สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 158/2565

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 158/2565

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/14, 193/15, 193/30, 193/33 (1), 193/33 (2), 383 พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ม. 10

ตามสัญญาและเงื่อนไขที่ระบุในใบสมัครสินเชื่อส่วนบุคคล กำหนดว่า ผู้กู้ตกลงที่จะชำระคืนหนี้ต้นเงินกู้ ตามจํานวนที่ระบุไว้ในใบแจ้งยอดบัญชีพร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนในวันที่ครบกําหนดชําระเงินซึ่งระบุไว้ในใบแจ้งยอดบัญชี โดยผู้กู้จะเลือกชําระคืนต้นเงินกู้ขั้นต่ำในแต่ละเดือนเท่ากับอัตราร้อยละ 5 ของยอดหนี้ที่ธนาคารเรียกเก็บในแต่ละเดือนหรือจํานวน 500 บาท แล้วแต่จํานวนใดจะสูงกว่ากันและ/หรือในอัตราขั้นต่ำอื่น ๆ ที่ธนาคารประกาศกําหนดในแต่ละขณะตามจํานวนที่ธนาคารระบุไว้ในใบแจ้งยอดบัญชีก็ได้ ตามสัญญามีข้อตกลงว่าจำเลยจะต้องชําระค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินโดยแบ่งชําระเป็นงวดรายเดือนในอัตราขั้นต่ำร้อยละ 5 ของยอดหนี้ที่ธนาคารเรียกเก็บในแต่ละเดือน ซึ่งสัญญาตามกําหนดให้จําเลยชําระเพียงจํานวนเงินขั้นต่ำที่ต้องชําระ แม้ธนาคารจะนําไปหักชําระเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยบางส่วน แต่หากจําเลยผิดนัดไม่ชําระหนี้ตามสัญญาและภายในกําหนดจําเลยต้องชําระเบี้ยปรับและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอันเป็นข้อตกลงว่าจําเลยอาจชําระหนี้ในอัตราขั้นสูงเพียงใดก็ได้ และสัญญามิได้กําหนดให้จําเลยต้องผ่อนทุนคืนเป็นเวลากี่งวด สัญญาสินเชื่อส่วนบุคคลจึงไม่มีลักษณะผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ กรณีดังกล่าวจึงมิใช่สิทธิเรียกร้องที่มีกําหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) แต่สิทธิเรียกร้องของโจทก์เช่นนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อจําเลยทําสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า สัญญาฉบับนี้เป็นเพียงการยืนยันความถูกต้องแห่งภาระหนี้ และการผ่อนปรนชําระหนี้ มิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันทําให้หนี้เดิมตามสัญญาสินเชื่อส่วนบุคคลระงับ จึงเป็นกรณีที่จําเลยรับสภาพหนี้ต่อธนาคารเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้นไม่นับเข้าในอายุความ ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตามอายุความสินเชื่อส่วนบุคคลตามมาตรา 193/15 เมื่อจําเลยผิดนัดตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลของจําเลยจากธนาคาร ย. ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องให้จําเลยชําระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2553 และเริ่มนับอายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์นับแต่นั้นมา เมื่อนับถึงวันฟ้องวันที่ 28 ตุลาคม 2562 ไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ

เมื่อธนาคาร ย. เจ้าหนี้เดิมทําสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญาสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีต่อจําเลยให้แก่โจทก์ จําเลยจึงต้องรับผิดในต้นเงินค้างชําระ ส่วนที่โจทก์ขอใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดกับจําเลยในอัตราร้อยละ 28 ต่อปี โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ของจําเลยจากธนาคาร ย. ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามอัตราเดิมที่ธนาคารมีสิทธิคิดจากลูกหนี้ แต่ต้องคิดดอกเบี้ย ณ วันที่ได้รับโอนสินทรัพย์มา ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 เมื่อโจทก์ได้รับโอนสิทธิจากธนาคารเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ประกาศธนาคาร ย. เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยค่าบริการต่าง ๆ และเบี้ยปรับที่สถาบันการเงินอาจเรียกได้ในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กํากับ ฉบับที่ 002/2559 เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2559 ระบุอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชําระหนี้ (ต่อปี) สําหรับสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 28 โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ย ร้อยละ 28 ต่อปี โดยชอบด้วยกฎหมาย ธนาคาร ย. คิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัดอัตราร้อยละ 26.5 ต่อปี การคิดดอกเบี้ยผิดนัดเป็นการกําหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วน ศาลมีอํานาจลดลงได้ตามที่เห็นสมควร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 เห็นควรลดเบี้ยปรับลงเท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 27 ต่อปี นับแต่วันที่จําเลยผิดนัดไม่ชําระหนี้จนกว่าจะชําระเสร็จ แต่เมื่อจําเลยยกอายุความเรื่องดอกเบี้ยค้างชําระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ไว้ในคําให้การ จึงกําหนดให้จําเลยรับผิดชําระดอกเบี้ยแก่โจทก์ก่อนฟ้องไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1)

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 181,617.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงินบัตรเครดิต 25,629.48 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 28 ต่อปี ของต้นเงินสินเชื่อส่วนบุคคล 30,971.40 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ก่อนสืบพยานทนายจำเลยแถลงขอสละประเด็นเรื่องหนังสือมอบอำนาจ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกาโดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551 จำเลยสมัครขอใช้บัตรเครดิตและบัตรสินเชื่อส่วนบุคคลกับธนาคาร ย. ซึ่งได้อนุมัติและออกบัตรเครดิต และบัตรสินเชื่อส่วนบุคคล ให้แก่จำเลย ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2552 จำเลยทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารดังกล่าวยอมรับว่า ณ วันทำสัญญาจำเลยมียอดหนี้ค้างชำระจากการใช้บัตรเครดิต 27,406.79 บาท ธนาคารดังกล่าวยอมให้จำเลยผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน 34 งวด งวดละ 1,000 บาท ภายในวันที่ 30 ของทุกเดือน เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 และกำหนดชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 มกราคม 2556 หากผิดนัดชำระงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดชำระทั้งหมด และจำเลยยอมรับว่า ณ วันทำสัญญาจำเลยมียอดหนี้ค้างชำระจากการใช้บัตรสินเชื่อส่วนบุคคล 31,097.59 บาท ธนาคารดังกล่าวยอมให้จำเลยผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน 39 งวด งวดละ 1,000 บาท ภายในวันที่ 30 ของทุกเดือน เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 และกำหนดชำระให้เสร็จสิ้นในวันที่ 30 มกราคม 2556 หากผิดนัดชำระงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดชำระทั้งหมด หลังจากทำสัญญาแล้วจำเลยผิดนัดชำระหนี้แก่ธนาคารดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2553 ต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ธนาคารดังกล่าวทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยให้แก่โจทก์ และสิทธิเรียกร้องในหนี้จากการใช้บัตรเครดิตของจำเลยได้ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) แล้วเพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกามีว่า สิทธิเรียกร้องตามสัญญาสินเชื่อส่วนบุคคลของจำเลยขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ตามสัญญาสินเชื่อส่วนบุคคล ไม่มีลักษณะผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) ซึ่งมีอายุความ 5 ปี แต่มีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เห็นว่า ตามสัญญาและเงื่อนไขที่ระบุในใบสมัครสินเชื่อส่วนบุคคล ข้อ 5 กำหนดว่า ผู้กู้ตกลงที่จะชำระคืนหนี้ต้นเงินกู้ ตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบแจ้งยอดบัญชีพร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนในวันที่ครบกำหนดชำระเงินซึ่งระบุไว้ในใบแจ้งยอดบัญชี โดยผู้กู้จะเลือกชำระคืนต้นเงินกู้ขั้นต่ำในแต่ละเดือนเท่ากับอัตราร้อยละ 5 ของยอดหนี้ที่ธนาคารเรียกเก็บในแต่ละเดือน หรือจำนวน 500 บาท แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่ากันและ/หรือในอัตราขั้นต่ำอื่น ๆ ที่ธนาคารประกาศกำหนดในแต่ละขณะตามจำนวนที่ธนาคาระบุไว้ใบแจ้งยอดบัญชีก็ได้ ตามสัญญามีข้อตกลงว่าจำเลยจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินโดยแบ่งชำระเป็นงวดรายเดือนในอัตราขั้นต่ำร้อยละ 5 ของยอดหนี้ที่ธนาคารเรียกเก็บในแต่ละเดือน ซึ่งสัญญาตามกำหนด ให้จำเลยชำระเพียงจำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องชำระ แม้ธนาคารจะนำไปหักชำระเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยบางส่วน แต่หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาและภายในกำหนด จำเลยต้องชำระเบี้ยปรับและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอันเป็นข้อตกลงว่าจำเลยอาจชำระหนี้ในอัตราขั้นสูงเพียงใดก็ได้ และสัญญามิได้กำหนดให้จำเลยต้องผ่อนทุนคืนเป็นเวลากี่งวด สัญญาสินเชื่อส่วนบุคคลจึงไม่มีลักษณะผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ กรณีดังกล่าวจึงมิใช่สิทธิเรียกร้องที่มีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) แต่สิทธิเรียกร้องของโจทก์เช่นนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความต่อมาว่า วันที่ 30 ตุลาคม 2552 จำเลยทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารดังกล่าว ภายในกำหนดอายุความดังกล่าว ซึ่งตามข้อ 3 ของสัญญาได้ระบุไว้ชัดเจนว่า สัญญาฉบับนี้เป็นเพียงการยืนยันความถูกต้องแห่งภาระหนี้ และการผ่อนปรนชำระหนี้ มิใช่การแปลงหนี้ใหม่ อันทำให้หนี้เดิมตามสัญญาสินเชื่อส่วนบุคคลระงับ ดังนั้น สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้จึงเป็นกรณีที่จำเลยรับสภาพหนี้ต่อธนาคารอันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้นไม่นับเข้าในอายุความ ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตามอายุความสัญญาสินเชื่อส่วนบุคคล ตามมาตรา 193/15 เมื่อจำเลยผิดนัดตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลของจำเลยจากธนาคาร ย. ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2553 และเริ่มนับอายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์นับแต่นั้นมา เมื่อนับถึงวันฟ้องวันที่ 28 ตุลาคม 2562 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ

เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาว่า จำเลยต้องรับผิดในชำระหนี้ตามสินเชื่อส่วนบุคคล หรือไม่ เพียงใด โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัย ปัญหานี้ เห็นว่า วันที่ 2 กรกฎาคม 2553 มียอดหนี้ค้างชำระเป็นต้นเงิน 30,971.04 บาท เมื่อธนาคาร ย. เจ้าหนี้เดิมทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญาสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีต่อจำเลยให้แก่โจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดในต้นเงินค้างชำระดังกล่าวแก่โจทก์ ส่วนที่โจทก์ขอใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดกับจำเลยในอัตราร้อยละ 28 ต่อปี เห็นว่า ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างธนาคาร ย. กับจำเลย ข้อ 2 ตอนท้ายได้กำหนดว่า หากข้าพเจ้า (หมายถึงจำเลย) ผิดนัดผิดสัญญาไม่ว่าหนี้ประเภทใดจำนวนเงินเท่าใดก็ตาม ข้าพเจ้าตกลงให้ถือว่าสัญญาฉบับนี้สิ้นผลทันที ให้สิทธิธนาคารที่จะเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราสูงสุด สำหรับการผิดสัญญาของสินเชื่อประเภทนั้นๆได้ทันที โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ของจำเลยจากธนาคาร ย. ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามอัตราเดิมที่ธนาคารมีสิทธิคิดจากลูกหนี้แต่ต้องคิดดอกเบี้ย ณ วันที่ได้รับโอนสินทรัพย์มา ตามมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 เมื่อโจทก์ได้รับโอนสิทธิจากธนาคารเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 และข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์โดยจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งฟังได้ว่า ในการคิดดอกเบี้ยจากจำเลย โจทก์อาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศธนาคาร ย. ซึ่งตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส.83/2551 เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ค่าบริการต่างๆ และเบี้ยปรับที่สถาบันการเงินอาจเรียกได้ในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 4 สิงหาคม 2551โดยข้อ 5.2.1 (1) กำหนดให้ธนาคารอาจเรียกเก็บดอกเบี้ยในหนี้ค้างชำระ หรือดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดชำระหนี้ หรือค่าบริการต่างๆ หรือเบี้ยปรับในการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนดจากผู้บริโภค ทั้งนี้ เมื่อคำนวณแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี และประกาศธนาคาร ย. เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ค่าบริการต่าง ๆ และเบี้ยปรับที่สถาบันการเงินอาจเรียกได้ในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ ฉบับที่ 002/2559 เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2559 ระบุ อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (ต่อปี) สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 28 ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 28 ต่อปี โดยชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตามธนาคาร ย. คิดดอกเบี้ยปกติก่อนผิดนัดอัตราร้อยละ 26.5 ต่อปี ตามที่ระบุในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงกว่าดอกเบี้ยปกติที่ไม่ผิดนัด ถือว่าเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงได้ตามที่เห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง จึงเห็นควรลดเบี้ยปรับลงเท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 27 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เมื่อจำเลยยกอายุความเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ก่อนฟ้องไม่เกิน 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1)

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 30,971.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 27 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 ตุลาคม 2562) ย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลา 5 ปี และนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)353/2564

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัทบริหารสินทรัพย์ ช. จำเลย - นาย ส. หรือ พ.

ชื่อองค์คณะ ประสาร กีรานนท์ ประทีป อ่าววิจิตรกุล สันติชัย วัฒนวิกย์กรรม์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแขวงทุ่งสง - นางสาวตุลาพร มุกสิก ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายอมร ศิลปวิวัฒน์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE