สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1447/2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1447/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 194, 1299, 1599, 1600 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142, 183

ที่ดินของโจทก์ ที่ดินของ ก. และที่ดินของจำเลยไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ ช. มารดาของโจทก์ ก. จำเลย และ ฉ. จึงได้ตกลงทำทางพิพาทเพื่อให้ครอบครัวของ ช. จำเลย และ ก. ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนร่วมกัน โดย ช. เป็นผู้ออกเงินค่าตอบแทนการใช้ที่ดินให้แก่ ฉ. จำเลยได้ตกลงยินยอมให้ทำทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยด้วย และจำเลยได้ตกลงยินยอมให้ ช. มารดาของโจทก์ทำและใช้ทางพิพาทในส่วนที่ผ่านที่ดินของจำเลย สิทธิที่จะใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยตามข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แม้ยังไม่เป็นทรัพยสิทธิที่บริบูรณ์ แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญาและไม่ใช่สิทธิตามกฎหมายหรือสิทธิเฉพาะตัวของช. โดยแท้ เมื่อ ช. ถึงแก่กรรม สิทธินี้จึงเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ในฐานะทายาทผู้สืบสิทธิของ ช. โจทก์ย่อมอาศัยข้อตกลงดังกล่าวฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงได้

คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีสิทธิใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกในฐานะที่เป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่และจำเลยจะต้องจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินของจำเลยเพื่อเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือจำเลยมีสิทธิปิดทางพิพาทในเขตที่ดินของจำเลยหรือไม่ ฉะนั้น คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้จำเลยเปิดทางพิพาทในเขตที่ดินของจำเลยเพื่อเป็นทางเข้าออกของโจทก์ตามข้อตกลงระหว่างมารดาโจทก์กับจำเลยจึงไม่เกินไปกว่าคำฟ้องและคำขอบังคับของโจทก์

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2620เนื้อที่ 5 ไร่ 30 ตารางวา โดยได้รับมรดกมาจากนางชม้อย ซื่อดี มารดาโจทก์ซึ่งถึงแก่กรรมในปี 2538 เมื่อปี 2528 ทางราชการสร้างถนนสายแหลมทองพัฒนาสำหรับใช้เป็นทางรถยนต์นางชม้อย นางกัลยา สิริไพโรจน์ และจำเลยไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะดังกล่าว จึงทำนิติกรรมกับนางฉลวยเจริญสุขใส ซึ่งมีที่ดินติดถนนสาธารณะดังกล่าวเป็นทางรถยนต์เข้าออกกว้างประมาณ 6 เมตร จากถนนสาธารณะผ่านที่ดินของนางฉลวย จำเลยนางกัลยา จดที่ดินของโจทก์ โดยนางชม้อยต้องเสียค่าตอบแทนเป็นเงิน12,000 บาท ให้แก่นางฉลวย นิติกรรมดังกล่าวทำขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์2534 โจทก์ใช้ทางพิพาทซึ่งเป็นทางภารจำยอมโดยอาศัยสิทธิมารดาโจทก์เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2539 จำเลยปิดทางภารจำยอมในส่วนที่ผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 3681 ของจำเลยโดยปลูกต้นไม้ ทำให้โจทก์ไม่สามารถนำรถยนต์แล่นเข้าออกได้ตามปกติ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยเปิดทางภารจำยอมและไปจดทะเบียนเป็นทางภารจำยอมแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ประกอบอาชีพทำสวนกล้วยไม้ต้องใช้ทางพิพาทเพื่อนำดอกกล้วยไม้ไปขายที่ตลาด โจทก์เสียหายเนื่องจากไม่ได้ใช้ทางพิพาทวันละ 1,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยเปิดทางภารจำยอมและจดทะเบียนภารจำยอมที่ดินโฉนดเลขที่ 3681มีความกว้างประมาณ 6 เมตร ยาวประมาณ 50 เมตร หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยกับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเปิดทางภารจำยอมและจดทะเบียนภารจำยอมเสร็จสิ้น

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำนิติกรรมเรื่องทางภารจำยอมกับโจทก์ โจทก์ถือวิสาสะเดินผ่านที่ดินของจำเลย และเมื่อต้นปี 2539โจทก์ใช้รถยนต์แล่นผ่านทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมากขึ้น จำเลยจึงห้ามปรามไม่ให้โจทก์ใช้รถยนต์ผ่าน ทางพิพาทเป็นเพียงร่องสวนไม่ใช่ถนน นางชม้อย นางกัลยา และจำเลยมีทางออกสู่ทางสาธารณะด้านริมแม่น้ำท่าจีน โจทก์ใช้ทางพิพาทไม่ถึง 10 ปี ยังไม่ได้ภารจำยอมตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยเปิดทางพิพาทในเขตที่ดินของจำเลยกว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 50 เมตรเพื่อเป็นทางเข้าออกของโจทก์ตามข้อตกลงระหว่างมารดาโจทก์กับจำเลยคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังยุติได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2620 โดยรับมรดกมาจากนางชม้อย ซื่อดี มารดาของโจทก์ จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3681 ที่ดินของโจทก์อยู่ด้านใน ถัดไปทางด้านทิศใต้เป็นที่ดินของนางกัลยา ที่ดินของจำเลย และที่ดินของนางฉลวยตามลำดับ โดยที่ดินของนางฉลวยอยู่ติดกับถนนแหลมทองพัฒนาซึ่งเป็นทางสาธารณะทางพิพาทตั้งต้นจากที่ดินโจทก์ผ่านที่ดินของนางกัลยา ที่ดินของจำเลยและที่ดินของนางฉลวย แล้วออกสู่ถนนแหลมทองพัฒนา มีความกว้างตลอดแนวประมาณ 4 เมตร รถยนต์แล่นเข้าออกได้ เฉพาะช่วงที่ผ่านที่ดินของจำเลยมีความยาวประมาณ 50 เมตร

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยได้ตกลงยินยอมให้นางชม้อย ซื่อดี มารดาของโจทก์ทำทางพิพาทในที่ดินของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลยน่าเชื่อว่าเนื่องจากที่ดินของโจทก์ ที่ดินของนางกัลยา และที่ดินของจำเลยไม่มีทางออกสู่ถนนแหลมทองพัฒนาซึ่งเป็นถนนสาธารณะนางชม้อยมารดาของโจทก์ นางกัลยา จำเลยและนางฉลวยจึงได้ตกลงทำทางพิพาทเพื่อให้ครอบครัวของนางชม้อย จำเลย และนางกัลยาใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนแหลมทองพัฒนาร่วมกัน โดยนางชม้อยเป็นผู้ออกเงินค่าตอบแทนการใช้ที่ดินให้แก่นางฉลวยเป็นเงิน 12,000 บาท และการที่นางชม้อยได้จ่ายเงินให้แก่นางฉลวยเช่นนี้ ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยได้ตกลงยินยอมให้ทำทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยด้วย เพราะหากจำเลยไม่ยินยอมให้ทำทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยแล้วก็ไม่มีเหตุผลใดที่นางชม้อยจะยินยอมจ่ายค่าตอบแทนการผ่านที่ดินให้แก่นางฉลวยเนื่องจากข้อตกลงในหนังสือเอกสารหมาย จ.3 จะเป็นประโยชน์แก่จำเลยเท่านั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้ตกลงยินยอมให้นางชม้อยมารดาของโจทก์ทำและใช้ทางพิพาทในส่วนที่ผ่านที่ดินของจำเลยจริงสิทธิที่จะใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยตามข้อตกลงดังกล่าวแม้จะไม่ได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่เป็นทรัพยสิทธิที่บริบูรณ์แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา และไม่ใช่สิทธิตามกฎหมายหรือสิทธิเฉพาะตัวของนางชม้อยโดยแท้ เมื่อนางชม้อยถึงแก่กรรมสิทธินี้จึงเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ในฐานะทายาทผู้สืบสิทธิของนางชม้อยย่อมอาศัยข้อตกลงดังกล่าวฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่พิพากษาให้จำเลยเปิดทางพิพาทในเขตที่ดินของจำเลยเพื่อเป็นทางเข้าออกของโจทก์ตามข้อตกลงระหว่างมารดาโจทก์กับจำเลยนั้น เกินไปกว่าคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องโดยอ้างหลักซึ่งเป็นสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ว่า เนื่องจากที่ดินของโจทก์ จำเลยและนางกัลยา ไม่มีทางออกสู่ถนนแหลมทองพัฒนาซึ่งเป็นทางสาธารณะในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 นางชม้อยมารดาของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินของโจทก์ในขณะนั้น นางกัลยา จำเลย และนางฉลวยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่อยู่ติดกับถนนแหลมทองพัฒนาได้ตกลงทำทางเพื่อใช้ออกสู่ถนนแหลมทองพัฒนาร่วมกันโดยนางชม้อยเป็นผู้จ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่นางฉลวยเป็นเงิน 12,000 บาท ส่วนนางกัลยาและจำเลยได้สละที่ดินทำทางจึงไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่นางฉลวย โจทก์ใช้ทางดังกล่าวซึ่งเป็นทางภารจำยอมออกสู่ถนนแหลมทองพัฒนาตลอดมาโดยอาศัยสิทธิของนางชม้อยซึ่งเป็นมารดา ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กันยายน2539 จำเลยปิดทางภารจำยอมโดยปลูกต้นไม้ในทางภารจำยอมจนไม่สามารถนำรถยนต์ผ่านเข้าออกได้ ขอให้บังคับจำเลยเปิดทางภารจำยอมและจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 3681 เป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2620 ของโจทก์ เพื่อให้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำนิติกรรมเรื่องทางภารจำยอมกับโจทก์โจทก์ถือวิสาสะเดินผ่านที่ดินของจำเลยยังไม่ถึง 10 ปี ทางพิพาทเป็นเพียงร่องสวนไม่ใช่ถนน ตามสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับของโจทก์กับคำให้การของจำเลยดังกล่าว คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์มีสิทธิใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกในฐานะที่เป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่ และจำเลยจะต้องจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินของจำเลยเพื่อเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือจำเลยมีสิทธิปิดทางพิพาทในเขตที่ดินของจำเลยหรือไม่ นั่นเอง ฉะนั้นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่พิพากษาให้จำเลยเปิดทางพิพาทในเขตที่ดินของจำเลยเพื่อเป็นทางเข้าออกของโจทก์ตามข้อตกลงระหว่างมารดาโจทก์กับจำเลยจึงไม่เกินไปกว่าคำฟ้องและคำขอบังคับของโจทก์"

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา เนติบัณฑิตยสภา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย อนุพร ซื่อดี จำเลย - นาย อรุณ เงินชูกุล

ชื่อองค์คณะ ปัญญา สุทธิบดี พูนศักดิ์ จงกลนี วิชา มหาคุณ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE