คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 176/2565
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148, 323
แม้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างก่อน ป.วิ.พ. มาตรา 323 ที่แก้ไขใหม่ โดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2560 มาตรา 20 มีผลใช้บังคับ คือ วันที่ 5 กันยายน 2560 แต่ผู้ร้องยื่นคําร้องขอปล่อยทรัพย์ที่ถูกยึดหลังจากวันดังกล่าว จึงต้องนําบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่มาบังคับใช้แก่คดี ซึ่งตามมาตรา 323 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "… ให้ยื่นคําร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคําร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคําร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และได้ยื่นคําร้องขอไม่ช้ากว่าเจ็ดวันก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดหรือจําหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรก เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย บุคคลนั้นจะยื่นคําร้องขอในภายหลังก็ได้ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนขายทอดตลาดหรือจําหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้น" เมื่อมีการยึดที่ดินพร้อมอาคารสิ่งปลูกสร้างวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ก่อนวันที่ ป.วิ.พ. มาตรา 323 ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับ การที่จะยื่นคําร้องขอปล่อยทรัพย์สินที่ถูกยึดภายในระยะเวลาหกสิบวันนับแต่วันยึดทรัพย์โดยที่บทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ยังไม่ใช้บังคับจึงไม่อาจกระทำได้ อีกทั้งก่อนคดีนี้ศาลชั้นต้นเคยพิพากษายกคําร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินมาก่อน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกา เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุด ผู้ร้องจึงมายื่นคําร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ถูกยึดเป็นคดีนี้ จึงถือว่ามีพฤติการณ์พิเศษแล้ว ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคําร้องขอปล่อยทรัพย์สินที่ยึด
ผู้ร้องเคยยื่นคําร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินมาก่อน ตามคําร้องคดีก่อนเป็นการขอให้ปล่อยทรัพย์สินอาคารโรงงานและบ้านพักคนงาน แต่คําขอท้ายคําร้องกลับขอให้ปล่อยทรัพย์สินบ้านพักคนงานและโรงเก็บของ ซึ่งโจทก์ยื่นคำให้การโต้แย้งไว้ชัดแจ้งแล้วว่า ผู้ร้องมิได้มีคําขอให้ปล่อยทรัพย์สินอาคารโรงงาน แต่ผู้ร้องมิได้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว จนศาลชั้นต้นคดีก่อนมีคําวินิจฉัยว่าผู้ร้องมีความประสงค์ขอให้ปล่อยทรัพย์สินโรงเก็บของ มิได้ขอให้ปล่อยอาคารโรงงาน ให้ยกคําร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกามีคําสั่งไม่รับฎีกา คดีจึงถึงที่สุด แม้ผู้ร้องมายื่นคําร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินขึ้นใหม่เป็นคดีนี้โดยมีคําขอท้ายคําร้องขอครบถ้วน แต่ก็เป็นการยื่นคําร้องขอโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ผู้ร้องอาจแก้ไขข้อบกพร่องในส่วนคําขอท้ายคําร้องในคดีก่อนเพื่อให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไปพร้อมกับประเด็นคําร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินบ้านพักคนงาน การที่ผู้ร้องหยิบยกข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีก่อนมาร้องเป็นคดีนี้อีก เท่ากับเป็นการแก้ไขคําร้องขอในคดีเดิมให้สมบูรณ์ขึ้น ถือว่าผู้ร้องซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันกับผู้ร้องคดีก่อนรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นร้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาเบิกเงินเกินบัญชี สัญญาค้ำประกัน และสัญญาจำนอง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม ต่อมาจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 85524 และเลขที่ 85592 ที่มีชื่อจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง 4 รายการคือ อาคารโรงงาน 1 ชั้น เลขทะเบียนที่ 29/31 อาคารสำนักงาน 1 ชั้น บ้านพักคนงาน 1 ชั้น และโรงเก็บของ 1 ชั้น ซึ่งปลูกสร้างคร่อมอยู่บนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเช่าที่ดินและอาคารสำนักงานจากจำเลยที่ 1 แล้วก่อสร้างอาคารโรงงานเพิ่มเติมและต่อเติมบ้านพักคนงานเพิ่มขึ้น อาคารโรงงานที่สร้างขึ้นใหม่และบ้านพักคนงานที่ต่อเติมจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ขอให้มีคำสั่งถอนการยึดทรัพย์บ้านพักคนงานที่ต่อเติมตามรายการที่ 3 และโรงเก็บของตามรายการที่ 4 ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ผู้ร้องยื่นฎีกา ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์ ก. ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รับฎีกาและไม่รับฎีกาของผู้ร้อง คดีถึงที่สุด
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งถอนการอายัด (ที่ถูก ยึด) อาคารโรงงานดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ที่ดิน 2 แปลง พร้อมอาคารโรงงานเลขทะเบียนที่ 29/31 อาคารสำนักงาน 1 หลัง บ้านพักคนงาน 1 หลัง และโรงเก็บของ 1 หลัง ซึ่งปลูกคร่อมอยู่บนที่ดินทั้งสองแปลง และประกาศขายทอดตลาดครั้งแรกวันที่ 2 ธันวาคม 2558 ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 ผู้ร้องทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ดังกล่าว วันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ถูกยึด คือ บ้านพักคนงาน 1 หลัง และโรงเก็บของ 1 หลัง ตามรายการที่ 3 และที่ 4 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกคำร้อง ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบข.4/2559 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องยื่นฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกา ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งดังกล่าววันที่ 17 (ที่ถูก 16) พฤษภาคม 2561
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่ผู้ร้องได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ถูกยึดหรือไม่ เห็นว่า แม้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมอาคารสิ่งปลูกสร้างเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 แต่เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอปล่อยทรัพย์สินที่ถูกยึดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 อันเป็นเวลาภายหลังจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 ที่แก้ไขใหม่โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2560 มาตรา 20 มีผลใช้บังคับ คือ วันที่ 5 กันยายน 2560 เป็นต้นไป จึงต้องใช้บทบัญญัติที่แก้ไขใหม่มาบังคับใช้แก่คดีนี้ ซึ่งมาตรา 323 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "…ให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการยึดทรัพย์นั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและได้ยื่นคำร้องขอไม่ช้ากว่าเจ็ดวันก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรก เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอในภายหลังก็ได้ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้น"คดีนี้เมื่อมีการยึดที่ดินพร้อมอาคารสิ่งปลูกสร้างก่อนวันที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ การที่จะยื่นคำร้องขอปล่อยทรัพย์สินที่ถูกยึดภายในระยะเวลาหกสิบวันนับแต่วันยึดทรัพย์โดยที่บทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ยังไม่ใช้บังคับจึงไม่อาจกระทำได้ อีกทั้งศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบข.4/2559 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องยื่นฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกา เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุดผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ถูกยึดเป็นคดีนี้ ถือได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษแล้วผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอปล่อยทรัพย์สินที่ยึด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น ส่วนประเด็นพิพาทที่ว่า อาคารโรงงานที่ต่อเติมใหม่เป็นทรัพย์สินของผู้ร้องหรือไม่ นั้น ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว โดยคู่ความทุกฝ่ายต่างนำพยานเข้าสืบในศาลชั้นต้นในประเด็นข้อนี้จนเสร็จสิ้นกระแสความ เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว สมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า คำร้องขอปล่อยทรัพย์สินที่ถูกยึดของผู้ร้องคดีนี้เป็นร้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบข.4/2559 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ในคดีก่อนผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินอาคารโรงงานและบ้านพักคนงานที่ต่อเติมขึ้นใหม่ แต่คำขอท้ายคำร้องขอกลับขอให้ปล่อยทรัพย์สินบ้านพักคนงาน รายการที่ 3 และโรงเก็บของ รายการที่ 4 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ แม้โจทก์ยื่นคำให้การแก้คดีก็โต้แย้งไว้ชัดเจนว่า ผู้ร้องมิได้มีคำขอให้ปล่อยทรัพย์สินอาคารโรงงานที่ต่อเติมขึ้นใหม่ แต่ผู้ร้องมิได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงว่าผู้ร้องได้ต่อเติมบ้านพักคนงานขึ้นใหม่ตามรายการที่ 3 และผู้ร้องมีความประสงค์ขอให้ปล่อยทรัพย์สินโรงเก็บของตามรายการที่ 4 มิใช่ขอให้ปล่อยอาคารโรงงานที่ต่อเติมขึ้นใหม่ตามที่บรรยายมาในคำร้องขอ ให้ยกคำร้อง ในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้ร้องมิได้อุทธรณ์ในประเด็นส่วนที่เกี่ยวกับบ้านพักคนงานที่ต่อเติมขึ้นใหม่ จึงเป็นอันยุติไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ส่วนประเด็นที่ขอให้ปล่อยอาคารโรงงานที่ต่อเติมขึ้นใหม่ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องมีคำขอให้ถอนการยึดอาคารโรงงานดังกล่าว จึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย พิพากษายืน เมื่อศาลฎีกาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับฎีกาของผู้ร้อง และไม่รับฎีกาของผู้ร้อง คดีจึงถึงที่สุดแล้ว แม้ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอให้ปล่อยอาคารโรงงานที่ต่อเติมขึ้นใหม่เป็นคดีนี้โดยมีคำขอท้ายคำร้องขอครบถ้วน แต่ก็เป็นการยื่นคำร้องขอโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ที่อ้างว่าทรัพย์สินสองในสี่รายการที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เป็นของผู้ร้องหรือไม่ โดยผู้ร้องอาจแก้ไขข้อบกพร่องในส่วนคำขอท้ายคำร้องให้สอดรับกับข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาได้ในคดีเดิม เพื่อให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไปพร้อมกับประเด็นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินในส่วนบ้านพักคนงานที่ผู้ร้องอ้างว่าต่อเติมขึ้นใหม่ได้อยู่แล้ว การที่ผู้ร้องหยิบยกข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีก่อนมาร้องเป็นคดีนี้อีกเท่ากับเป็นการแก้ไขคำร้องขอในคดีเดิมให้สมบูรณ์ขึ้นนั่นเอง ถือว่าผู้ร้องซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันกับผู้ร้องคดีก่อนรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นร้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบข.4/2559 ของศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นพิพาทที่ว่า อาคารโรงงานที่ต่อเติมใหม่เป็นทรัพย์สินของผู้ร้องหรือไม่ต่อไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)65/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - ธนาคาร ท. โดยบริษัท บริหารสินทรัพย์ ก. ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน ผู้ร้อง - บริษัท ท. จำเลย - บริษัท ฟ. กับพวก
ชื่อองค์คณะ สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล ประทีป อ่าววิจิตรกุล วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่งธนบุรี - นางสาวอรรถนัดดา สุนทรศารทูล ศาลอุทธรณ์ - นายชูศักดิ์ ทองวิทูโกมาลย์