คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2567
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 326, 328 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 36, 46, 192 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม. 17, 25 (5)
โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงนครสวรรค์เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.2097/2563 ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 326, 328 ซึ่ง ป.อ. มาตรา 328 มีระวางโทษเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครสวรรค์ ภายหลังโจทก์ขอถอนฟ้องเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา ศาลแขวงนครสวรรค์มีคำสั่งอนุญาต และหลังจากนั้น 6 วัน โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ การถอนฟ้องของโจทก์จึงมิใช่การถอนฟ้องเด็ดขาด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับ
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครสวรรค์ที่จะพิจารณาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) แม้ศาลแขวงนครสวรรค์อาจปรับบทลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 326 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาคดี อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครสวรรค์ และเป็นความผิดที่รวมอยู่ในความผิดตามฟ้อง แต่ข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอที่มิได้กล่าวในฟ้อง เป็นคนละกรณีกับอำนาจพิจารณาพิพากษาศาลแขวงนครสวรรค์ และการจะปรับบทลงโทษจำเลยในการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 นั้น ศาลจะต้องมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเสียก่อน เมื่อศาลแขวงนครสวรรค์ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ก็ไม่อาจปรับบทลงโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวได้
แม้คดีส่วนแพ่งมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท แต่คดีส่วนแพ่งเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ทั้งเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา เมื่อโจทก์อุทธรณ์คดีในส่วนอาญา ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งได้โดยโจทก์ไม่จำต้องขออนุญาตอุทธรณ์คดีส่วนแพ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 326, 328 ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 800,000 บาท แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ และขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับคดีส่วนอาญา แต่ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ฟ้องจำเลยในมูลเหตุเดียวกับคดีนี้ต่อศาลแขวงนครสวรรค์และยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ศาลแขวงนครสวรรค์มีคำสั่งในวันเดียวกันอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ฟ้องของโจทก์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแขวงนครสวรรค์ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 แต่ความผิดดังกล่าวมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครสวรรค์รวมอยู่ด้วย ศาลแขวงนครสวรรค์จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาการถอนฟ้องต่อศาลแขวงนครสวรรค์แล้วนำคดีมาฟ้องใหม่ต่อศาลชั้นต้นในความผิดเดียวกัน การกระทำครั้งเดียวของจำเลยเป็นผลให้จำเลยต้องถูกดำเนินคดีหลายครั้งไม่รู้จักจบสิ้น จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว นั้น เห็นว่า ตามคำร้องขอถอนฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2097/2563 ของศาลแขวงนครสวรรค์ โจทก์ระบุเหตุผลว่า "…เนื่องจากโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ซึ่งเป็นคดีที่เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครสวรรค์ โจทก์จึงมีความประสงค์ขอถอนฟ้องคดีเพื่อนำคดีไปยื่นฟ้องใหม่ต่อศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมต่อไป คือ ศาลจังหวัดนครสวรรค์…" ดังนี้ เมื่อความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท กรณีจึงเกินอำนาจของศาลแขวงนครสวรรค์ที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) แม้ในคดีดังกล่าวศาลแขวงนครสวรรค์อาจปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครสวรรค์และเป็นความผิดที่รวมอยู่ในความผิดตามฟ้องดังที่จำเลยฎีกา แต่ข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้างเป็นเรื่องการพิพากษาหรือคำสั่งเกินคำขอที่มิได้กล่าวในฟ้องซึ่งเป็นคนละกรณีกับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครสวรรค์ และการจะปรับบทลงโทษจำเลยในการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 นั้น ศาลจะต้องมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเสียก่อน เมื่อศาลแขวงนครสวรรค์ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาก็ไม่อาจปรับบทลงโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ฎีกาในส่วนนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น การที่โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้หลังจากถอนฟ้องในคดีเดิมเพียง 6 วัน แสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์ที่จะถอนฟ้องเพื่อฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ต่อศาลที่มีอำนาจพิพากษาคดี มิใช่การถอนฟ้องคดีเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 และไม่เป็นเหตุให้จำเลยต้องถูกดำเนินคดีหลายครั้งดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมีข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ สำหรับคดีส่วนแพ่งซึ่งจำเลยฎีกาว่ามีทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต้องไม่รับวินิจฉัย นั้น คดีส่วนแพ่งของโจทก์เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ทั้งเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา เมื่อโจทก์อุทธรณ์คดีในส่วนอาญา ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งได้โดยโจทก์ไม่จำต้องขออนุญาตอุทธรณ์คดีส่วนแพ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ทั้งคดีส่วนอาญาและส่วนแพ่ง จึงชอบแล้ว และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาที่เหลือของจำเลยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.4972/2566
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ส. จำเลย - นาย ว.
ชื่อองค์คณะ ไสลเกษ วัฒนพันธุ์. กมล คำเพ็ญ พรหมมาศ ภู่แส
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดนครสวรรค์ - นายธนัท ดุษฎีพร ศาลอุทธรณ์ภาค 6 - นายสมชาย กิจนพศรี