สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 163/2565

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 163/2565

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56, 80 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 84 วรรคท้าย, 226 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ม. 242 วรรคสอง

ได้ความจากร้อยตรี ณ. ว่าวันเกิดเหตุ ชุดปฏิบัติการของพยานเฝ้าระวังอยู่ที่บริเวณแยกหนองสังข์ ส่วนพยานคอยตรวจเส้นทางระหว่างตำบลหนองสังข์ไปยังอำเภอโคกสูง จนกระทั่งเวลา 14 นาฬิกา ได้รับแจ้งจากชุดระวังหน้าว่ามีรถเป้าหมายเข้าพื้นที่เป็นรถกระบะสีขาวและรถกระบะสีบรอนซ์ขับตามกันมา พยานสวนกับรถเป้าหมายจึงกลับรถเพื่อติดตามรถเป้าหมายไป ต่อมาเมื่อจับกุมจําเลยทั้งสี่ ได้ตรวจค้นรถกระบะคันที่จําเลยที่ 1 ขับ ก็พบรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนสี่คันของกลาง ชั้นจับกุมจําเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่าได้รับการว่าจ้างจากลูกค้าไม่ทราบชื่อให้ขนส่งนํารถจักรยานยนต์ทั้งสี่คันมาส่งบริเวณใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา เขตอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว แล้วจะมีคนมารับช่วงนําข้ามไปยังฝั่งประเทศกัมพูชา โดยได้ค่าจ้าง 7,000 บาท ส่วนจําเลยที่ 3 รับว่าจะเป็นผู้รับช่วงต่อจากจําเลยที่ 1 และที่ 2 ในการนํารถจักรยานยนต์ส่งออกไปจําหน่ายยังประเทศกัมพูชา ตามบันทึกการจับกุม ซึ่งคำให้การชั้นจับกุมนี้ แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย จะห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานแต่กฎหมายห้ามมิให้รับฟังเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับเท่านั้น มิได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่น จึงรับฟังบันทึกการจับกุมของจําเลยที่ 3 ประกอบคําเบิกความพยานโจทก์ผู้จับกุมและพยานหลักฐานอื่นที่โจทก์อ้างเป็นพยานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 โดยชอบ เพื่อพิสูจน์ความผิดของจําเลยที่ 1 และที่ 2 ได้

พฤติการณ์ของจําเลยที่ 1 และที่ 2 ที่รับจ้างขนส่งรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนจำนวนมาก แต่อ้างว่าไม่รู้ว่าผู้รับจ้างเป็นใคร กลับส่อแสดงให้เห็นว่าจําเลยที่ 1 และที่ 2 ปกปิดการกระทำความผิดโดยรู้ว่าเป็นการนํารถจักรยานยนต์ทั้งสี่คันของกลางออกนอกราชอาณาจักร และการที่จําเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันนำรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนของกลางบรรทุกมากับรถกระบะ เดินทางจากกรุงเทพมหานคร ไปยังจุดเกิดเหตุ ห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชา เพียง 3 กิโลเมตร เพื่อจะส่งมอบแก่ผู้รับช่วงนํารถจักรยานยนต์ดังกล่าวส่งข้ามชายแดนไปประเทศกัมพูชาถือได้ว่าการกระทำของจําเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จเข้าขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากเจ้าพนักงานพบเห็นและจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียก่อน จําเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร มิใช่ไม่เป็นความผิดเพราะไม่ถึงขั้นลงมือกระทำความผิดดังที่จําเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

การกระทำของจําเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย สร้างความเสียหายในทางเศรษฐกิจและสังคม พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยต้องโทษจําคุกมาก่อน มีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว รวมทั้งเหตุผลความจําเป็นประการอื่น ก็ยังไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษ

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 3, 4, 242 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2488 (ที่ถูก 2489) มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83 นับโทษจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1032/2562 ของศาลจังหวัดระยอง จ่ายสินบนแก่ผู้แจ้งความนำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 4 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83 ความผิดฐานพยายามนำของออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร (ที่ถูก ฐานร่วมกันพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร) กฎหมายบัญญัติให้ระวางโทษเช่นเดียวกันกับผู้กระทำความผิดสำเร็จตามมาตรา 242 วรรคสอง จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 2 ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 กับยกคำขอให้จ่ายสินบนและเงินรางวัล เนื่องจากมิได้มีการริบของกลางและมิได้ลงโทษปรับจำเลย

โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

ระหว่างระยะเวลายื่นฎีกา จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ในวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมยึดได้รถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนสี่คันเป็นของกลาง โดยรถจักรยานยนต์ทั้งสี่คันเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทผู้ให้เช่าซื้อ อยู่ระหว่างผ่อนชำระค่างวด จุดเกิดเหตุ ถนนบ้านสุขสำราญ - ถนนเลียบแนวชายแดน (ศรีเพ็ญ) เป็นพื้นที่หมู่บ้าน ย. อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว ห่างจากชายแดนไทย - กัมพูชา ประมาณ 3 กิโลเมตร สำหรับจำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ส่วนจำเลยที่ 4 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้อง โจทก์ไม่ฎีกา คดีสำหรับจำเลยที่ 4 จึงถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันพยายามกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์แต่ละปากล้วนเป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ไม่รู้จักจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาก่อน โดยร้อยตรีณฐพงษ์ และนายจักรพลต่างเบิกความไปตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุนับแต่ได้รับแจ้งว่าจะมีรถกระบะตู้ทึบบรรทุกรถจักรยานยนต์นำส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศกัมพูชาจนกระทั่งทำบันทึกรายงานต่อผู้บังคับบัญชา แล้วบูรณาการวางแผนการจับกุม และวางกำลังเพื่อคอยสกัดจับ ทั้งยังเบิกความยืนยันสอดคล้องต้องกันถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะสมคบกันเบิกความหรือสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อปรักปรำจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ต้องรับโทษ คำเบิกความพยานโจทก์ดังกล่าวจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ ซึ่งได้ความจากร้อยตรีณฐพงษ์ว่าวันเกิดเหตุ ชุดปฏิบัติการของพยานเฝ้าระวังอยู่ที่บริเวณสี่แยกหนองสังข์ ส่วนพยานคอยตรวจเส้นทางระหว่างตำบลหนองสังข์ไปยังอำเภอโคกสูง จนกระทั่งเวลาประมาณ 14 นาฬิกา ได้รับแจ้งจากชุดระวังหน้าว่ามีรถเป้าหมายเข้าพื้นที่เป็นรถกระบะสีขาวและรถกระบะสีบรอนซ์ขับตามกันมา พยานขับรถออกติดตามทันทีจากอำเภอโคกสูงมุ่งหน้าไปแยกหนองสังข์ เมื่อขับมาถึงแยกเหล่าอ้อย พยานสวนกับรถเป้าหมาย จึงกลับรถเพื่อติดตามรถเป้าหมายไป ต่อมาเมื่อจับกุมจำเลยทั้งสี่ ได้ตรวจค้นรถกระบะคันที่จำเลยที่ 1 ขับ ก็พบรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนสี่คันของกลาง ชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่าได้รับการว่าจ้างจากลูกค้าไม่ทราบชื่อให้ขนส่งนำรถจักรยานยนต์ทั้งสี่คันมาส่งบริเวณใกล้ชายแดนไทย - กัมพูชา เขตอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว แล้วจะมีคนมารับช่วงนำข้ามไปยังฝั่งประเทศกัมพูชา โดยได้ค่าจ้าง 7,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 รับว่าจะเป็นผู้รับช่วงต่อจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการที่จะนำรถจักรยานยนต์ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศกัมพูชา ซึ่งคำให้การชั้นจับกุมนี้ แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย จะห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่กฎหมายห้ามมิให้รับฟังเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับเท่านั้น มิได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่น จึงรับฟังบันทึกการจับกุมของจำเลยที่ 3 ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ผู้จับกุมและพยานหลักฐานอื่นที่โจทก์อ้างเป็นพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 โดยชอบ เพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีรถกระบะตู้ทึบคันที่จำเลยที่ 1 ขับในวันเกิดเหตุไว้สำหรับรับจ้างทั่วไป วันเกิดเหตุรับจ้างจากลูกค้าให้ขนส่งรถจักรยานยนต์ทั้งสี่คันไปส่งให้ญาติที่อำเภอโคกสูง เมื่อขับถึงสี่แยกอำเภอโคกสูงมีร้านสะดวกซื้อ จึงสอบถามเส้นทางไปหมู่บ้าน ค. จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่รู้จักจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้น ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เพราะนอกจากจะมีเฉพาะคำเบิกความลอย ๆ ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซี่งง่ายต่อการกล่าวอ้างแล้ว ยังไม่สอดคล้องต่อคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ให้การโดยละเอียดว่าเมื่อขับรถกระบะไปถึงจังหวัดสระแก้ว จำเลยที่ 2 โทรศัพท์สอบถามทางจากผู้ว่าจ้าง แล้วจำเลยที่ 2 บอกให้จำเลยที่ 1 ขับไปให้ถึงบริเวณร้านสะดวกซื้อ อำเภอโคกสูง จะมีคนมารอรับเพื่อขับนำไปอีกที เมื่อไปถึงร้านสะดวกซื้อดังกล่าว พบรถกระบะมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 อยู่ในรถ จำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 ขับรถตรงไปเรื่อย ๆ โดยรถกระบะของจำเลยที่ 3 ขับตามหลังมา นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีการทำหลักฐานการรับรถจักรยานยนต์ของกลางระหว่างผู้ว่าจ้างกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กันไว้ ทั้งการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ทราบชื่อผู้ว่าจ้างและผู้รับรถจักรยานยนต์ปลายทาง ไม่มีหลักฐานการติดต่อกับผู้ว่าจ้าง หรือเอกสารการรับส่งของใด ๆ นับเป็นเรื่องผิดปกติของผู้รับจ้างทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขนส่งรถจักรยานยนต์ที่ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนถึงสี่คัน ซึ่งมีราคาสูง กลับไม่มีหลักฐานการว่าจ้าง ไม่มีการกำหนดตัวผู้รับสินค้าปลายทาง หากแต่มีผู้คอยบอกทางให้ไปส่งยังสถานที่ที่กำหนดเมื่อถึงจุดนัดหมาย เช่นนี้ นับเป็นเรื่องผิดปกติ ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมต้องทราบดีถึงข้อผิดปกตินั้น ขณะเดียวกันพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่รับจ้างขนส่งรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนจำนวนมาก แต่อ้างว่าไม่รู้ว่าผู้รับจ้างเป็นใคร กลับส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปกปิดการกระทำความผิดโดยรู้ว่าเป็นการนำรถจักรยานยนต์ทั้งสี่คันของกลางออกนอกราชอาณาจักร และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันนำรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนของกลางบรรทุกมากับรถกระบะ เดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังจุดเกิดเหตุ ห่างจากชายแดนไทย – กัมพูชา เพียง 3 กิโลเมตร เพื่อจะส่งมอบแก่ผู้รับช่วงนำรถจักรยานยนต์ดังกล่าวส่งข้ามชายแดนไปประเทศกัมพูชา ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จเข้าขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากเจ้าพนักงานพบเห็นและจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียก่อน จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร มิใช่ไม่เป็นความผิดเพราะไม่ถึงขึ้นลงมือกระทำความผิดดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา ดังนี้ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีน้ำหนักรับฟังได้น้อย ไม่พอรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ รูปคดีรับฟังได้มั่นคงตามพยานหลักฐานของโจทก์โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการสุดท้ายว่า สมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า โทษที่ลงแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 นั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว และการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย สร้างความเสียหายในทางเศรษฐกิจและสังคม พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน มีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว รวมทั้งเหตุผลความจำเป็นประการอื่น ก็ยังไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2747/2564

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดสระแก้ว จำเลย - นาย ด. กับพวก

ชื่อองค์คณะ สถาพร ดาโรจน์ สุนทร เฟื่องวิวัฒน์ เสถียร ศรีทองชัย

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสระแก้ว - นายประสงค์ นะมะพะทะ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 - นายสมศักดิ์ เอี่ยมพลับใหญ่

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE