คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2565
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1357, 1359, 1373, 1471 (3) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 57 (3) (ข), 59 (1), 84/1, 127
จําเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์และจําเลยมีสินสมรสร่วมกันหลายรายการ สินสมรสบางรายการมีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมถือกรรมสิทธิ์ ขอให้บังคับโจทก์แบ่งทรัพย์สินดังกล่าวให้จําเลยกึ่งหนึ่ง จําเลยขอให้ศาลหมายเรียก ธ. บุตรของโจทก์และจําเลยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) เพื่อให้การจัดการสินสมรสเสร็จไปในคราวเดียวไม่ต้องไปฟ้องร้องกันเป็นคดีใหม่ การที่โจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโดยมิได้แบ่งสัดส่วนการถือกรรมสิทธิ์ ต้องถือว่าโจทก์และโจทก์ร่วมมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินในสัดส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 ประกอบกับมาตรา 1359 บัญญัติว่า เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ การที่จําเลยให้การและฟ้องแย้งและหมายเรียกขอให้บังคับโจทก์และโจทก์ร่วมโอนที่ดินคืนแก่จําเลย จึงถือว่าโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีที่เป็นการชําระหนี้ซึ่งแบ่งแยกกันมิได้ การที่โจทก์ยื่นคําฟ้อง คำให้การแก้ฟ้องแย้ง บัญชีระบุพยาน ถือได้ว่าโจทก์ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาทำการแทนซึ่งกันและกันกับโจทก์ร่วมด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) เมื่อโจทก์ร่วมยอมรับเอาข้อเท็จจริงตามคําฟ้อง คำให้การแก้ฟ้องแย้ง และการดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ในชั้นพิจารณาของโจทก์ทุกประการ จึงเป็นคําคู่ความและการดำเนินการของโจทก์ร่วมด้วย โดยโจทก์ร่วมไม่จำต้องทำคำให้การใหม่เพื่อแก้คำให้การและฟ้องแย้งของจําเลย รวมทั้งพยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบในชั้นพิจารณาหักล้างข้อต่อสู้ของจําเลย ย่อมถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์ร่วมเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนำพยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบมาวินิจฉัยเป็นคุณแก่โจทก์ร่วมจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
ระหว่างสมรสจําเลยโอนที่ดินที่เป็นสินสมรสเฉพาะส่วนของจําเลยให้แก่โจทก์โดยเสน่หาโดยมิได้ระบุเป็นอย่างอื่น จึงต้องถือว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่บังคับเฉพาะกรณีบุคคลภายนอกเป็นผู้ยกทรัพย์สินให้เท่านั้น แต่ได้รวมถึงกรณีสามีภริยายกทรัพย์สินให้แก่กันในระหว่างสมรสด้วย ส่วนที่ดินที่มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารทางราชการที่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในทะเบียนที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ประกอบกับ ป.วิ.พ. มาตรา 127 บัญญัติว่า เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง จึงเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนําสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ดังนั้น โจทก์และโจทก์ร่วมจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อจําเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เหตุที่มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน เนื่องจากโจทก์ออกอุบายให้จําเลยยกที่ดินเฉพาะส่วนของจําเลยให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้บุคคลภายนอกฟ้องบังคับชําระหนี้เอาจากจําเลย เท่ากับจําเลยให้การและฟ้องแย้งต่อสู้ว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์และโจทก์ร่วม แต่เป็นสินสมรสของจําเลยและโจทก์ร่วม จําเลยจึงมีหน้าที่นําสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 และมาตรา 127
คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันมากับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 445/2561 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ขก 10 และที่ดินโฉนดเลขที่ 47170 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา หรือให้จำเลยรับเงิน 204,684 บาท แทนการแบ่งกรรมสิทธิ์ในรถยนต์และที่ดินดังกล่าวแล้วให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์และที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การแก้ไขคำให้การ ฟ้องแย้งและแก้ไขฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์แบ่งทรัพย์สินดังกล่าวแก่จำเลยกึ่งหนึ่ง หากแบ่งไม่ได้ให้โจทก์และจำเลยขายทรัพย์สินดังกล่าว โดยการประมูลราคากันเอง หากตกลงกันไม่ได้ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันคนละกึ่งหนึ่ง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนาย ธ. เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ข) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
โจทก์ร่วมให้การขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และบังคับตามฟ้องแย้งของจำเลย ให้โจทก์ร่วมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ร่วมตามโฉนดเลขที่ 54899, 64875, 118185, 138556 ให้แก่โจทก์ และที่ดินโฉนดเลขที่ 138557 ทั้งแปลงให้แก่โจทก์ แล้วให้โจทก์แบ่งให้แก่จำเลยพร้อมกับที่ดินโฉนดเลขที่ 47170 รถยนต์ หมายเลขทะเบียน ขก 10 และ ขก 20 กึ่งหนึ่ง รวมมูลค่าสินสมรสทั้งสิ้น 4,359,018 บาท หากแบ่งไม่ได้ให้ประมูลกันเองระหว่างโจทก์และจำเลย หากไม่สามารถประมูลกันเองได้ให้นำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันฝ่ายละกึ่งหนึ่ง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 64875, 118185, 138556 และ 138557 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งส่วนคำฟ้องและคำฟ้องแย้งระหว่างโจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า ก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ จำเลยเคยจดทะเบียนสมรสกับนางโพธิ์ศรี มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นายวิทยา ต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2528 โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ โจทก์ร่วม วันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 โจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่ากัน โจทก์และโจทก์ร่วมมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 64875 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้าน ที่ดินโฉนดเลขที่ 138556 และ 138557 และที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 47170 และที่ดินโฉนดเลขที่ 54899 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้าน เป็นสินสมรสของโจทก์และจำเลย
คดีมีปัญหาตามฎีกาที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการแรกว่า โจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมให้การแก้ฟ้องแย้งไม่ชัดแจ้ง ไม่มีประเด็นที่จะนำสืบ กรณีต้องถือว่าโจทก์ร่วมถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 64875, 138556, 138557 และ 118185 แทนจำเลย ต้องส่งมอบคืนแก่จำเลย และการที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนำเอาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาวินิจฉัยเป็นคุณแก่โจทก์ร่วม เป็นการมิชอบ โดยจำเลยฎีกาว่า อุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วม ไม่ได้ให้การแก้ข้อที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเรื่องคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ร่วม ประเด็นเรื่องคำให้การไม่ชัดแจ้งของโจทก์ร่วม จึงไม่ใช่ข้อที่โจทก์ร่วมยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ ปัญหาเรื่องคำให้การไม่ชัดแจ้งของโจทก์ร่วมจึงยุติไปแล้ว โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 64835, ที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 ที่ดินโฉนดเลขที่ 138556 และ 38557 ให้การเพียงว่า โจทก์ร่วมเป็นบุตรของโจทก์และจำเลย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 บัญญัติห้ามไม่ให้ผู้ใดฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งและคดีอาญา จึงเป็นคดีอุทลุมต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง คำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ร่วมจึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบ โจทก์ร่วมมิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน และไม่ได้นำพยานเข้าสืบ การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษรับฟังเอาประเด็นพิพาทซึ่งมีแต่เฉพาะของโจทก์มาถือเอาเป็นประเด็นพิพาทของโจทก์ร่วมไปด้วย และรับฟังเอาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ร่วม เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงนอกประเด็น ต้องห้ามมิให้รับฟัง คดีต้องฟังว่า โจทก์ร่วมได้ยอมรับว่า เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนจำเลย นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า คดีนี้จำเลยเป็นผู้ยื่นคำร้องลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกนาย ธ. บุตรของโจทก์และจำเลยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ข) วันที่ 21 กันยายน 2561 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ให้หมายเรียกนาย ธ. เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ในวันเดียวกัน ศาลชั้นต้นออกคำสั่งเรียกตัวความถึงโจทก์ร่วม ระบุเป็นใจความว่า "ด้วยคดีเรื่องนี้ ให้เรียกนาย ธ. เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมและสืบ พยานจำเลยในวันที่ 9 ตุลาคม 2561" เห็นว่า จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์และจำเลยมีสินสมรสร่วมกันหลายรายการ คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 54899 และ 64875 พร้อมบ้าน มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมถือกรรมสิทธิ์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมถือกรรมสิทธิ์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 138556, 138557 มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมถือกรรมสิทธิ์ เหตุที่มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวเนื่องจากโจทก์ออกอุบายให้จำเลยยกที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์ และโจทก์กับจำเลยมอบหมายให้นายชัชวาล นำเงินสินสมรสไปซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 แทนโจทก์และจำเลย เพื่อไม่ให้บริษัท ฮ. ฟ้องบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลย จึงขอให้บังคับให้โจทก์แบ่งทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่ง และเหตุที่จำเลยขอให้ศาลเรียกนาย ธ. เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม เพื่อให้การจัดการสินสมรสเสร็จไปในคราวเดียวไม่ต้องไปฟ้องร้องกันเป็นคดีใหม่ ดังนั้น การที่โจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 64875, 118185, 138556 และ 138557 ร่วมกัน 4 แปลง โดยมิได้แบ่งสัดส่วนการถือกรรมสิทธิ์นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 บัญญัติว่า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้เป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากัน จึงต้องถือว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินทุกแปลงดังกล่าวในสัดส่วนเท่ากัน ประกอบกับมาตรา 1359 บัญญัติว่า เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ การที่จำเลยให้การและฟ้องแย้งและหมายเรียกขอให้บังคับโจทก์และโจทก์ร่วมโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 64875, 118185, 138556 และ 138557 คืนแก่จำเลย จึงถือว่าโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีที่เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 บัญญัติต่อไปว่า "…ห้ามมิให้ถือว่า บุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกกันมิได้ หรือได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ดังนั้นโดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้ (1) บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดย หรือทำต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้นให้ถือว่าได้ทำโดย หรือทำต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทำไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่น ๆ…" ซึ่งกระบวนพิจารณาหมายความรวมถึงการยื่นฟ้อง ยื่นคำให้การ ยื่นบัญชีระบุพยาน และนำพยานหลักฐานเข้าสืบในประเด็นข้อต่อสู้ตามคำคู่ความที่ได้ตั้งประเด็นไว้ ดังนั้น เมื่อมูลแห่งหนี้ที่โจทก์และโจทก์ร่วมต้องชำระคดีนี้ แบ่งแยกจากกันมิได้ การที่โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ยื่นบัญชีระบุพยาน ถือได้ว่าโจทก์ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาทำแทนซึ่งกันและกันกับโจทก์ร่วมด้วย เมื่อโจทก์ร่วมยอมรับเอาข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การแก้ฟ้องแย้งและการดำเนินการต่าง ๆ ในชั้นพิจารณาของโจทก์ทุกประการ คำฟ้อง คำให้การแก้ฟ้องแย้งและกระบวนพิจารณาของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นคำคู่ความและการดำเนินการของโจทก์ร่วมด้วย โดยโจทก์ร่วมไม่จำต้องจัดทำคำให้การใหม่เพื่อแก้คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลย รวมทั้งพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาหักล้างข้อต่อสู้พยานหลักฐานของจำเลย ย่อมถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์ร่วมด้วยเช่นกัน โจทก์ร่วมจึงไม่จำต้องอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมให้การแก้ฟ้องแย้งไม่ชัดแจ้ง ไม่มีประเด็นที่จะนำสืบ กรณีจึงไม่อาจแปลความว่าโจทก์ร่วมถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 118185, 64857, 138556 และ 138557 แทนจำเลย ต้องส่งมอบคืนแก่จำเลย ดังที่จำเลยฎีกา แต่เป็นหน้าที่ของจำเลยต้องนำสืบพยานหลักฐานให้ได้ความตามข้อต่อสู้ของตน การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเอาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาวินิจฉัยเป็นคุณแก่โจทก์ร่วม จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการต่อมาคือ ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นำสืบประเด็นพิพาทตกแก่ฝ่ายโจทก์มิใช่จำเลย เพราะจำเลยได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่า กรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์อ้างว่า จำเลยยกที่ดินโฉนดเลขที่ 64875, 138556 และ 138557 รวม 3 โฉนด ให้แก่โจทก์โดยเสน่หา และโจทก์ยอมรับว่าที่ดินทั้ง 3 แปลง ได้มาระหว่างสมรส และที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 เป็นที่ดินที่โจทก์และจำเลยมอบหมายให้นายชัชวาลนำเงินสินสมรสไปซื้อแทนโจทก์และจำเลยเพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้บริษัท ฮ. ฟ้องบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลย จึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคสอง ที่ว่า ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นสินสมรส แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 จะบัญญัติว่า ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ตามสารบัญจดทะเบียนในโฉนดนั้นถูกต้องก็ตาม แต่คดีนี้พิพาทกันเรื่องแบ่งสินสมรส เมื่อโจทก์อ้างว่าไม่ใช่สินสมรส ภาระพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 บัญญัติว่า สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน "…(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา…" เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยตรงกันว่า ระหว่างสมรสจำเลยโอนที่ดินที่เป็นสินสมรสเฉพาะส่วนของจำเลยในที่ดินโฉนดเลขที่ 64875, 138556 และ 138557 ทั้ง 3 แปลง ให้แก่โจทก์โดยเสน่หาโดยมิได้ระบุเป็นอย่างอื่น จึงต้องถือว่า ที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่บังคับเฉพาะกรณีบุคคลภายนอกเป็นผู้ยกทรัพย์สินให้เท่านั้น แต่ได้รวมถึงกรณีสามียกทรัพย์สินให้แก่กันในระหว่างสมรสด้วย ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน เมื่อที่ดินทั้ง 4 แปลง มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินเป็นเอกสารของทางราชการที่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในทะเบียนที่ดิน ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ประกอบกับโฉนดที่ดินทั้ง 4 แปลง มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1 วรรคสอง บัญญัติว่า เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น…ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ดังนั้น โจทก์และโจทก์ร่วมจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เหตุที่มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินทั้ง 4 แปลง เนื่องจากโจทก์ออกอุบายให้จำเลยยกที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลย 3 แปลง ให้แก่โจทก์กับโจทก์ร่วม และจำเลยให้นายชัชวาลซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 แทนโจทก์และจำเลยแล้วใส่ชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้บริษัท ฮ. ฟ้องบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลย เท่ากับจำเลยให้การและฟ้องแย้งต่อสู้ว่า ที่ดินทั้ง 4 แปลงดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์และโจทก์ร่วม แต่เป็นสินสมรสของจำเลยและโจทก์ร่วมกัน จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 และมาตรา 127 ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า จำเลยมีภาระการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการสุดท้ายคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 64875 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินโฉนดเลขที่ 138556 และ 138557 และที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยตามโฉนดเลขที่ 64875, 138556 และ 138557 ไว้แทนจำเลย และไม่เชื่อว่านายชัชวาลนำเงินสินสมรสของโจทก์และจำเลยไปซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 ไว้แทนโจทก์และจำเลย ที่ดินโฉนดเลขที่ 54899 ที่จำเลยและโจทก์เคยให้นายชัชวาลซื้อไว้แทนเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549 และโอนขายให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมในวันที่ 29 มีนาคม 2553 ขณะที่นายชัชวาลซื้อที่ดินแปลงนี้ โจทก์ร่วมอายุเพียง 14 ปี เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โจทก์อ้างว่า โจทก์ร่วมและนายชัชวาลเป็นพวกรักร่วมเพศ จึงมีการโอนที่ดินให้กัน ไม่สมด้วยเหตุผล เช่นเดียวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 ก็กระทำแบบเดียวกันคือ เป็นการให้นายชัชวาลซื้อที่ดินไว้แทนโจทก์และจำเลยตามอุบายของโจทก์ โจทก์ทราบดีว่า จำเลยกับนายวิทยา บุตรจำเลย และห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. เป็นหนี้ทางการค้าบุคคลภายนอก นายวิทยาถูกฟ้องล้มละลาย ต้องไปทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้น การที่นายชัชวาลเป็นผู้รับโอนที่ดินจึงฟังได้เพียงว่า นายชัชวาลเป็นตัวแทนของโจทก์และจำเลย ที่ดินโฉนดเลขที่ 64875, 118185, 138556 และ 138557 ทั้ง 4 แปลง จำเลยให้โจทก์ร่วมถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้ โจทก์มีเจตนาจะฉ้อฉลเอาเป็นของตนฝ่ายเดียว จึงได้มีการทำนิติกรรมโอนกันไปมาระหว่างโจทก์และโจทก์ร่วมหลายครั้งโดยไม่มีค่าตอบแทน นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสอยู่กินเป็นสามีภริยากันตั้งแต่เดือนมีนาคม 2528 จนถึงปี 2550 หลังจากอยู่กินกันเป็นเวลาประมาณ 22 ปี เพิ่งปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่า โจทก์และจำเลยร่วมกันซื้อที่ดิน 4 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 64875 จากนางยุ่น เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2547 วันที่ 19 มีนาคม 2550 จำเลยโอนที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์ วันที่ 10 กรกฎาคม 2558 โจทก์โอนที่ดินทั้งแปลงให้แก่โจทก์ร่วม วันที่ 14 เดือนปีเดียวกัน โจทก์ร่วมยินยอมให้โจทก์เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงดังกล่าวกึ่งหนึ่ง ที่ดินโฉนดเลขที่ 47170 โจทก์และจำเลยซื้อจากนายวินัย เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 ที่ดินโฉนดเลขที่ 138556 และ 138557 โจทก์และจำเลยซื้อจากนางหนูคล้าย และนายเริงชัย เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2546 และวันที่ 4 กันยายน 2546 ตามลำดับ วันที่ 19 มีนาคม 2550 จำเลยโอนที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์ทั้ง 2 แปลง วันที่ 10 กรกฎาคม 2550 โจทก์โอนที่ดินทั้ง 2 แปลง ให้แก่โจทก์ร่วม วันที่ 14 เดือนปีเดียวกัน โจทก์ร่วมยินยอมให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวกึ่งหนึ่ง โดยโจทก์เบิกความว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 64875, 138556 และ 138557 เดิมโจทก์และจำเลยร่วมกันซื้อด้วยกัน จดทะเบียนถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2550 จำเลยจดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของตนให้แก่โจทก์โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนและจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 เดิมนายชัชวาลเป็นผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากนางสุธรรม ต่อมาวันที่ 29 มีนาคม 2553 นายชัชวาลจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งแปลงให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมโดยเสน่หา เนื่องจากนายชัชวาลได้คบหามีความรักใคร่กับโจทก์ร่วมในลักษณะชายรักชาย เมื่อนายชัชวาลต้องย้ายไปทำงานต่างจังหวัดจึงยกที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ร่วมอีก 1 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 54899 นายชัชวาลต้องการยกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ร่วม แต่เนื่องจากโจทก์ร่วมอายุไม่มากเกรงว่าโจทก์ร่วมจะรักษาที่ดินไว้ไม่ได้ จึงใส่ชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ส่วนจำเลยนำสืบว่า ในปี 2549 จำเลยและนายวิทยาถูกบริษัท ฮ. ติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ และฟ้องบังคับชำระหนี้ค่าวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นคดีแพ่ง และนายวิทยายังถูกฟ้องคดีอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค รวมเป็นเงินกว่า 1,000,000 บาท ตามสำเนาคำพิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่นคดีหมายเลขแดงที่ 2247/2551 ด้วยความกลัวว่าทรัพย์สินของจำเลยและโจทก์จะถูกบังคับชำระหนี้ โจทก์จึงออกอุบายให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 64875, 138556 และ 138557 รวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 ที่นายชัชวาลเป็นผู้ซื้อที่ดินแทนโจทก์และจำเลย เพื่อหลบหลีกการฟ้องร้องบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากเจ้าหนี้ดังกล่าว เห็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 64875, 138556 และ 138557 ทั้ง 3 แปลง เป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยซื้อมาในระหว่างสมรสด้วยเงินที่เป็นสินสมรสของทั้งสองฝ่าย การที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะทำนิติกรรมยกกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของตนเองให้แก่บุคคลอื่น ย่อมจะต้องมีมูลเหตุจูงใจหรือเหตุผลสนับสนุนที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ จำเลยนำสืบว่า โจทก์รู้ว่าจำเลยและนายวิทยาเป็นหนี้บริษัท ฮ. และบริษัทดังกล่าวอยู่ระหว่างติดตามทวงถามให้ชำระหนี้และฟ้องบังคับชำระหนี้ จึงเป็นมูลเหตุจูงใจให้จำเลยต้องโอนที่ดินสินสมรสในส่วนของตนให้แก่โจทก์โดยเสน่หาเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับชำระหนี้ในภายหลัง ส่วนโจทก์เบิกความว่า จำเลยยกที่ดินสินสมรสในส่วนของจำเลยให้โจทก์โดยเสน่หาและตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า โจทก์ไม่เคยทราบว่า จำเลยมีหนี้สินอะไรบ้างเนื่องจากไม่เคยเห็นหมายบังคับคดีปิดที่บ้านโจทก์ โจทก์ไม่เคยทราบว่า จำเลยประกอบธุรกิจกับบุตรชายแล้วมีปัญหาขาดทุนและถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้อง รวมทั้งโจทก์ไม่เคยไปปรึกษาทนายความเกี่ยวกับหนี้สินของบริษัท ฮ. แต่ปรากฏว่า ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 115/2558 ที่โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น โจทก์ได้เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ว่า เหตุที่นายวิทยาเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาเพราะว่า นายวิทยาเปิดร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้าแล้วออกเช็คจนผิดนัดชำระหนี้จึงถูกฟ้องดำเนินคดีอาญาในคดีเช็คและถูกฟ้องล้มละลาย โจทก์เป็นผู้ดำเนินการในคดีดังกล่าวให้แก่นายวิทยา นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากสำเนาคำพิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2247/2551 ระหว่าง บริษัท ฮ. โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ที่ 1 นายวิทยา ที่ 2 นาย ส. (จำเลยในคดีนี้) ที่ 3 จำเลย ซึ่งศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2551 ได้ความว่าจำเลยทั้งสามได้สั่งซื้อสินค้าประเภทหลอดไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าไปจากเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หลายรายการ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2548 ถึงเดือนพฤษภาคม 2549 และชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 10 เมษายน 2550 และศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน 997,585.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 904,642.46 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 สิงหาคม 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จากคำเบิกความของโจทก์และผลคำพิพากษา แสดงว่า ในระหว่างปี 2548 ถึงปี 2550 เป็นต้นมา โจทก์ทราบเป็นอย่างดีว่า จำเลยและนายวิทยาบุตรจำเลยเป็นหนี้ทางการค้าบริษัท ฮ. โจทก์จึงได้ขวนขวายช่วยเหลือนายวิทยาเพื่อบรรเทาภาระหนี้และปัญหาที่ถูกฟ้องร้อง โดยเฉพาะจำเลยในคดีนี้ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 เชื่อว่าทั้งโจทก์ จำเลยและนายวิทยาในฐานะเป็นสามีภริยากันและเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ย่อมรู้ถึงฐานะทางการเงินของครอบครัว ขีดความสามารถในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ และอยู่ในวิสัยที่คาดหมายได้ตั้งแต่ก่อนถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2247/2551 แล้วว่า ยอดหนี้จำนวนมากเช่นนี้ จำเลยและนายวิทยาไม่สามารถชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้อย่างแน่นอน เนื่องจากไม่มีเงินเพียงพอ แล้วจะต้องถูกเจ้าหนี้ทวงถามและฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลเพื่อบังคับชำระหนี้ภายในอายุความเร็ววัน เมื่อจำเลยและนายวิทยาเป็นหนี้จริงโอกาสที่จะชนะคดีย่อมเป็นไปได้ยาก การที่จำเลยแพ้คดีและไม่สามารถชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์และจำเลยย่อมคาดหมายต่อไปได้ว่าจะต้องถูกเจ้าพนักงานบังคับคดีติดตามยึดทรัพย์สินของจำเลยตามคำขอของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ซึ่งทรัพย์สินที่จะสามารถนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาก็คือ สินสมรสในส่วนที่เป็นของจำเลยนั่นเองและการบังคับคดีดังกล่าวย่อมจะต้องกระทบกระเทือนถึงสินสมรสในส่วนของโจทก์ด้วย เมื่อพิจารณาวันที่จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 64875, 138556 และ 138557 ที่เป็นสินสมรสเฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์ ปรากฏว่าเป็นการโอนที่ดินทุกแปลงที่เป็นสินสมรสของโจทก์และจำเลยในวันเดียวกันคือวันที่ 19 มีนาคม 2550 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่จำเลยกับนายวิทยาเป็นลูกหนี้บริษัท ฮ. และก่อนถูกฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2247/2551 ประมาณ 1 ปี 4 เดือน พฤติการณ์ที่จำเลยโอนที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นสินสมรสของตนให้แก่โจทก์ในช่วงเวลาที่ตกเป็นลูกหนี้และใกล้จะถูกฟ้องร้องเป็นคดีแพ่ง มีเหตุผลสนับสนุนให้เชื่อว่า เป็นเพราะโจทก์และจำเลยทราบดีว่า หากปล่อยให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเป็นคดีในอนาคต และจำเลยตกเป็นผู้แพ้คดี ย่อมจะต้องถูกบังคับคดีด้วยวิธียึดที่ดินเป็นสินสมรสของโจทก์และจำเลย อันมีผลกระทบกระเทือนต่อความสงบสุข มั่นคงและความเป็นอยู่ในครอบครัว จึงเป็นมูลเหตุจูงใจให้โจทก์และจำเลยตัดสินใจร่วมกันยินยอมให้จำเลยยกที่ดินส่วนที่เป็นสินสมรสทั้ง 3 แปลง ของจำเลยให้แก่โจทก์โดยเสน่หา เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ในอนาคตนั่นเองข้อเท็จจริงยังปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยว่า โจทก์และจำเลยมีที่ดินสินสมรสอีก 1 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 47170 ที่โจทก์และจำเลยซื้อมาจากนายวินัย เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 โฉนดที่ดินดังกล่าวระบุชื่อโจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยโอนยกให้โจทก์โดยเสน่หาเฉกเช่นที่ดินแปลงก่อน ๆ หากจำเลยมีความเสน่หาในตัวโจทก์จริง จำเลยก็สมควรยกที่ดินในส่วนสินสมรสของตนให้แก่โจทก์ด้วยเช่นกัน การที่จำเลยมิได้ปฏิบัติดังเช่นในอดีต น่าเชื่อว่าเป็นเพราะจำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่บริษัท ฮ. ครบถ้วนแล้วไม่มีเหตุให้เกรงว่าจะมีการยึดเอาที่ดินสินสมรสแปลงนี้เพื่อบังคับชำระหนี้ในอนาคต ข้อที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยยกที่ดินในส่วนที่เป็นสินสมรสของจำเลยให้แก่โจทก์โดยเสน่หาก็ไม่ปรากฏเหตุผลพิเศษจากทางนำสืบหรือคำแก้ฎีกาของโจทก์แต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์ในข้อนี้ จึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 64875 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินโฉนดเลขที่ 138556 และ 138557 เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 118185 เป็นที่ดินที่โจทก์และจำเลยมอบหมายให้นายชัชวาล นำเงินสินสมรสไปซื้อแทนโจทก์และจำเลยเพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้บริษัท ฮ. ฟ้องบังคับชำระหนี้ ซึ่งเป็นหนี้ร่วมของโจทก์และจำเลย ต่อมานายชัชวาลได้โอนที่ดินกลับคืนมาเป็นชื่อโจทก์และโจทก์ร่วม พฤติการณ์และการปฏิบัติของโจทก์และโจทก์ร่วมที่มีการโอนใส่ชื่อนายชัชวาลก่อน เป็นวิธีการเดียวกันกับการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 54899 ส่วนโจทก์นำสืบว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 และ 54899 นายชัชวาลเป็นผู้ซื้อที่ดินทั้ง 2 แปลง ต่อมานายชัชวาลจดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมโดยเสน่หา ไม่มีค่าตอบแทน เนื่องจากนายชัชวาลคบหามีความรักใคร่โจทก์ร่วมในลักษณะชายรักชาย เมื่อนายชัชวาลจะต้องย้ายไปทำงานต่างจังหวัดจึงต้องการยกที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่โจทก์ร่วม แต่เนื่องจากโจทก์ร่วมอายุยังไม่มาก นายชัชวาลเกรงว่าจะรักษาที่ดินทั้ง 2 แปลงไว้ไม่ได้ จึงจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า นายชัชวาลซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 จากนางสุธรรม เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ในราคา 600,000 บาท ต่อมาวันที่ 29 มีนาคม 2553 นายชัชวาลทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินแก่โจทก์และโจทก์ร่วมโดยระบุในหนังสือสัญญาข้อ 5 ว่า ผู้ให้ยกให้ด้วยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเนื่องจากผู้รับการให้เป็นญาติลูกพี่ลูกน้องของผู้ให้ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 54899 นายชัชวาลซื้อจากธนาคาร เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549 ในราคา 587,000 บาท แล้วโอนให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2553 ในราคา 150,000 บาท เห็นว่า นายชัชวาลเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า รู้จักโจทก์ร่วมมาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงปีที่จำเลยและนายวิทยากำลังประสบปัญหาถูกเจ้าหนี้ทวงถามให้ชำระหนี้และกำลังจะถูกฟ้องคดี นายชัชวาลได้ซื้อที่ดินแปลงแรก คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 54899 ในวันที่ 4 กันยายน 2549 แล้วทำนิติกรรมโอนขายให้โจทก์ในวันที่ 29 มีนาคม 2553 โดยนายชัชวาลอ้างว่ามีเจตนาโอนให้โจทก์ร่วมโดยเสน่หา แต่เกรงว่าครอบครัวตนเองจะสงสัยและทราบว่ามีความสัมพันธ์กับโจทก์ร่วมแบบชายรักชาย จึงแกล้งจดทะเบียนโอนขายให้แก่โจทก์ในราคา 150,000 บาท ซึ่งความจริงโจทก์ไม่ได้ชำระเงินแก่นายชัชวาล ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 นายชัชวาลตั้งใจโอนที่ดินให้แก่โจทก์ร่วมเพียงผู้เดียวโดยเสน่หา แต่ขณะนั้นโจทก์ร่วมอายุ 19 ปี ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เกรงจะรักษาที่ดินเอาไว้ไม่ได้ จึงโอนให้โจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างว่า นายชัชวาลมีความรักใคร่เสน่หาโจทก์ร่วมแบบชายรักชาย แม้จะมีนายชัชวาลมาเบิกความรับรองสนับสนุน รวมทั้งโจทก์และนายชัชวาลยืนยันถึงความรักที่นายชัชวาลมีต่อโจทก์ร่วมอย่างมากมาย ถึงขนาดนายชัชวาลยอมเสียสละยกทรัพย์สินของตนเองเป็นที่ดิน 2 แปลง ที่มีมูลค่าถึง 1,147,800 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมโดยเสน่หาก็ตาม แต่ในทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอันใดว่าหลังจากโจทก์และโจทก์ร่วมรับการยกให้ที่ดินทั้ง 2 แปลงจากนายชัชวาลแล้ว โจทก์หรือโจทก์ร่วมเคยมีการแสดงน้ำใจไมตรีตอบแทนหรือขอบคุณนายชัชวาล ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือการแสดงออกอย่างไรบ้าง รวมทั้งหากโจทก์ร่วมกับนายชัชวาลมีความสนิมสนมกันเป็นพิเศษดังที่กล่าวอ้างในทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่สนับสนุนให้เห็นถึงความสัมพันธ์พิเศษดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างถ้อยคำที่เคยมีการติดต่อสื่อสารถึงกัน รูปภาพของนายชัชวาลกับโจทก์ร่วมที่เคยถ่ายภาพร่วมกันหรือกิจกรรมที่นายชัชวาลกับโจทก์ร่วมเคยทำร่วมกัน ประการต่อมา หากนายชัชวาลต้องการจะยกที่ดินให้แก่โจทก์ร่วมแต่เพียงผู้เดียวโดยเสน่หาจริง ย่อมไม่มีเหตุผลที่จะโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 ใส่ชื่อโจทก์ด้วย เพราะนายชัชวาลสามารถโอนที่ดินเป็นชื่อโจทก์ร่วมเพียงผู้เดียวซึ่งจะเป็นการปลอดภัยกว่าการโอนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย เนื่องจากขณะรับโอน โจทก์ร่วมยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่สามารถทำนิติกรรมจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ได้โดยลำพัง ต้องขออนุญาตจากศาลตามกฎหมายเสียก่อน ข้อเท็จจริงดังกล่าว นายชัชวาลสามารถปรึกษาผู้รู้ทางกฎหมายหรือสอบถามเจ้าพนักงานที่ดินก่อนทำนิติกรรม การโอนได้ รวมทั้งข้อที่โจทก์อ้างว่า เหตุผลที่นายชัชวาลต้องโอนที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่โจทก์ร่วม เนื่องจากนายชัชวาลจะต้องย้ายไปทำงานที่จังหวัดอื่น ในข้อนี้ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในช่วงที่มีการโอนที่ดินดังกล่าวนายชัชวาลต้องย้ายไปทำงานจังหวัดใด อีกทั้งจากคำเบิกความของนายชัชวาลก็ไม่ปรากฏว่า นายชัชวาลโอนที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมเพราะเหตุผลดังกล่าวด้วย ข้อนำสืบของโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อย และไม่สมด้วยเหตุผล นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยต่อไปว่า โจทก์ร่วมไม่เคยมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ เนื่องจากจำเลยเคยเห็นโจทก์ร่วมมีคนรักเป็นผู้หญิงและไม่มีรสนิยมรักร่วมเพศ ส่วนนายชัชวาลไม่เคยเป็นคู่รักแบบชายรักชายกับโจทก์ร่วม ปัจจุบันนายชัชวาลได้สมรสแล้วกับนางสาวนาตยา และมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กหญิงอชิรญาณ์ แม้ข้อมูลทะเบียนครอบครัว จะระบุว่า นายชัชวาลจดทะเบียนสมรสกับนางสาวนาตยา วันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ก็ตาม แต่จากแบบรับรองทะเบียนราษฎร ระบุว่า เด็กหญิงอชิรญาณ์ เกิดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2557 แสดงว่า นายชัชวาลได้อยู่กินเป็นสามีภริยากับนางสาวนาตยาตั้งแต่ปี 2556 ก่อนที่จะให้กำเนิดบุตร นายชัชวาลเพิ่งโอนที่ดินให้แก่โจทก์ร่วมในเดือนมีนาคม 2553 ก่อนที่จะไปมีคู่สมรสใหม่เพียง 3 ปี จึงไม่น่าเชื่อว่า นายชัชวาลจะโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 มูลค่า 600,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมโดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน ด้วยมูลเหตุจูงใจมาจากนายชัชวาลคบหากับโจทก์ร่วมแบบชายรักชาย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามทางนำสืบของจำเลยว่า นายชัชวาลเป็นผู้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 แทนโจทก์และจำเลย แล้วใส่ชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน โดยนายชัชวาลได้ทำนิติกรรมโอนให้โจทก์และโจทก์ร่วมในรูปแบบเดียวกันกับที่เคยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 54899 ให้แก่โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนไว้ก่อน ดังนั้น แม้นายชัชวาลโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 ในวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ภายหลังจากที่จำเลยกับนายวิทยาชำระหนี้ บริษัท ฮ. ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นช่วงเวลาต่อเนื่องจากเวลาที่จำเลยเพิ่งชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ไม่เกิน 5 เดือน อยู่ในวิสัยที่จำเลยและโจทก์อาจต้องการป้องกันความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นกับที่ดินที่จะซื้อใหม่ ประการสำคัญก็คือ เมื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานระหว่างเหตุผลว่า นายชัชวาลมีเจตนาซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 ให้แก่โจทก์ร่วมโดยเสน่หาเนื่องจากนายชัชวาลมีความรักใคร่โจทก์ร่วมแบบชายรักชาย จึงโอนที่ดินใส่ชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 จึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์และโจทก์ร่วม กับเหตุผลที่ว่านายชัชวาลมีเจตนาซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 แทนโจทก์และจำเลย แม้จะเป็นการซื้อภายหลังจากจำเลยชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ครบถ้วนแล้ว ก็ยังฟังว่า นายชัชวาลซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 แทนโจทก์และจำเลย ที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 จึงเป็นสินสมรสของโจทก์และจำเลย ข้อใดจะมีน้ำหนักที่เป็นเหตุเป็นผลน่าเชื่อถือและไม่ขัดแย้งกัน ในประเด็นนี้ เมื่อพิจารณาประกอบคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 54899 นายชัชวาลเป็นเพียงตัวแทนของโจทก์และจำเลยให้เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทนเนื่องจากจำเลยถูกบริษัท ฮ. ติดตามทวงถามและฟ้องคดีเรียกเงินคืนจากจำเลยและนายวิทยา ต่อมาเมื่อบริษัทเจ้าหนี้ถอนฟ้องคดีอาญาและไม่ติดใจบังคับคดีแพ่งแล้ว จึงได้มีการโอนที่ดินกลับมาเป็นของโจทก์และจำเลยตามเดิม แต่โจทก์และโจทก์ร่วมทำนิติกรรมโอนกันไปมาหลายครั้ง ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงยังเป็นสินสมรสของโจทก์และจำเลยอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 ในส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 54899 เมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์หรือฎีกาโต้แย้งเป็นอื่น จึงรับฟังเป็นยุติว่า นายชัชวาลเป็นผู้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 54899 แทนโจทก์และจำเลย แล้วใส่ชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน ดังนั้น เมื่อนายชัชวาลไม่มีส่วนได้เสียเกี่ยวพันเป็นญาติร่วมสายโลหิตเดียวกันกับโจทก์ ไม่ได้มีนิติสัมพันธ์พิเศษอันใดกับโจทก์ร่วม ในขณะที่นายชัชวาลยังต้องสร้างรากฐานความมั่นคงครอบครัวในอนาคต จึงไม่มีเหตุผลพิเศษอันใดที่เป็นมูลเหตุจูงใจให้นายชัชวาลต้องซื้อแล้วยกที่ดิน 2 แปลง มูลค่าสูงถึง 1,147,800 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมโดยเสน่หาปราศจากค่าตอบแทน ที่โจทก์นำสืบว่า นายชัชวาลซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 เพื่อยกให้แก่โจทก์ร่วมโดยเสน่หา จึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายชัชวาลซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 แทนโจทก์และจำเลยเช่นเดียวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 54899 ที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 จึงเป็นสินสมรสของโจทก์และจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า นายชัชวาลยกที่ดินโฉนดเลขที่ 118185 ให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วม ที่ดินกึ่งหนึ่งของแปลงดังกล่าวจึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องและฟ้องแย้งระหว่างโจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ยช.(พ)18/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางสาว ส. โจทก์ร่วม - นาย ธ. จำเลย - นาย ส.
ชื่อองค์คณะ สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ จักรกฤษณ์ อนันต์สุชาติกุล สมชัย ฑีฆาอุตมากร
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น - นายวัฒนา พานนท์
- นายอุเทน ศิริสมรรถการ