คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1674/2565
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1012, 1055 (5), 1061
การที่โจทก์ ช. และกลุ่มเพื่อนร่วมรุ่นตกลงเข้าหุ้นกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเพื่อทำการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยประสงค์จะนำกำไรที่ได้จากการลงทุนของแต่ละคนมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมของรุ่น หากขาดทุนก็ขาดทุนร่วมกัน เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ต่อมา ช. ถึงแก่ความตาย ห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวจึงเลิกกันตามมาตรา 1055 (5) และต้องจัดให้มีการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันตามมาตรา 1061 วรรคหนึ่ง ซึ่งการชำระบัญชีนั้นมาตรา 1061 วรรคสาม ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำ หรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตั้งแต่นั้นเป็นผู้จัดทำ แต่กลับได้ความว่ามีเพียงหุ้นส่วนบางคนเท่านั้นที่เข้าไปเจรจาตกลงกับจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. เกี่ยวกับการจัดการบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลงทุนร่วมกันและได้แสดงหลักฐานการโอนเงินร่วมลงทุน ต่อมาจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. ได้ตกลงโอนหลักทรัพย์และเงินลงทุนคงเหลือคืนแก่ผู้ร่วมลงทุนบางคนตามสัดส่วนของการลงทุนที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้คิดคำนวณ โดยที่โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งไม่ได้ร่วมเจรจาหรือตกลงด้วย จึงถือไม่ได้ว่ามีการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญ เนื่องจากหุ้นส่วนทุกคนไม่ได้ตกลงร่วมกัน แม้หุ้นส่วนบางคนจะเข้าไปเจรจากับจำเลยทั้งสองจนกระทั่งได้รับโอนหลักทรัพย์และเงินลงทุนคืนไปแล้ว และจำเลยทั้งสองอ้างว่าหุ้นส่วนคนอื่นไม่มีใครคัดค้านก็ตาม แต่หุ้นส่วนบางคนที่ไม่ได้เข้าร่วมเจรจานั้น ย่อมไม่ได้ตรวจสอบหรือยืนยันความถูกต้องในการจัดการทรัพย์สินของห้าง ซึ่งอาจเกิดข้อผิดพลาดและปัญหาโต้แย้งกันได้ในภายหลัง พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่ามีการตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันที่จะทำให้ไม่ต้องมีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน และกรณียังมีข้อโต้แย้งกันเรื่องผลเฉลี่ยขาดทุนและการคืนทุน จึงต้องจัดให้มีการชำระบัญชีก่อนเพื่อให้ทราบว่าห้างหุ้นส่วนมีผลประกอบการขาดทุนหรือไม่และมีทรัพย์สินคงเหลือเพียงใด แม้โจทก์จะไม่ได้มีคำขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีมาด้วยก็ตาม แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่คืนเงินลงทุนส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งจะสามารถบังคับชำระได้เมื่อมีการชำระบัญชี ย่อมเห็นความประสงค์ของโจทก์ได้ว่าต้องการให้มีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนด้วยแล้ว ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้มีการชำระบัญชีและตั้งผู้ชำระบัญชีไปเสียทีเดียวได้โดยไม่จำต้องให้โจทก์กลับไปฟ้องเป็นคดีใหม่อีก
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 5,047,260 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจากกองมรดกของนาย ช. ผู้ตาย แก่โจทก์ตามสัดส่วนของเงิน 5,000,000 บาท ที่โจทก์ลงทุน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่เฉลี่ยคืน นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 มีนาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2557 โจทก์และนาย ช. กับเพื่อนร่วมรุ่นวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 56 ตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนร่วมกันออกเงินลงทุน 46,600,000 บาท นำไปซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อนำกำไรมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมของรุ่น ตามบัญชีรายชื่อเพื่อน วปอ. ที่ร่วมลงทุนเล่นหุ้น โดยโจทก์ร่วมลงทุนเป็นเงิน 5,000,000 บาท ส่วนนาย ช.ร่วมลงทุน 10,000,000 บาท โดยนาย ช. ได้เปิดบัญชีออมทรัพย์ และเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์ไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ ชื่อบัญชีนาย ช. แล้วมีการซื้อขายหลักทรัพย์ตลอดมา ต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน 2558 นาย ช.ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนาย ช. วันที่ 21 มีนาคม 2559 จำเลยทั้งสองโอนหลักทรัพย์คงเหลือในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนาย ช. ดังกล่าว 7 รายการ ประกอบด้วย ADVANC (10,000 หุ้น) EA (606,500 หุ้น) GENCO (300,000 หุ้น) IFEC (420,000 หุ้น) IFCE – W2 (105,000 หุ้น) MTLS (300,000 หุ้น) และ SUPER (3,000,000 หุ้น) ไปยังบัญชีกองมรดกของนาย ช. และโอนเงินลงทุนคงเหลือ 9,677,387.07 บาท เข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยทั้งสอง และเดือนกรกฎาคม 2559 จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ช. ตกลงโอนหลักทรัพย์และเงินลงทุนคงเหลือคืนให้แก่ผู้ร่วมลงทุนบางคนตามสัดส่วนของการลงทุนที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้คิดคำนวณ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการแรกว่า จำเลยทั้งสองต้องคืนเงินจากกองมรดกของนาย ช. ให้แก่โจทก์ตามสัดส่วนที่โจทก์ลงทุนไปหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า การที่โจทก์ นาย ช. และกลุ่มเพื่อนร่วมรุ่นวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรตกลงเข้าหุ้นส่วนกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเพื่อทำการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยประสงค์จะนำกำไรที่ได้จากการลงทุนของแต่ละคนมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมของรุ่น หากขาดทุนก็ขาดทุนร่วมกัน เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 ต่อมานาย ช. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวจึงเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1055 (5) และต้องจัดให้มีการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันตามมาตรา 1061 วรรคหนึ่ง ซึ่งการชำระบัญชีนั้นตามมาตรา 1061 วรรคสาม ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำ หรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตั้งแต่งขึ้นนั้นเป็นผู้จัดทำ แต่กลับได้ความจากที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบรับกันว่ามีเพียงหุ้นส่วนบางคนเท่านั้นที่เข้าไปเจรจาตกลงกับจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ช. เกี่ยวกับการจัดการบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลงทุนร่วมกันและได้แสดงหลักฐานการโอนเงินร่วมลงทุน ต่อมาจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ช. ได้ตกลงโอนหลักทรัพย์และเงินลงทุนคงเหลือคืนแก่ผู้ร่วมลงทุนบางคนตามสัดส่วนของการลงทุนที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้คิดคำนวณ โดยที่โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งไม่ได้เข้าร่วมเจรจาหรือตกลงด้วย จึงถือไม่ได้ว่ามีการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญเนื่องจากหุ้นส่วนทุกคนไม่ได้ตกลงร่วมกัน และแม้หุ้นส่วนบางคนจะเข้าไปเจรจากับจำเลยทั้งสองจนกระทั่งได้รับโอนหลักทรัพย์และเงินลงทุนคืนตามสัดส่วนที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้คิดคำนวณไปแล้ว และจำเลยทั้งสองอ้างว่าหุ้นส่วนคนอื่นไม่มีใครคัดค้านก็ตาม แต่หุ้นส่วนบางคนที่ไม่ได้เข้าร่วมเจรจานั้นย่อมไม่ได้ตรวจสอบหรือยืนยันความถูกต้องในการจัดการทรัพย์สินของห้างการจัดการทรัพย์สินระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนบางคนด้วยวิธีการดังกล่าวจึงไม่ได้อยู่ในเจตจำนงหรือความรับรู้ระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนร่วมกันอันอาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาดและปัญหาโต้แย้งกันได้ในภายหลัง พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่ามีการตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันที่จะทำให้ไม่ต้องมีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน ดังนั้น เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันโดยที่ยังไม่ได้มีการชำระบัญชีหรือจัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน และโจทก์ฟ้องเรียกเงินที่ลงทุนไปทั้งหมดคืน 5,000,000 บาท โดยจำเลยทั้งสองโต้แย้งว่าการร่วมลงทุนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มีผลประกอบการขาดทุน ผู้เป็นหุ้นส่วนต้องร่วมเฉลี่ยผลขาดทุนตามสัดส่วนของการลงทุนและจะได้รับคืนทุนตามส่วนที่เหลือ กรณีจึงยังมีข้อโต้แย้งกันเรื่องผลเฉลี่ยขาดทุนและการคืนทุน จึงต้องจัดให้มีการชำระบัญชีก่อนเพื่อให้ทราบว่าห้างหุ้นส่วนมีผลประกอบการขาดทุนจริงหรือไม่และมีทรัพย์สินคงเหลือเพียงใด แม้โจทก์จะไม่ได้มีคำขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีมาด้วยก็ตาม แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่คืนเงินลงทุนส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งจะสามารถบังคับชำระได้เมื่อมีการชำระบัญชี ย่อมเห็นความประสงค์ของโจทก์ได้ว่าต้องการให้มีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนด้วยแล้ว ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้มีการชำระบัญชีและตั้งผู้ชำระบัญชีไปเสียทีเดียวได้ โดยไม่จำต้องให้โจทก์กลับไปฟ้องเป็นคดีใหม่อีก แต่การจะตั้งโจทก์หรือจำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระบัญชีหรือผู้ชำระบัญชีร่วมกัน ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดปัญหาการไม่ร่วมมือกันในการชำระบัญชี เพราะทั้งสองฝ่ายมีข้อพิพาทกันหลายคดี เป็นอุปสรรคแก่การชำระบัญชีและไม่เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย จึงเห็นสมควรแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน ส่วนจำเลยทั้งสองจะต้องคืนเงินจากกองมรดกของนาย ช. ให้แก่โจทก์ตามสัดส่วนที่โจทก์ลงทุนไปหรือไม่ เพียงใด เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการต่อไปในชั้นชำระบัญชี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจากกองมรดกของนาย ช. แก่โจทก์ตามสัดส่วนของเงินที่โจทก์ลงทุนพร้อมด้วยดอกเบี้ยนั้นไม่ต้องความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน และเมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้ว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจากกองมรดกของนาย ช. แก่โจทก์ตามสัดส่วนของเงิน 5,000,000 บาท ที่โจทก์ลงทุนพร้อมดอกเบี้ย ขัดต่อข้อตกลงของผู้เป็นหุ้นส่วนเกี่ยวกับการชำระบัญชีเป็นการไม่ชอบ และเป็นการพิพากษาเกินคำขอขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 หรือไม่อีก เพราะไม่ทำให้ผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้ทำการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญตามฟ้อง และตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พณ.8/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พันตำรวจโท บ. จำเลย - นาง ศ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ช. กับพวก
ชื่อองค์คณะ สุนทร เฟื่องวิวัฒน์ ชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ เสถียร ศรีทองชัย
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสมุทรปราการ - นายมารุต เป้าประยูร ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล