แล้วย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในส่วนค่าจ้างจากการทำงานสำหรับเงินค่าทำงานในทะเล ค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียม ค่าตอบแทนตามผลงานของวิศวกร และค่าตอบแทนตามผลงานทั่วไป ซึ่งเป็นค่าจ้างตามผลงานย้อนหลังไปตามอายุการทำงานของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น ไม่ถูกต้อง เห็นว่า ดังที่ได้วินิจฉัยแล้วว่า ในส่วนเงินค่าทำงานในทะเลและค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียมเท่านั้นที่เป็นค่าจ้างตามผลงาน จึงต้องนำเงินเพียงสองประเภทนี้ไปคำนวณค่าชดเชยที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 มีสิทธิได้รับสำหรับกรณีลูกจ้างได้รับค่าจ้างตามผลงาน ตามมาตรา 118 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 สำหรับการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น แม้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 (กฎหมายที่ใช้บังคับขณะเลิกจ้าง) จะมิได้ระบุเรื่องการคำนวณจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าสำหรับค่าจ้างตามผลงานไว้อย่างชัดแจ้งเช่นเดียวกับการคำนวณจ่ายค่าชดเชยก็ตาม แต่จากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 9 รับฟังมาว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติตามตำแหน่งและลักษณะงานที่ได้รับตามตารางที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งสามารถคำนวณหาจำนวนค่าจ้างที่เป็นค่าทำงานในทะเลและค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียมที่จะต้องจ่ายจนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าให้แก่โจทก์ดังกล่าวตามมาตรา 17 วรรคสอง และวรรคสามได้ โดยการทำงานในทะเลและทำงานบนแท่นปิโตรเลียมของโจทก์แต่ละคนนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 9 ต้องรับฟังเพื่อนำมาประกอบการคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยให้นำเงินทุกประเภท อันได้แก่ ค่าทำงานในทะเล ค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียม ค่าตอบแทนตามผลงานของวิศวกร และค่าตอบแทนตามผลงานทั่วไป มารวมกับเงินเดือนเพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 โดยย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 9 รับฟังข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน

ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 มีว่า จำเลยต้องจ่ายเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 หรือไม่ โดยโจทก์ดังกล่าวฎีกาว่า จำเลยทราบดีว่าค่าทำงานในทะเล ค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียม ค่าตอบแทนตามผลงานของวิศวกร และค่าตอบแทนตามผลงานทั่วไป เป็นค่าจ้าง แต่จำเลยกลับไม่นำเงินดังกล่าวมารวมคำนวณจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 เป็นการจงใจไม่จ่ายค่าชดเชยให้ครบถ้วน จึงต้องเสียเงินเพิ่มให้ตามกฎหมาย เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 กำหนดให้กรณีที่นายจ้างจงใจไม่จ่ายค่าชดเชยโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกำหนดคืนหรือจ่าย ให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน เมื่อเงินค่าทำงานในทะเล ค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียม ค่าตอบแทนตามผลงานของวิศวกร และค่าตอบแทนตามผลงานทั่วไปที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 อ้างว่าเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณเป็นค่าชดเชยนั้น จำลยยังมีข้อโต้แย้งว่าเงินดังกล่าวเป็นค่าจ้างหรือไม่ ดังเห็นได้จากที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีเพียงเงินค่าทำงานในทะเลและค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียมเท่านั้นที่เป็นค่าจ้าง การที่จำเลยไม่นำเงินที่มีข้อโต้แย้งเช่นนี้มารวมคำนวณจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 ถือไม่ได้ว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างจงใจไม่จ่ายค่าชดเชยโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 ร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวันแต่อย่างใด ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลแรงงานภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเฉพาะเงินค่าทำงานในทะเลและค่าทำงานบนแท่นปิโตรเลียม เพื่อนำมารวมคำนวณจ่ายเป็นค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ร.180/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางสาว บ. กับพวก จำเลย - บริษัท ฮ. จำกัด

ชื่อองค์คณะ เอกศักดิ์ ยันตรปกรณ์ จักษ์ชัย เยพิทักษ์ สมศักดิ์ ขวัญแก้ว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแรงงานภาค 9 - นายเอนกชัย อารยะญาณ

  • นายอนุวัตร ขุนทอง
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE